คาดที่ประชุมกนง.พรุ่งนี้ ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ธนาคารได้ประโยชน์แต่เป็นลบกับตลาดหุ้น

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

คาดที่ประชุมกนง.พรุ่งนี้ ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ธนาคารได้ประโยชน์แต่เป็นลบกับตลาดหุ้น

Date Time: 28 มี.ค. 2566 11:33 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Latest


นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า จับตาการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. นัดที่ 2 ของปี ในวันพรุ่งนี้ โดยตลาดคาดการณ์ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาที่ 1.75% ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยช่วงที่เหลือของปี ในมุมมองฝ่ายวิจัยอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% ถือเป็นระดับเท่ากับต้นปี 2562 สอดรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่กำลังทยอยกลับสู่ฐานปี 2562 จึงมองว่าอัตราดังกล่าวเป็น Terminal rate ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในปีนี้ เพราะหากพิจารณาการเติบโตของ จีดีพีไทยปี 2562 อยู่ที่ระดับ 2.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


โดยช่วงดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 40 ล้านคน ทำให้ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงกว่าระดับปี 2562 อาจเปิด Downside ต่อการขยายตัวของ GDP ไทย หรือกรณีที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยขึ้นเกินระดับดังกล่าวมองว่าไม่น่ายืนได้ในระยะยาว

ทั้งนี้หาก กนง.ขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ 0.25% กดดันเป้าหมาย SET ราว 70 จุดโดยพันธบัตรรัฐบาลของไทย ณ ปัจจุบันเมื่อเทียบกับปลายเดือน ก.พ. 66 จะเห็นได้ว่า Yield Curve Shift ลงทุกช่วงอายุ โดยช่วงอายุ 1 ปี ปรับตัวลง 1.9 bps ส่วนอายุคงเหลือยาวกว่า 1 ปี (3 ปี - 30 ปี) ปรับตัวลงมากถึง 19.5-26.0 bps โดยอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรช่วงอายุ 1-3 ปี อยู่ที่ ประมาณ 1.72-1.79% สอดรับกับนักลงทุนที่คาดกว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้ 25 bps มาอยู่ที่ 1.75%(29 มี.ค. 66) เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่กนง.ตั้งไว้ที่ 1-3% ท่ามกลางความเสี่ยงมากมายจากปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิ Geopolitical Risk และความกังวลโดมิโน่ธนาคารล้มทั้งในสหรัฐฯ-ยุโรป

สาเหตุหลักคงมาจาก นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เพิ่มการถือครองตราสารหนี้ไทย โดย ก.พ. 66 มียอดซื้อสุทธิกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท (ขณะที่ ม.ค. 66 ขายสุทธิสูงถึง 6.7 หมื่นล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อตราสารหนี้ระยะยาวกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนราว 83%) ด้วยเหตุนี้จึงเห็นค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าแรงราว 1% จากช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ระดับ 34.3 บาท/เหรียญฯ

หากพิจารณาเชิงพื้นฐาน ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตามกลไกจะเป็นตัวกดดันตลาดหุ้นฯ ให้ซื้อขายบน P/E ที่ลดน้อยลง ซึ่งทำให้ ดัชนีเป้าหมาย ณ ปลายปีลดลงเช่นกัน หากกนง.หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จาก 1.50% เป็น 1.75% จะกดดันเป้าหมายดัชนีเพิ่มอีกราว 67-70 จุด


กลุ่มธนาคารได้รับประโยชน์


ทั้งนี้หากกนง.ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อ กลุ่มธนาคาร โดยการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะบวกทันทีต่ออัตราดอกเบี้ย Interbank (สัดส่วน 4% ของรายได้ดอกเบี้ยรับปี 2565) ที่อิงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และคาดหมายเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลุ่ม M-Rate (MLR, MOR และ MRR) ของธนาคาร ในช่วงถัดไป
รวมถึงฝั่งต้นทุนเงินฝากประจำ และอาจรวมถึงเงินฝากออมทรัพย์ของ ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ ที่มีสัดส่วน CASA สูงราว 80% ของเงินฝาก

อย่าง ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK, ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB, ธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB ปัจจุบันอยู่ที่ 0.25% ต่ำกว่าปี 2562 ที่ 0.50% ส่วนธนาคารกรุงเทพ BBL มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ช่วงที่ผ่านมาจนอยู่ในระดับใกล้เคียงปี 2562 ที่ 0.50% ภาพรวมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้นช่วงปลายไตรมาสที่ 1


ดังนั้นการรับรู้ผลบวกเต็มไตรมาสจะเกิดขึ้นช่วงไตรมาสที่ 2 คาดบวกต่อรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ (NII) กลุ่มฯ ในงวดไตรมาสที่ 2 ขณะที่ผลต่อประมาณการกำไรสุทธิกลุ่ม 8 ธนาคาร ทั้งปี 2566 ที่ 2.1 แสนล้านบาท สูงขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อิงกับเป้าหมาย NIM ปี 2566 ของแต่ละธนาคาร ซึ่งอยู่บนสมมติฐานอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ 1.75% - 2.00% ทำให้ปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยสะท้อนในประมาณการของฝ่ายวิจัยและตลาดแล้ว

อย่างไรก็ตาม บล.ยังคงน้ำหนักลงทุน เท่าตลาด มองว่ากลุ่มฯ ซื้อขายบนมูลค่าที่ไม่แพงมีมูลค่าหุ้นทางบัญชีปี 2566 ที่ 0.66 เท่า และ พี/อี ที่ 8 เท่า โดยการลงทุนสำหรับกลุ่มฯ ยังเน้นที่คุณภาพสินทรัพย์ ดังนี้ ธนาคารทิสโก้ TISCO (FV@B108) จาก มี Coverage Ratio ที่ 259 และ BIS Ratio ที่ 23% สูงสุดใน กลุ่มฯ จากเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 11% ส่วน BBL จากการตั้งสำรองเด่นสุดในกลุ่มฯ บน Coverage Ratio ที่ 261% ด้าน KTB มี ROE มีพัฒนาการดีขึ้น และการขยายตัวด้าน Digital ผ่าน Ecosystem ของธนาคารฯ ทั้ง เป๋าตังและถุงเงิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมกนง. ที่จะถึงนี้ คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ 1.75% อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้อาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปของไทยลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนที่ 3.8% YoY ซึ่งการที่เงินเฟ้อยังอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของ กนง. นั้นเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง. ยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่จะถึงนี้ อนึ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต หากมีสถานการณ์ที่ส่งผลให้ กนง. จำเป็นต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า ขณะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางผลกระทบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วของธนาคารกลางหลักอย่าง Fed และ ECB ประกอบกับปัญหาธนาคารชาติตะวันตกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น กนง. คงจะต้องให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้

นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Fed เริ่มเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว ส่งผลให้แรงกดดันจากแนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเริ่มลดลง ทั้งนี้ จากการประชุม FOMC ล่าสุดในวันที่ 21-22 มี.ค. ที่ผ่านมา Fed มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ตามคาด ขณะที่ส่งสัญญาณว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สิ้นสุดลง

ส่งผลให้แรงกดดันจากแนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวของ Fed นั้นมีลดลง อย่างไรก็ดี ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ยังมีความไม่แน่นอน โดยคงขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงเสถียรภาพด้านการเงินในระยะข้างหน้า ท่ามกลางปัญหาภาคธนาคารในประเทศตะวันตก โดยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย แล้วส่งผลให้ Fed อาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า คงต้องติดตามว่า กนง. จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายตามหรือไม่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์