หุ้นไทยดิ่ง 26.58 จุด เหตุธนาคารสหรัฐฯ 2 แห่งล้มละลาย จนทางการต้องเข้าควบคุม และคุ้มครองเงินฝาก ด้าน “นายกฯ” สั่งเกาะติดปัญหา ประเมินผลกระทบ แต่คลัง–ธปท.–แบงก์พาณิชย์ ประสานเสียงไม่ลามเป็นวิกฤติการเงินโลก ไม่กระทบสถาบันการเงินไทย เพราะสถานะแข็งแกร่ง และไม่มีธุรกิจเชื่อมโยงกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นไทยผันผวนหนัก โดยปรับตัวลงแรงก่อนปิดตลาดจากแรงขายหุ้นทั้งกระดานของนักลงทุน เพราะความกังวลวิกฤตการณ์ปิดธนาคารของสหรัฐฯ แม้ผู้บริหารและกูรูในแวดวงตลาดทุนจะมองว่าไม่น่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สถานะธนาคารของไทย และตลาดหุ้นไทย โดยดัชนีหุ้นวันที่ 13 มี.ค.66 ปิดที่ 1,573.07 จุด ลดลง 26.58 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 79,662.39 ล้านบาท
นักลงทุนตื่นหวั่นเกิดวิกฤติการเงิน
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารซิลลิคอนวัลเลย์ (SVB Bank) และซิกเนเจอร์ แบงก์ ปิดกิจการในสหรัฐฯ จนเกิดความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลกว่า ไม่กระทบไทยทางตรง เพราะธนาคารพาณิชย์ไทยแข็งแรง มีทุนสำรองเฉลี่ยระดับสูง รวมถึงสัดส่วนการลงทุนใน Venture Capital และคริปโตเคอร์เรนซีในไทยยังต่ำเมื่อเทียบระบบเศรษฐกิจทั้งหมด โดยอาจกระทบทางอ้อมเพียงสภาพคล่อง และการที่ต่างชาติขายหุ้นไทย เพราะสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ท่ามกลางสภาพคล่องลดลง เงินก็ไหลไปหาผลตอบแทนและแหล่งลงทุนที่รักษาเงินต้นได้ปลอดภัย เมื่อสถานการณ์คลี่คลายอาจเห็นเงินทุนกลับเข้ามาได้
ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อีสท์สปริง (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ว่า นักลงทุนในตลาดตื่นตระหนกว่าเหตุการณ์นี้ อาจลุกลามเหมือนวิกฤติซัพไพร์ม (หนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ) จนทำให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ คือ เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มในปี 51 มองว่า กรณี SVB ปิด เป็นการบริหารสภาพคล่องที่ผิดพลาดเฉพาะตัวของบริษัท ไม่นำไปสู่โดมิโน เอฟเฟกต์ หรือธนาคารพาณิชย์หลายแห่งล้มลงตามๆกัน เหมือนปี 51
ประกอบกับรัฐบาลสหรัฐฯออกมาตรการช่วยเหลือทันที ถือว่าปิดประตูโดมิโน เอฟเฟกต์ ทันที อีกทั้ง SVB ระมัดระวังการลงทุนมาก โดยนำเงินฝากส่วนใหญ่ไปลงทุนตราสารหนี้ พันธบัตร และตราสารที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน ต่างจากเลห์แมน บราเธอร์ส ที่นำเงินไปปล่อยกู้ให้กับสินเชื่อบ้านคุณภาพต่ำเกินตัว นำมาสู่การล้มละลาย ทั้งนี้ ปัจจัยนี้อาจสร้างความกังวลให้กับตลาดหุ้นระยะสั้น แต่เป็นโอกาสเข้าลงทุนระยะยาว รวมถึงรอดูท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ว่าจะดำเนินนโยบายอย่างไรในการประชุมวันที่ 22 มี.ค.นี้
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายก รัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปัญหานี้จะไม่ลามเป็นวิกฤติการเงินทั่วโลกเหมือนที่เกิดกับเลห์แมน บราเธอร์ส ในปี 51 ที่เกิดหนี้เสียในการปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ จนเกิดวิกฤติลามไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เชื่อว่าผลกระทบจะไม่มาถึงไทย “สถานการณ์ SVB เป็นปัญหาเฉพาะของธนาคารที่ปล่อยกู้ให้ลูกค้าสตาร์ตอัพ เชื่อว่าผลกระทบอยู่ในวงจำกัด เพราะ SVB มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ และปัญหาเกิดจากกลุ่มเล็กๆในกลุ่มสตาร์ตอัพ รัฐบาลสหรัฐฯรีบแก้ปัญหา เพราะกลัวจะกระทบกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี แต่ก็ต้องดูต่ออีกว่า จะเกี่ยวกับธุรกิจอื่นหรือไม่ ถ้าแก้ไขได้ก็ไม่น่าวิตก”
