ทรีนีตี้ มองสิ้นปี 65 SET แตะ 1,690 จุด แนะวิธีรับมือวิกฤติซ้อนวิกฤติ

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ทรีนีตี้ มองสิ้นปี 65 SET แตะ 1,690 จุด แนะวิธีรับมือวิกฤติซ้อนวิกฤติ

Date Time: 18 ส.ค. 2565 14:12 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ทรีนีตี้ มองหุ้นไทยสิ้นปีแตะ 1,690 จุด อิง EPS ตลาดที่ 106.5 บาท P/E 15.9 เท่า พร้อมรับมือวิกฤติซ้อนวิกฤติ

Latest


ทรีนีตี้ มองหุ้นไทยสิ้นปีแตะ 1,690 จุด อิง EPS ตลาดที่ 106.5 บาท P/E 15.9 เท่า พร้อมรับมือวิกฤติซ้อนวิกฤติ

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 65 ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดทุนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากหลายวิกฤติ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด เงินเฟ้อที่พุ่งแรงทั่วโลก เศรษฐกิจโลกถดถอย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น สงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน และความตึงเครียดระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ

ขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังพัฒนาจากภาวะความกลัวเงินเฟ้อ หรือ Inflation Fear มาสู่ภาวะ ความกลัวเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession Fear จากการปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงของประเทศสหรัฐฯ จีน และกลุ่มประเทศยุโรป

นอกจากนี้ การที่ Fed เริ่มมีนโยบายลดความรุนแรงในการขึ้นดอกเบี้ย หรือ Less Hawkish นำไปสู่การทำกำไรของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และภายหลังจากการที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.5-0.75% ในเดือน ก.ย. 65 นี้ อาจจะทำให้เกิดความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความกลัวเศรษฐกิจถดถอยยังมีเม็ดเงินของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้าไทยในเดือน ส.ค. ซึ่งถือเป็น Renewed ของฟันด์โฟลว์หรือฟันด์โฟลว์รอบใหม่ โดยตั้งแต่ต้นเดือนมีนักลงทุนต่างประเทศเริ่มกลับเป็นฝ่ายซื้อสุทธิในตลาดหุ้นกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท และตลาดพันธบัตรกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับเงินเฟ้อทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย อาจจะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 3/65 ปีนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ผ่านจุดสูงสุด (Peak) ไปแล้ว และคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของไทย จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปที่ระดับ 0.25% ต่อครั้ง

โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. อาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ใน 12 เดือนข้างหน้าสู่ระดับ 1.5% ในกลางปี 2566 แต่ก็ยังถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในอาเซียน

อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงเรื่องเงินพื้นฐาน หรือ Core Inflation ที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3% ในเดือน ก.ค. 65 และการที่ค่าแรงขั้นต่ำมีโอกาสปรับขึ้นได้ 5-8% ทำให้ Core Inflation มีโอกาสสูงกว่าที่เป้าหมายธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 1-3%

ส่วนของมุมมองด้านค่าเงินบาท มองว่านับตั้งแต่สิ้นเดือน ก.ค.2565 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่ามากที่สุดในสกุลเงินอาเซียน โดยแข็งค่าขึ้นกว่า 4% และคาดว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าอาจจะมีความเสี่ยงของเงินทุนไหลออกจากนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากการส่งออกเงินปันผลของนักลงทุนต่างประเทศช่วงเดือน ก.ย. 65 ประกอบกับ Fed อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 0.5%

ดร.วิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยมองการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบสูงสุดในไตรมาส 3 ของปี 2565 และจะปรับขึ้นเป็นบวกระดับ 4% ของ GDP ในปี 2566 (เปรียบเทียบ+10% ของ GDP ในช่วงก่อน เกิด COVID) คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 3% ของ GDP ในไตรมาส 3 และเป็น 5% ของ GDP ในไตรมาส 4 และอาจเพิ่มเป็น 7% ของ GDP ในไตรมาส 1 ปี 2566

ขณะที่การเติบโตของฐานเงินอย่างกว้างหรือ M2 เพิ่มขึ้น 6.20% ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดที่เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 1 ปี บ่งบอกถึงสภาพคล่องเริ่มดีขึ้น

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย มองเป้าหมายของดัชนีอยู่ที่ 1,690 จุด อิงอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดที่ 106.5 บาท และ Forward PE (X) ที่ 15.9X และมีโอกาสที่จะปรับเป้าหมายดัชนีขึ้น เพราะ EPS มีโมเมนตัมเป็นบวกจากการปรับเพิ่มของกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน หรือ บจ. อีกทั้ง นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกให้ผลตอบแทนติดลบตั้งแต่ -1.8% ถึง -50% แต่ตลาดหุ้นไทยยัง Outperform ตลาดหุ้นโลก

ดร.วิศิษฐ์ กล่าวว่า แนะนำให้นักลงทุนจัดสรรเงินลงทุนในสถานการณ์วิกฤติซ้อนวิกฤติในช่วงที่เหลือของปี 2565 โดยสินทรัพย์ที่แนะนำลงทุน ได้แก่

1. ตลาดหุ้นไทย 25%
2. ตลาดหุ้นเวียดนาม 10-15%
3. ตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว 10%
4. ตราสารหนี้โลก 25%
5. ทองคำ 5%
6. Weighting ในกลุ่มน้ำมัน และ Commodity 5%
7. ถือเงินสด 15-20% เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยงยังไม่ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ยังไม่คาดการณ์

อย่างไรก็ตาม ทรีนีตี้ยังแนะนำให้ Overweight หรือให้น้ำหนักมากกว่าตลาด ในกลุ่มหุ้นที่เป็น Thematic Play ที่ได้สร้างแบบจำลองทาง Macro Economic 4 ธีมหลัก ได้แก่

ธีมที่ 1 : บริษัทที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง (reopening) และการท่องเที่ยว มองว่าประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางออกนอกประเทศได้ใน 3-12 เดือนข้างหน้า

ธีมที่ 2 : บริษัทที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า

ธีมที่ 3 : หุ้นปันผลสูงเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หรือ Inflation hedge

ธีมที่ 4 : บริษัทได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น ได้แก่ กลุ่มธนาคาร แต่การส่งผ่านการขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ในรอบเศรษฐกิจนี้จะมีประสิทธิภาพน้อยลง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์