วิกฤติ เคอรี่ ขาดทุนหนักฉุดหุ้นจาก 63 เหลือ 15 บาท บริษัทเปิดแผนลดต้นทุนหวังพลิกมีกำไร

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

วิกฤติ เคอรี่ ขาดทุนหนักฉุดหุ้นจาก 63 เหลือ 15 บาท บริษัทเปิดแผนลดต้นทุนหวังพลิกมีกำไร

Date Time: 15 ก.พ. 2566 13:05 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Latest


ยังเจอความท้าทายอย่างหนักสำหรับ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) KEX บริษัทด้านการขนส่งชื่อดัง ที่เผชิญกับการแข่งขันของธุรกิจขนส่งอย่างรุนแรงจากคู่แข่งสำคัญ ทั้ง แฟลช เอ็กซ์เพรส J&T Express หรือแม้กระทั่งไปรษณีย์ไทย แข่งขันกันอย่างดุเดือด ซึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญของธุรกิจนี้ คือ การที่ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เลือกลงมาเล่นสงครามราคาแข่งกับผู้เล่นรายอื่น ส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ


หากย้อนกลับไปในช่วงที่ เคอรี่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ช่วงปลายปี 2563 เคอรี่ คือ หุ้นที่นักลงทุนหลายคนอยากซื้อ ด้วยความโดดเด่นของธุรกิจที่เติบโตแรง ส่งผลให้ราคาหุ้นทำจุดสูงสุดในวันเข้าเทรดที่รับ 63 บาทต่อหุ้น แต่ปัจจุบัน KEX ราคาลดลงมาเหลือที่ 15 บาท หรือปรับตัวลดลงกว่า 74%

ต้นทุนไม่ลดตามนัดกดบริษัทขาดทุน

โดย เคอรี่ เปิดเผยว่า ปี 2565 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยเจอท้าทายจากปัจจัยสําคัญต่างๆ ทำให้ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนค่าน้ํามันและต้นทุนทางการเงิน ส่งผลให้กําลังซื้อของประชาชนทั่วโลกยังลดลงอย่างมีนัยสําคัญ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจแพลตฟอร์ม E-commerce ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วนในตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เบาบางลงในช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา

โดยความต้องการและกําลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากภาวะทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค เป็น offline มากขึ้นจากการเปิดประเทศหลัง สถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 2 ปี ส่งผลให้อัตราการเติบโตของอุปสงค์ในธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วนลดลง นําไปสู่การแข่งขันทางด้าน ราคาที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องระหว่างผู้เล่นในธุรกิจเพื่อเพิ่มปริมาณพัสดุที่จัดส่งและส่วนแบ่งทางการตลาดจากการดําเนินกลยุทธ์ธุรกิจหลักของบริษัท KEX สามารถเพิ่มจํานวนพัสดุที่จัดส่งถึง 18 % เมื่อเทียบกับปี 2654

อย่างไรก็ดี การเติบโตดังกล่าว นํามาซึ่งการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและการเติบโตของธุรกิจ E-commerce ที่ชะลอตัวลง บริษัทฯ ไม่สามารถลดต้นทุนการจัดส่งต่อหน่วยได้รวดเร็วตามที่คาดการณ์ไว้ ราคาน้ํามันและพัสดุภัณฑ์ต่างๆ ส่งผลให้บริษัท มีผลขาดทุนสุทธิส่วนของผู้เป็นเจ้าของของบริษัทในปี 2565 จํานวน 2,829.8 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่มีกําไรสุทธิจํานวน 46.9 ล้านบาท


เคอรี่ เปิดแผนปี 66 เน้นสร้างกำไร


ในปี 2566 บริษัทได้วางแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพการดําเนินงาน การลงทุนในการปรับปรุงกระบวนการและอุปกรณ์ต่างๆ แรงงานคน และมุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพการให้บริการที่ดีเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทย
แผนการดําเนินงานในปี 2566 ของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลักอันได้แก่ SF Holding และ Kerry Logistics Network (KLN) ในด้านการแลกเปลี่ยนประสบกาณ์ ความเชี่ยวชาญ และ know-hows ในการประกอบธุรกิจและการจัดการ ตลอดจนมีความพร้อมและมุ่งมั่นในการให้สนับสนุนทางการเงิน เพื่อการเติบโตของบริษัทในประเทศอย่างมั่นคงในระยะยาว

บริษัทให้ความสําคัญอย่างสูงกับการปรับปรุงความสามารถในการทํากําไรในปี 2566 ร่วมกับมุ่งเน้นคุณภาพการให้บริการ โดยจะมีการปรับขนาดของเครือข่ายให้มีความเหมาะสม และปรับปรุงกระบวนการด้วยระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และปรับปรุง สัดส่วนรายได้ตามกลุ่มลูกค้า (Revenue mix) ที่เหมาะสมของบริษัท

บล.ยูโอบีเคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่า ผลขาดทุนอย่างหนักในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ถูกกดดันจากรายได้ต่อพัสดุที่ออกมาในระดับต่ำ และรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่โครงการ LEAN ซึ่งจะเริ่มในต้นปี 2023 ขณะที่มองว่าอนาคตจะค่อนข้างดีขึ้นจากการขาดทุนรายไตรมาสของ KEX จะค่อยๆ เห็นการปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 1 อย่างไรก็ตาม รายได้จะยังคงเผชิญกับความกังวลจากการเติบโตของอุตสาหกรรมทิ่เติบโตแบบติดลบ จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคเราปรับลดคำแนะนำลงเป็น ถือ ด้วยราคาเป้าหมาย 15.70 บาท (ราคาเป้าหมายก่อนหน้าที่ 22.20 บาท).


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์