ตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดแผนกลยุทธ์ 3 ปี (2566–2568) ผ่านกลยุทธ์ 4 ด้าน เดินหน้าปรับเกณฑ์การซื้อขายหุ้น ถอดบทเรียน “พ.ย.ทมิฬ” กรณีหุ้นมอร์รีเทิร์นซึ่งนำไปสู่การผิดนัดชำระค่าหุ้นครั้งประวัติศาสตร์ร่วม 4,000 ล้านบาท สร้างความเสียหายกับโบรกเกอร์และตลาดทุนไทย ย้ำเกิดซ้ำไม่ได้และต้องมีการปรับกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมผู้บริหารระดับสูงได้ร่วมกันแถลงแผนกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ฯระยะ 3 ปีข้างหน้า (2566-68) ว่า จะมุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ ตลาดทุน สังคม และประเทศ ผ่านกลยุทธ์ สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ทำตลาดทุนให้เป็นเรื่องง่าย โดยเพิ่มโอกาสการระดมทุนมุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจทุกขนาดทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ เข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น นอกจากนี้ จะพัฒนาศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDX) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายโทเคนดิจิทัล
ทั้ง investment token และ utility token ในไตรมาส 3 ปี 66 และเพิ่มความหลากหลายด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินลงทุนไม่มากสำหรับผู้ลงทุนรายเล็ก
2.ยกระดับมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรมตลาดทุน โดยพัฒนาระบบซื้อขายของตลาด หลักทรัพย์ใหม่ภายในไตรมาส 1 ปี 66 รวมทั้งปรับปรุงกฎเกณฑ์การซื้อขายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย และให้สอดคล้องกับภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป โดยกรณีการซื้อขายหุ้น บมจ. มอร์ รีเทิร์น (MORE) ที่ผิดปกติ และนำมาสู่การผิดนัดชำระค่าซื้อหุ้นร่วม 4,000 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ย.65 หรือ “พ.ย.ทมิฬ” ถือเป็นอีกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สร้างความเสียหายแก่โบรกเกอร์ และตลาดทุนไทย ต้องหาทางป้องกันไม่ให้เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอีก
โดยได้มีการพิจารณาปรับกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่เกณฑ์การรับหลักทรัพย์ของทั้ง SET, mai เข้าจดทะเบียน, ปรับเกณฑ์การซื้อขาย, การชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์ ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบข้อมูลการซื้อขาย รวมถึงแก้ไขเกณฑ์การใช้ข้อมูลสำคัญๆ เช่น การถือครองหุ้น, การติดต่อกับบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ รวมทั้งระบบเครดิตบูโรของบล.ต่างๆ
3.ร่วมสร้างโอกาสเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด (Match partners for synergy) โดยพัฒนาการเผยแพร่ข้อมูลผ่าน SMART Marketplace และจะมีการรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ของบริษัทจดทะเบียนมาไว้บน ESG Data Platform โดยเริ่มเผยแพร่ข้อมูลได้ในไตรมาส 2 ปี 66 นอกจากนี้ จะพัฒนาการจัดทำ ESG Ratings เพื่อสนับสนุนการออกผลิตภัณฑ์ตลาดทุน ESG-Linked
4.ยึดหลักความยั่งยืนเป็นแกนขับเคลื่อนการทำงาน (Merge ESG with substance) โดยด้าน E หรือ Environmental พัฒนาบุคลากรด้าน ESG ในตลาดทุนและสถาบันการศึกษา ผ่าน ESG Academy และพัฒนา Climate Care Platform ให้ครอบคลุมการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการเชื่อมต่อพันธมิตร โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero, ด้าน S หรือ Social ส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่วัยเกษียณและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผ่าน LiVE Platform และด้าน G หรือ Governance เร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พัฒนาเครื่องมือการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพให้สามารถรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมทั้งประสานการทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล นอกจากนี้ จะขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังองค์กรต่างๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว.