จากเครดิตสวิสถึงคดีปั่นหุ้น MORE

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จากเครดิตสวิสถึงคดีปั่นหุ้น MORE

Date Time: 23 มี.ค. 2566 05:33 น.

Summary

  • เมื่อวานนี้ผมเล่าถึงปฏิบัติการแก้วิกฤติแบงก์ล้มของ รัฐบาลสวิส และ ธนาคารกลางสวิส โดยใช้เวลาเพียง 2 วัน จากบ่ายวันศุกร์จนถึงบ่ายวันอาทิตย์ก็เสร็จสิ้น

Latest

เก็บหุ้นปันผล

เมื่อวานนี้ผมเล่าถึงปฏิบัติการแก้วิกฤติแบงก์ล้มของ รัฐบาลสวิส และ ธนาคารกลางสวิส โดยใช้เวลาเพียง 2 วัน จากบ่ายวันศุกร์จนถึงบ่ายวันอาทิตย์ก็เสร็จสิ้น โดยรัฐบาลสวิสและแบงก์ชาติสวิสบังคับให้ ธนาคารยูบีเอส ซื้อกิจการของ ธนาคารเครดิตสวิส ทั้งหมดในราคาเพียง 3,000 ล้านฟรังก์สวิส ราว 3,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ หน่วยงานกำกับดูแลตลาดเงินของสวิส ยังได้ประกาศ เบี้ยวหนี้หุ้นกู้ของธนาคารเครดิตสวิส Additional Tier 1 (AT1) มูลค่า 16,000 ล้านฟรังก์ ราว 17,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างหน้าตาเฉย เรียกเสียงด่าลั่นจากตลาดทุนยุโรปและสหรัฐฯ กองทุนชื่อดังของสหรัฐฯเสียหายกันหลายพันล้านดอลลาร์ เช่น PIMCO BlackRock Invesco

การกระทำของ รัฐบาลสวิส และ แบงก์ชาติสวิส ครั้งนี้ ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์สวิสลงโดยสิ้นเชิง แม้แต่ ธนาคารกลางยุโรป ก็ไม่ยอมรับ จากนี้ไปใครจะไปฝากเงินหรือลงทุนในแบงก์สวิส ซื้อตราสารหนี้สวิสคงต้องคิดหนัก ความเสี่ยงมันพุ่งปรี๊ด

เขียนถึงความรวดเร็วในการแก้ปัญหาวิกฤติการเงินของ แบงก์ชาติสวิส แล้วก็อยากจะเล่าย้อนไปถึง การแก้ปัญหาคดีปั่นหุ้น ของ ตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยใช้เวลาไม่ถึง 100 วัน ถือเป็นการแก้ปัญหาคดีปั่นหุ้นที่เร็วที่สุดในตลาดทุนไทย ที่ผ่านมาการดำเนินคดีปั่นหุ้นหรือคดีฉ้อโกงในตลาดหุ้น ใช้เวลาตรวจสอบและดำเนินคดีกันนานมากเป็นสิบปี กว่าคดีจะจบหรือมีการลงโทษผู้ทำผิด เงินทุนที่เสียหายก็ถูกถ่ายเทไปจนหมดสิ้น แม้จะชนะคดีก็ไม่มีเงินชดเชยให้กับผู้เสียหาย เรื่องนี้ตลาดทุนไทยได้เรียกร้องไปยังกระทรวงการคลังให้แก้ไขกฎหมายให้การดำเนินคดีเร็วขึ้น เช่น 3 เดือน 6 เดือนต้องจบ เหมือนคดีปั่นหุ้นหรือฉ้อโกงในสหรัฐฯและยุโรป จะได้อายัดเงินไว้ชดใช้คืนผู้เสียหาย แต่ก็ไม่ได้รับการสนองตอบจากรัฐบาล 8 ปีที่ผ่านมา เคสนี้จึงเป็นเคสพิเศษที่ต้องพูดถึง

เคสที่ผมจะย้อนเล่าให้ฟังก็คือ คดีหุ้น MORE หรือ มอร์ รีเทิร์น ที่มีการซื้อขายผิดปกติระหว่าง 10-11 พฤศจิกายน 2565 รุ่งขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกับ กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่เสียหาย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เร่งตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด และประสานไปยัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ว่า การซื้อขายหุ้นมอร์ที่ผิดปกติ น่าเชื่อว่าจะมีพฤติกรรมฉ้อโกง จึงขอให้ ปปง.เข้าไปตรวจสอบ ทำให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถระงับการทำธุรกรรมของลูกค้าที่ต้องสงสัยไว้ก่อน 14 พ.ย. ตลาดหลักทรัพย์ฯได้สั่งห้ามการซื้อขายหุ้น MORE และประสานไปยัง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ให้สอบเพิ่มเติม

จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ธุรกรรมการซื้อขายหุ้นมอร์ที่ผิดปกติ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนในวงกว้างได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงสั่งห้ามการซื้อขายหุ้น MORE ต่อในวันที่ 15–18 พ.ย. ขณะที่ กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับความเสียหาย ได้เข้าร้องทุกข์กับ ปอศ. ขอให้ตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องในการซื้อขายหุ้นมอร์ที่ผิดปกติ 21–22 พ.ย. ปปง. มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ กับพวกรวม 36 รายการ มูลค่า 5,316 ล้านบาท เป็นเวลา 90 วัน ปลายเดือนพฤศจิกายน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งรายงานการตรวจสอบการกระทำความผิดฐานสร้างราคาหลักทรัพย์มอร์ไปให้ ก.ล.ต. เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิด

การดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว 7 ก.พ.66 “ปปง.ส่งเรื่องให้อัยการร้องต่อศาลแพ่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์นายอภิมุข และพวก 10 ก.พ. ก.ล.ต.กล่าวโทษนายอภิมุข และพวกรวม 18 ราย เป็นตัวการร่วมสร้างราคาหลักทรัพย์ MORE มีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ 16 ก.พ. อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 ได้ยื่นคำร้องต่อ ศาลแพ่ง ขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน วันเดียวกันศาลแพ่งมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดรวม 4,470 ล้านบาทไว้ชั่วคราว เมื่อคดีสิ้นสุดจะได้คืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหาย เบ็ดเสร็จใช้เวลาไม่ถึง 100 วัน

ถือเป็นการดำเนินคดีปั่นหุ้นที่เร็วที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว.

“ลม เปลี่ยนทิศ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