กระดานไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ติดเครื่องแล้ว!! เดินหน้าเป็นแหล่งระดมทุนให้ SMEs และ Startups

Investment

Stocks

Content Partnership

Author

Content Partnership

Tag

กระดานไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ติดเครื่องแล้ว!! เดินหน้าเป็นแหล่งระดมทุนให้ SMEs และ Startups

Date Time: 19 ส.ค. 2565 06:01 น.
Content Partnership

Summary

  • ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ติดเครื่องแล้ว! ประเดิมรับหุ้น AWS22 เข้าเทรด 9 ก.ย.นี้ เผยมี SMEs และ Startups จ่อรอเข้าระดมทุนอีกเพียบ

ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ติดเครื่องแล้ว! ประเดิมรับหุ้น AWS22 เข้าเทรด 9 ก.ย.นี้ เผยมี SMEs และ Startups จ่อรอเข้าระดมทุนอีกเพียบ! ย้ำ LiVEx จะเป็นแหล่งทุนให้ SMEs และ Startups เพื่อนำไปขยายธุรกิจให้เติบโต สร้างความพร้อมก่อนเข้า SET-mai ต่อไปภายในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ตอกย้ำบทบาทตลาดหลักทรัพย์ฯ “เชื่อมโยงโอกาสทุกภาคส่วน ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุน”

ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.65 พันธกิจหลักๆ ของการจัดตั้ง LiVEx นี้ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs และ Startups เข้าถึงแหล่งทุนในตลาดทุน สร้างโอกาสการเติบโต ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเงินทุน โดยเฉพาะ ธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะมูลค่าธุรกิจมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของจีดีพีประเทศ และ Startups ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในอนาคต ขณะเดียวกันยังเพิ่มทางเลือกให้ผู้ลงทุนที่สนใจการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ในประเทศไทย ยังเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้น้อย ส่วนใหญ่พึ่งพาเงินลงทุนจากการกู้เงินจากธนาคารเป็นหลัก ซึ่งเป็นการกู้เงินแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือกู้ยืมเงินจากญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูงที่รู้จัก ทำให้การเติบโตเป็นไปอย่างช้าๆ หรือมีอุปสรรคเมื่อธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้เพิ่มเติม อันเนื่องมาจากความกังวลของสถาบันการเงินในความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียหรือ หนี้เอ็นพีแอล โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้การเข้าถึงเงินทุนสำหรับ SMEs ยิ่งยากขึ้น

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ หรือ LiVEx จึงถูกจัดตั้งขึ้นมา จากความร่วมมือของหน่วยงานสำคัญทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อช่วยกันผลักดันให้ตลาดแห่งนี้เกิดขึ้น โดยมีการกำหนดคุณสมบัติและระเบียบกฎเกณฑ์ที่น้อยกว่าการระดมทุนเพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนกลยุทธ์สำคัญในการเชื่อมโยงโอกาสทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุนสำหรับธุรกิจทุกขนาดตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ไปจนถึง SMEs และ Startups ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องวิสัยทัศน์ตลาดหลักทรัพย์ฯ To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone

โดยที่ผ่านมา ได้เปิดให้บริการ LiVE Platform เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ความรู้ เพิ่มศักยภาพและสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการรายเล็ก นับเป็นบทบาทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญต่อเนื่องและถือเป็นการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการพัฒนาสังคม (Social) ภายใต้หลัก ESG โดยมีบริการต่างๆ อาทิ ห้องเรียนผู้ประกอบการ, โครงการ Incubation และ Acceleration Program ที่ได้พัฒนาร่วมกับพันธมิตรในหลายภาคส่วน ตอบโจทย์ความต้องการและการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ SMEs และ Startups

ด้าน นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการดำเนินการนับตั้งแต่เปิดให้บริการ LiVEx ว่า ปัจจุบันมี บริษัทที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) เพื่อเสนอขายหลักทรัพย์แล้ว คือ บมจ.แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส (AWS22) ซึ่งประกอบธุรกิจผู้ให้บริการออกแบบพัฒนา Digital Technology โดยได้มีการให้ข้อมูลกับผู้ลงทุน (Roadshow) เป็นครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค.65 ที่อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคาดว่าหลักทรัพย์ของ AWS22 จะเข้าเทรดในกระดาน LiVEx ในวันที่ 9 ก.ย.65

“การเข้าซื้อขายในกระดานของ AWS22 วันแรกจะไม่เหมือนกับหลักทรัพย์หรือหุ้นที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai หรือ SET เพราะต้องยอมรับว่ากระดาน LiVEx นี้ จะมีสภาพคล่องในการซื้อขายน้อยกว่า mai หรือ SET มาก เพราะผู้ที่จะเข้าลงทุนในกระดาน LiVEx นี้ จะมีการจำกัดประเภทของผู้ลงทุนที่สามารถลงทุนได้ โดยต้องเป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความรู้ ประสบการณ์ และฐานะการเงินในระดับที่สามารถรับความเสี่ยงได้ ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เช่น ผู้ลงทุนสถาบัน นิติบุคคลรวมลงทุน (VC) กิจการเงินร่วมลงทุน (PE) ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) เป็นต้น

ส่วนอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรก็จะต้องรอดูกันไป แต่เป้าหมายหมายสำคัญของกระดานนี้คือให้ธุรกิจที่ยังไม่มีความพร้อมพอที่จะเข้า mai หรือ SET ได้เข้ามาระดมทุน เพื่อนำเงินไปขยายกิจการก่อนและเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ก็สามารถผลักดันเข้าไปสู่ตลาด mai และ SET ต่อไปได้ภายใน 2-3 ปี หลังจากเข้ามาระดมทุนใน LiVEx แล้ว”

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า นอกเหนือจาก AWS22 ที่คาดว่าจะเข้าเทรดในช่วงไตรมาส 3 ปี 65 แล้ว คาดว่าจะมีอีก 2 บริษัท ที่รอเข้ามาระดมทุนในกระดาน LiVEx โดยอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (ICT) และกลุ่มพลังงาน ที่ในช่วงไตรมาส 4 ปี 65 โดยมีมูลค่าการระดมทุนประมาณ 50-100 ล้านบาท ขณะที่ภายในปี 66 คาดว่าจะมีบริษัทเข้ามาระดมทุนเพิ่มอีกจำนวน 5 บริษัท แบ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรม ICT จำนวน 2 บริษัท, กลุ่มธุรกิจอาหาร 1 บริษัท, กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง 1 บริษัท และธุรกิจที่เกี่ยวกับการขนส่งอีก 1 บริษัท

"ขณะนี้พบว่า บริษัทจดทะเบียนหลายบริษัท ทั้งใน SET และ mai มีแผนในการแยกหรือ Spin-off บริษัทในเครือเพื่อเข้ามาระดมทุนในกระดาน LiVEx ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้ LiVEx มีการเติบโตทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพราะบริษัทเหล่านี้มีผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่แล้ว โดยคาดหวังว่าภายใน 4-5 ปีข้างหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์ LiVEx จะเติบโตได้ดี เหมือนกับการมีตลาดหลักทรัพย์ mai ที่ในช่วงการจัดตั้งช่วงแรกๆ กว่าจะตั้งไข่ และเดินหน้าขยายตัวได้ขนาดนี้ ก็ใช้ระยะเวลาในการเติบโตประมาณนี้” นายประพันธ์ กล่าว

นายประพันธ์ ยังกล่าวว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมให้กับภาคธุรกิจ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ที่มีแผนการเข้าสู่ตลาดทุนที่ชัดเจนอย่างโครงการ LIVE Acceleration Program ซึ่งจัดไปแล้วทั้งหมด 2 รุ่น มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 64 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 20% สนใจนำบริษัทเข้าระดมทุนใน LiVEx


Author

Content Partnership

Content Partnership