นายกฯสั่งประเมินผลกระทบไทย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะติดตามใกล้ชิด ขณะนี้ ต้องรอฟังข้อมูลจาก ธปท. เพราะเป็นผู้ติดตามอยู่แล้ว เบื้องต้นเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อไทย เพราะกองทุนต่างๆ ในไทย อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ไม่ได้ลงทุนในพอร์ตของ 2 แบงก์ “ขณะนี้มีเพียงผลกระทบต่อตลาดหุ้น เพราะกระทบความรู้สึก ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆคงต้องรอหารือกับธปท.ว่าจะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ สำหรับการที่รัฐบาลสหรัฐฯใช้มาตรการคุ้มครองเงินฝากเพื่อดูแลประชาชนนั้น ถูกต้อง หากเกิดวิกฤติในไทย สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็พร้อมรับมือ เหมือนวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่เมื่อปี 40”
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจติดตามสถานการณ์ พร้อมประเมินผลต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานให้นายกฯทราบว่า ไม่มีธนาคารหรือสถาบันการเงินของไทย ลงทุน หรือมีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับ 2 ธนาคาร และประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินในสหรัฐฯ จะอยู่ในวงจำกัด เพราะทั้ง 2 แห่งทำธุรกิจที่มีความเฉพาะ และทางการสหรัฐฯได้ดูแลปัญหาอย่างรวดเร็วแล้ว “ฐานะของสถาบันการเงินไทยทั้งระบบแข็งแกร่ง ธปท.กำกับด้วยมาตรฐานที่เข้มงวดมาตั้งแต่หลังวิกฤติปี 40 ทำให้ในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา แม้มีวิกฤติการเงินโลกหลายครั้ง รวมถึงวิกฤติโควิด-19 แต่สถาบันการเงินของไทยยังสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้”
แบงก์ไทยแกร่งไม่โดนฟาดหาง
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า การปิดกิจการของ 2 ธนาคารครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับฝากเงินและการปล่อยกู้ที่กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้ากลุ่มกองทุน venture capital บริษัทฟินเทค และบริษัทสตาร์ตอัพ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่ปรับเพิ่มขึ้นช่วงที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าของ SVB ระดมทุนได้ยาก หรือมีต้นทุนสูงขึ้น จึงต้องถอนเงินฝากที่ SVB เพื่อใช้ในธุรกิจ และบางกลุ่มถอนเงินฝากเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ SVB ต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำลงมาก เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เกิดผลขาดทุน กระทบฐานะของธนาคาร และความเชื่อมั่น จนต้องถูกควบคุมกิจการ
สำหรับไทยผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยในฟินเทค และสตาร์ตอัพทั่วโลก มีน้อยกว่า 1% ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคาร ที่สำคัญ ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่ง ธปท.ขอย้ำว่า กำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และ venture capital ที่เข้มงวด เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่อเงินฝากของประชาชน
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารของไทยมีสถานะแข็งแกร่งมาก เนื่องจากไม่ได้โฟกัสการทำธุรกิจด้านใดด้านหนึ่ง และไม่ได้มีเงินลงทุนระยะยาวในส่วนสูงมาก และมีการทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress test) เรื่องสภาพคล่อง และปัจจัยลบอื่นๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหาร สำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหา SVB ไม่น่าลามจนเกิดวิกฤติการเงินเหมือนในปี 51 เพราะการเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจจริงอื่นๆมีน้อย และขนาดของธนาคารไม่ได้ใหญ่จนมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เชื่อว่าเฟดมีความยืดหยุ่นพอที่จะดูแลปัญหานี้ “เฟดอาจลดความร้อนแรงของการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มี.ค.นี้ ไม่ขึ้น 0.50% แต่ขึ้นเพียง 0.25% และระดับดอกเบี้ยสูงสุดอาจอยู่ที่ 5.75% ไม่ใช่ 6.00% และใกล้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ค.นี้”.