ธนาคารกรุงเทพ เผยกำไรสุทธิ 6 เดือนแรกปี 65 อยู่ที่ 14,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.0% หลังรายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL เปิดเผยผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 65 ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ จำนวน 14,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.0% จากงวดแรกปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 13.9% จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อ
ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.18% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 19.8% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์
ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณเงินให้สินเชื่อที่ขยายตัว สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2.8% จากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 50.4%
ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 14,843 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรองโดยพิจารณาถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่ยังคงอยู่ โดยธนาคารกรุงเทพยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ
ณ สิ้นเดือน มิ.ย.65 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,652,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากสิ้นปี 2564 โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ 3.4%
ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 232.5%
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือน มิ.ย.65 จำนวน 3,147,149 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 84.3% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 18.9%, 15.4% และ 14.6% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ชาติศิริ ธนาคารกรุงเทพ คว้า 2 รางวัลใหญ่จากดิ เอเชี่ยน แบงก์เกอร์
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่นิตยสาร ดิ เอเชี่ยน แบงก์เกอร์ ได้พิจารณามอบ 2 รางวัลดังกล่าว แก่ตนเองและธนาคารกรุงเทพ นับเป็นรางวัลที่ยืนยันถึงการดำเนินธุรกิจได้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ตั้งแต่การกำหนดนโยบายทางธุรกิจร่วมกับคณะกรรมการบริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
รวมถึงผู้บริหารที่มากประสบการณ์ การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การดำเนินงานจริงอย่างต่อเนื่องร่วมกับพนักงานทุกระดับ ที่ช่วยกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่มีคุณค่าต่อลูกค้า ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ อย่างรอบด้าน สอดคล้องกับหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance – ESG)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยความท้าทายสำหรับธุรกิจการเงินธนาคารหลายประการ โดยประเด็นใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทุกธุรกิจ ซึ่งธนาคารกรุงเทพ ได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ด้วยการคัดสรรแนวทางช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายและแต่ละช่วงเวลา
โดยแบ่งหลักเกณฑ์ความช่วยเหลือเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องเพื่อประคับประคองธุรกิจ ระยะกลาง ช่วยฟื้นฟูธุรกิจให้เริ่มต้นได้อีกครั้ง และระยะยาว ช่วยแนะนำแนวทางปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับตลาดในยุคใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในระยะยาวได้อีกครั้ง
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง ธนาคารกรุงเทพยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขายเครือข่ายธุรกิจอย่างแข็งแกร่ง ด้วยการเข้าซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตา ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งไม่เพียงเป็นการซื้อกิจการที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของธนาคาร หากแต่ยังเป็นการซื้อกิจการธนาคารที่มีมูลค่าสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนด้วย
การซื้อกิจการดังกล่าวได้เสริมความแข็งแกร่งของธนาคารกรุงเทพที่สอดคล้องกับนโยบายการเป็นธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกกว่า 4 ล้านราย สาขาอีกประมาณ 300 แห่งในอินโดนีเซีย และสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอีก 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับก้าวขึ้นเป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 6 ในอาเซียน และธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ จึงเสริมศักยภาพในมิตินี้ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้วยสาขาต่างประเทศมากกว่า 310 แห่ง ใน 14 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก พร้อมด้วยธนาคารพันธมิตรนอกประเทศอีกว่า 900 แห่งทั่วโลก มีสัดส่วนธุรกิจในต่างประเทศมากถึง 25% ของสินเชื่อรวม จึงเป็นประโยชน์ต่อการกระจายสินเชื่อในเชิงภูมิศาสตร์ และมีโอกาสเพิ่มขึ้นสำหรับการขยายธุรกิจในตลาดที่มีอัตราเติบโตสูง