นักวิเคราะห์ คาด รายย่อยนัดหยุดเทรดวันนี้กระทบวอลุ่มไม่มาก เหตุหุ้นกลางเล็กซบเซาอยู่แล้ว แต่กดดันหุ้นเล็กเทรดน้อยลง ด้านเอเซีย พลัส สรุป 5 ผลกระทบเก็บภาษีหุ้น ชี้นักลงทุนต้องเตรียมรับมือ
ความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นไทยในวันนี้ มีประเด็นที่ต้องจับตา อย่างมากจากการที่กลุ่มนักลงทุนรายบุคคลได้นัดรวมตัวกันในการหยุดทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อต่อต้านการเรียกเก็บภาษีขาขายหุ้น ที่จะมีการเรียกเก็บในอัตรา 0.01% โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2566 เริ่มต้นที่ 0.055%
ทั้งนี้นักลงทุนรายบุคคลนับเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของตลาดหุ้นไทย โดยมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายจากต้นปีมาถึง 7 ธ.ค. ที่ 35% โดยนักลงทุนรายบุคคลมีสถานะขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย ที่ 26,773.74 ล้านบาท
บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี เปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวของการซื้อขายในตลาดหุ้นเช้าวันนี้ โดยคาดว่าประเด็นการตอบโต้การเก็บภาษีขายหุ้นของรายย่อยที่นัดกันหยุดซื้อขายในวันนี้คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อตลาดมากนัก จากที่ปริมาณการซื้อขายในช่วงนี้ดูซึมอยู่แล้วแต่จะมีผลต่อหุ้นขนาดกลางและเล็กที่จะซึมลง
แนวโน้มในสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นยังไม่มีประเด็นอะไรที่จะหนุนให้ตลาดขึ้นได้ แม้ทางฝั่งจีนจะมีการประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดตามตลาดคาดแล้วเมื่อวานนี้ การประกาศตัวเลข CPI เดือน พ.ย.ของไทยเมื่อวานนี้ออกมาเพิ่มขึ้น 5.55% เทียบปีก่อน และลดลง 0.13% จากเดือน ต.ค. ชะลอตัวลงมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ เป็นการปรับลดลง 3 เดือนติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 7.86% ในเดือนสิงหาคม
โดยในสัปดาห์หน้าน่าจะเห็นตลาดฟื้นตัวกลับได้บ้างหลังมีความชัดเจนของผลการประชุมเฟดในวันที่ 13-14 ธ.ค. (ตลาดคาดขึ้นดอกเบี้ย 0.50%) ธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค. การปรับดัชนีFTSE Rebalancing ในวันที่ 16 ธ.ค. และการประกาศหุ้นเข้าทำการซื้อขายในกลุ่ม SET50และSET100 รอบใหม่ในวันที่ 16 ธ.ค
บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า ปัจจัยที่อยู่ในความสนใจมากว่าในช่วงนี้ได้แก่ กรณีการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้น โดยคาดว่าจะเริ่มเก็บในไตรมาสที่ 2 ด้วยอัตรา 0.055% และเพิ่มเป็น 0.11% ในปี 2567 ซึ่งเรามองว่าน่าจะเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้น ทั้งในมุมของปริมาณการซื้อขายที่น่าจะลดลงเนื่องจากต้นทุนการทำรายการซื้อขายสูงขึ้น โดยส่วนที่ต้องให้ความสนใจคือกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีอัตราการหมุนเวียนในตลาดหุ้นสูงกว่ากลุ่มนักลงทุนในประเทศ และหาก Turnover ลดลง ก็จะมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อน ดัชนีในอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้หากรัฐมีการจัดเก็บภาษีอาจส่งผลกระทบใน 5 ส่วน คือ 1. ภาระค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นสูงขึ้นถึง 64% ของค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันธุรกิจโบรกเกอร์มีค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ เฉลี่ย 0.086% หากมีการเก็บภาษีขายหุ้น 0.11% (ซึ่งเป็นอัตราการเรียกเก็บภาษีที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2534 แต่ก่อนค่า ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ สูงกว่าปัจจุบันมาก) จะทำให้นักลงทุนมีภาระค่า ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ ที่สูงขึ้นถึง 64%
