นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ในปี 2566 นั้นอาจมีรายได้ที่ลดลงจากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหุ้นไทยที่จะปรับตัวลดลงจากความกังวลความถดถอยของภาวะเศรษฐกิจโลกและการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้
“ภาพรวมของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ในปีนี้รายได้น่าจะลดลง จากมูลค่าการซื้อขายที่อาจไม่คึกคักเท่าปีที่แล้ว อาจทำให้โบรกเกอร์ที่พึ่งพิงค่าคอมมิชชั่นอาจได้รับผลกระทบ”
ส่วนการแข่งขันที่เริ่มมีการแข่งขันฟรีค่าคอมมิชชั่น ยังต้องติดตาม เพราะยังไม่เห็นในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเรามองว่าในการแข่งขันค่าคอมมิชชั่นไม่ใช่เรื่องใหม่ อุตสาหกรรมเผชิญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด รวมถึงการดิสรัปชั่นก็มีเช่นกัน ดังนั้นเราต้องปรับตัวและรับมือสถานการณ์
ทั้งนี้ในฝั่งของบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงนั้นมองว่ารายได้จะไม่ลดลง เพราะบริษัทมีการกระจายตัวโดยมีรายได้จากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ 60% มีรายได้จาก ธุรกิจวาณิชธนกิจ 10% รวมถึงมีรายได้จากผลิตภัณฑ์อื่นทั้ง DR หรือผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ ด้วย ซึ่งจะช่วยเข้ามาทดแทนรายได้ของค่าคอมมิชชั่นที่ลดลงได้ ซึ่งที่ผ่านมาแม้อุตสาหกรรมจะมีการแข่งขันที่รุนแรง แต่บริษัทมีส่วนแบ่งจากรายได้ค่าคอมมิชชั่นที่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดในปี 2565 อยู่ที่ 9.63% หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
สำหรับการให้บริการของ บล.บัวหลวง นั้นจะไม่เน้นการหั่นค่าคอมมิชชั่น แต่จะให้บริการที่ครอบคลุมความต้องการลูกค้ามากกว่า โดยเน้นให้ลูกค้าใช้บริการของบัวหลวงอย่างยั่งยืน แม้จะมีการเข้ามาของเทคโนโลยี แต่เรายังมองว่าจำนวนสาขาที่มีอยู่นั้นยังสำคัญ โดยจะใช้สาขาที่มีอยู่เป็นจุดในการติดต่อกับลูกค้า รวมถึงเพิ่มความรู้ความสามารถให้กับเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมถึงการขยายฐานกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าหมายจะมีจำนวนการเปิดบัญชีใหม่เพิ่มขึ้นในปีนี้ 30,000-40,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีจำนวนลูกค้าบุคคล 640,000 ราย
ชี้ SCGC ยังรอจังหวะ
สำหรับด้านวาณิชย์ธนกิจนั้นในปีนี้คาดว่าจะมีดีลไอพีโอที่อยู่ในมือ 3-4 ดีล โดยจะมีทั้งในอุตสาหกรรม อาหาร ยานยนต์ และสุขภาพ ซึ่งจะมีคละกันไปทั้งดีลใหญ่และดีลเล็ก ส่วนดีลการเข้าระดมทุนของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ยังไม่ได้ถูกนับรวมในรายการดังกล่าว โดย SCGC ยังต้องรอจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าระดมทุน
เตรียมตั้ง Security Bureau
สำหรับความคืบหน้าในการยกระดับการดูแลบริษัทหลักทรัพย์หลังจากเกิดเหตุการณ์ในหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) นั้นที่ผ่านมา ทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือกันอย่างต่อเนื่อง โดยในเบื้องต้นนั้นจะมีการตั้ง Security Bureau ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลสมาคม เพื่อช่วยในการตรวจสอบเครดิตของลูกค้าและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางกำกับดูแลเพิ่มเติม.