บลจ.เอ็มเอฟซี ให้เป้าดัชนีหุ้นไทยที่ 1,770-1,800 จุด กรอบล่างอยู่ที่ 1,580 จุด มองเศรษฐกิจเริ่มดีได้การบริโภคภายในประเทศ และท่องเที่ยวหนุน
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนยังคงเข้าลงทุนกับ บลจ.อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกองทุนส่วนบุคคลที่มีอัตราการเติบโตระดับสูงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากเดิมอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้บริษัทเชื่อว่าในปีนี้สินทรัพย์รวมภายใต้การบริหาร หรือ AUM จะเติบโตได้ดีกว่าอุตสาหกรรม ซึ่งจะมาจากเม็ดเงินลงทุนไหมและมูลค่าสินทรัพย์การลงทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับการออกกองทุนใหม่ของ MFC จะเน้นกองทุนที่เป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนมากขึ้นหลังจากในช่วงที่ผ่านมามีการออกกองทุนไปกว่า 50 กองทุน โดยการลงทุนที่บริษัทแนะนำในปีนี้จะเป็นการลงทุนในหุ้นเอเชียโดยเฉพาะจีน และการลงทุนที่ลงทุนในพลังงานสะอาด ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศกลับมามีความน่าสนใจอีกครั้งหลังจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เข้าใกล้จุดสูงสุด
"ในภาพรวมเราน่าจะโตกว่าอุตสาหกรรม เพราะตอนนี้เราได้ขยายงานเพื่อให้เข้าถึงนักลงทุนมากขึ้นจากการพัฒนาแอปพลิเคชัน รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่ตัวแทนขาย และเซลล์ลิงก์เอเจนต์ให้สื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายขึ้นด้วยข้อมูลที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีการเปิดรับตัวแทนอิสระเข้ามาเพิ่มเพื่อการขยายงานทำให้ปีนี้เราน่าจะเติบโตได้ดี"
ด้านนายชาคริต พืชพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บลจ.เอ็มเอฟซี มองว่า แนวโน้มหุ้นไทยปี 66 นี้คาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา จากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ประมาณ 3.7% และอานิสงส์ของการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นจากการเปิดประเทศของจีน โดยดัชนีหุ้นไทยน่าจะยู่ที่ประมาณ 1,770-1,800 จุด ส่วนกรอบล่างอยู่ที่ 1,580 จุด
"ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจเราขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการท่องเที่ยวจากจีนที่น่าจะส่งผลต่อเนื่องถึงการบินโภคภายในประเทศให้กลับมาดีขึ้นอีก โดยหุ้นกลุ่มบริโภคเป็นกลุ่มที่น่าสนใจในปีนี้ เช่น BIGC CPALL เป็นต้น ขณะที่หุ้นกลุ่มแบงก์ก็น่าจะกลับเข้าลงทุนได้อีกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และเชื่อว่าจะมีผลประกอบการดีขึ้นต่อจากนี้"
นอกจากการเติบโตของเศรษฐกิจแล้วการเลือกตั้งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย โดยการใช้จ่ายในช่วงนี้จะมาช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาด้วยว่ารัฐบาลที่ได้จะมีเสียงข้างมากและสเถียรภาพหรือไม่
ขณะที่ฟันด์โฟลว์ในปีนี้คาดว่าจะยังคงไหลเข้าลงทุนในตลาดไทยต่อเนื่องจากปีที่แล้วแต่เม็ดเงินอาจจะไม่ถึง 2 แสนล้านบาทเท่ากับในปีที่ผ่านมา เนื่องจากในปีนี้ยังมีตลาดในภูมิภาคเดียวกับไทยที่ราคามีความน่าสนกว่าเช่น จีน และเวียดนาม ซึ่งหุ้นไทยราคาจะอยู่ในระดับกลางๆ โดยมี forward P/E ที่ 16.25 เท่า
สำหรับปัจจัยที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจะต้องจับตาอัตราดอกเบี้ยของเฟดและการถดถอยของเศรษฐกิจในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปที่จะกระทบกับหุ่นไทยในระยะสั้น นอกจากนี้ประเด็นของสงครามที่จะกระทบต่อราคาน้ำมัน หากความขัดแย้งกลับมารุนแรงมากขึ้นด้วย.