2. ช่วงระยะเวลาในการขึ้นภาษีเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ตามกลไกช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นกดดันระดับ P/E ในการซื้อขายจะถูกลดทอนอยู่แล้ว หากขึ้นภาษีตอกย้ำให้สภาพคล่องในระบบลดลงอีก 3. ช่วงระยะเวลาในการเก็บภาษีปีหน้าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วงการถดถอยทางเศรษฐกิจ หากมีการขึ้นภาษีเวลานี้ ทำให้เสน่ห์ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยลงไป
4. นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้รับภาระค่า ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ สูงกว่านักลงทุนในประเทศ เนื่องจาก ต่างชาติซื้อขายหุ้นไทย 2022 ต่อปี 8.40 ล้านล้านบาท แต่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทย โดยตรงและผ่าน NVDR เพียง 28.2% คิดเป็นมูลค่าตลาด 5.58 ล้านล้านบาท แสดงว่ามี Turnover ในการซื้อขายสูงถึง 150% ต่างกับนักลงทุนไทยทั้งหมดซื้อขายหุ้นไทย 2022 ต่อปีสูงกว่าต่างชาติเล็กน้อย 9.12 ล้านล้านบาท แต่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทย สูงถึง 71.8% 14.2 ล้านล้านบาท
5. สถิติในปี 2011 – 2022 (12 ปี) ชี้ให้เห็นว่าผลตอบแทนเฉลี่ยตลาดหุ้นไทยมักไม่ดีในช่วงที่สภาพคล่องซื้อขายต่ำ สะท้อนได้จากข้อมูล Histogram Turnover ของ SET 2011 – 2022 เทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ยรายวัน พบว่า เวลาที่มูลค่าซื้อขายสูงกว่า +1SD ตลาดหุ้นมีโอกาสให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 18.3% แต่ถ้ามูลค่าซื้อขายอยู่ในระดับปกติ (ช่วง -1SD ถึง +1SD) ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะลดหลั่นลงมาเหลือ +5.6% ต่อปี แต่เวลาที่มูลค่าซื้อขายต่ำกว่า -1SD (Turnover 59.7% ต่อปี) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ -2.9% ดังนั้นภายใต้มูลค่าซื้อขายที่มีโอกาสลดลงในอนาคต
สรุปจาก 5 มุมมองดังกล่าว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคต่อตลาดหุ้นที่นักลงทุนต้องเตรียมเผชิญ พร้อมกับปรับกลยุทธ์การลงทุนในปี 2566 ให้เหมาะสมมากขึ้น
บล.ไอร่า ประเมินว่า คาดตลาดวันนี้จะแกว่งตัวในกรอบแคบ มองแนวรับที่บริเวณ 1,630 / 1,622 และแนวต้านที่บริเวณ 1,635 / 1,640 เรามองตลาดขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้าสนับสนุนการฟื้นตัวขึ้นต่อ โดยยังมองทิศทางราคาสินทรัพย์เสี่ยงจะแกว่งตัวผันผวนเพื่อรอดูการประชุม FOMC ในสัปดาห์หน้าเพื่อหาสัญญาณถึงแนวโน้มนโยบาย ทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในปีหน้า ซึ่งจะบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและการเคลื่อนไหวของกระแสเงินทุนส่วนเกินหลัง ผู้บริหารของธนาคารรายใหญ่หลายท่านในสหรัฐฯออกมาแสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯในปีหน้า อย่างไรก็ดีเรายังคงคาดการณ์เดิมว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. นี้ที่ระดับ 0.50%และจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีหน้าจนอัตราดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ราว 5.00-5.25% ก่อนที่ FED อาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า