KTC โชว์กำไรครึ่งปีแรก 65 แตะ 3,641 ล้าน ยอดใช้บัตรเพิ่มรับเศรษฐกิจฟื้น

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

KTC โชว์กำไรครึ่งปีแรก 65 แตะ 3,641 ล้าน ยอดใช้บัตรเพิ่มรับเศรษฐกิจฟื้น

Date Time: 21 ก.ค. 2565 20:08 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • KTC โชว์กำไรครึ่งปีแรก 65 แตะ 3,641 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่ม ฐานลูกค้าพุ่งรับเศรษฐกิจฟื้น พร้อมคุมคุณภาพพอร์ตลูกหนี้และต้นทุนการเงิน

Latest


KTC โชว์กำไรครึ่งปีแรก 65 แตะ 3,641 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่ม ฐานลูกค้าพุ่งรับเศรษฐกิจฟื้น พร้อมคุมคุณภาพพอร์ตลูกหนี้และต้นทุนการเงิน

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 65 นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก 65 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.65 KTC มีกำไรสุทธิ 3,641 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% หากเทียบกับงวดเดียวกันกับช่วงปีก่อน

ส่วนกำไรไตรมาส 2/65 อยู่ที่ 1,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.7% หากเทียบกับงวดเดียวกันกับช่วงปีก่อน โดยงบการเงินเฉพาะกิจการของเคทีซี มีกำไรสุทธิครึ่งปีแรกอยู่ที่ 3,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% และไตรมาส 2/65 เท่ากับ 1,870 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7%

นอกจากนี้ มีฐานสมาชิกรวม 3.3 ล้านบัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 95,069 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อ ด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม หรือ NPL 3.5% แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,525,367 บัตร

เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 61,426 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรครึ่งปีแรกเท่ากับ 109,782 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.6% (สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด ซึ่งครึ่งแรกของปี 2562 มีมูลค่า 100,282 ล้านบาท)

ทั้งนี้ NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.2% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซี 756,960 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม 30,460 ล้านบาท NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.8%

พอร์ตลูกหนี้ตามสัญญาเช่ามูลค่า 3,184 ล้านบาท ยอดสินเชื่อลูกหนี้ใหม่ (New Booking) ของสินเชื่อ เคทีซี พี่เบิ้ม และกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง หรือ KTBL สำหรับครึ่งแรกของปี 2565 มียอดรวม 525 ล้านบาท โดยที่ยอดลูกหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกเดือนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม KTC เคทีซียังคงให้ความสำคัญในการรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ ทำให้การตัดหนี้สูญน้อยลง และบริหารรายได้และค่าใช้จ่ายให้เกิดความสมดุล โดยรายได้รวมในไตรมาส 2/2565 เท่ากับ 5,735 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.1% จากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่รายได้รวมครึ่งปี 2565 อยู่ที่ 11,091 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% สำหรับหนี้สูญได้รับคืนในไตรมาส 2 เท่ากับ 851 ล้านบาท และครึ่งปี 2565 อยู่ที่ 1,708 ล้านบาท ในส่วนของค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 2/2565 เท่ากับ 3,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและต้นทุนทางการเงินลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายรวมครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 6,539 ล้านบาท ลดลง 1.1%

ทั้งนี้ ข้อมูลวันที่ 30 มิ.ย. 65 เคทีซีมีเงินกู้ยืมทั้งสิ้นเท่ากับ 55,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% เป็นโครงสร้างแหล่งเงินทุนจากเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยาวในสัดส่วน 34% ต่อ 66% โดยมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) จำนวน 26,249 ล้านบาท ต้นทุนการเงิน 2.4% และอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.2 เท่า ต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า

"เคทีซียังคงดำเนินการแบ่งเบาภาระสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 65 บริษัทฯ ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในทุกสถานะตามประกาศ ธปท. คงเหลือจำนวน 2,182 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.39% ของพอร์ตลูกหนี้รวม"

นายระเฑียร กล่าวอีกว่า การปลดล็อกโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น และการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ รวมถึงการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนดีกว่าคาดหมาย จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น อีกทั้งสัญญาณของตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนก็ดีขึ้น

ในขณะที่อุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคและเคทีซีกลับมาเติบโตเช่นกัน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เคทีซีมีสัดส่วนลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรม 13.7% สัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรม 4.0% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 15.3% (อุตสาหกรรมโต 18.5%)

โดยมีส่วนแบ่งตลาดเท่ากับ 11.8% คาดว่าสิ้นปี 2565 อัตราเติบโตของปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอาจจะขยายตัวได้ถึง 15% จากที่บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเติบโตไว้ที่ 10%

อย่างไรก็ตาม เคทีซีจะยังดำเนินธุรกิจตามแผนงานที่ตั้งเป้าหมายไว้ในด้านต่างๆ ด้วยความไม่ประมาท และติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยในช่วงครึ่งปีหลังจะมุ่งเน้นการจัดหาสมาชิกและเพิ่มมูลค่าพอร์ตสินเชื่อทุกผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น

ด้วยการคัดสรรกิจกรรมการตลาดให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และบริบทที่ปรับเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ค่าใช้จ่ายการตลาดเพิ่มขึ้น และมีการตั้งสำรองเพิ่มตามพอร์ตลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยจะบริหารจัดการต้นทุนการเงินและอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม ด้วยประมาณการเป้าหมายกำไรปี 2565 ที่สูงกว่าเดิม และพอร์ตสินเชื่อรวมที่มูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์