บล.บียอนด์ เตรียมปรับโครงสร้างเป็นโฮลดิ้งปลายปี 65 รองรับการขยายธุรกิจ ทั้งธุรกิจโบรกเกอร์ และการลงทุนในกิจการขนส่งมวลชนด้วยยานยนต์ไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 65 นางสาวออมสิน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD กล่าวว่า ภาพรวมช่วงครึ่งปีแรกของ 65 ธุรกิจหลักมีแนวโน้มการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน ทั้งรายจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือโบรกเกอร์
รวมถึงรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการที่ปรึกษาทางการเงิน ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการกิจการขนส่งมวลชนที่ BYD ได้ลงทุนผ่านบริษัทร่วม คือ บริษัท เอช อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ACE โดย ACE เข้าถือหุ้น 100% ในบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเดินรถประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีพื้นที่ต่อเนื่องด้วยรถบัสไฟฟ้า
ปัจจุบันบริษัทย่อยในกลุ่มของไทย สมายล์ บัส ได้ให้บริการขนส่งมวลชนด้วยรถประจำทางไฟฟ้าแล้ว 8 สาย จำนวนทั้งสิ้น 112 คัน และกำลังสั่งซื้อรถบัสไฟฟ้าเพิ่มเพื่อให้บริการภายในปีนี้อีก 96 คัน นอกจากนี้เมื่อเดือนมี.ค. 65 ที่ผ่านมา TSB ยังได้รับคัดเลือกจากกรมการขนส่งทางบกให้เป็นผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 71 สาย จึงอยู่ระหว่างเตรียมการสั่งซื้อรถบัสไฟฟ้าเพื่อจะนำมาให้บริการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีนี้ เป็นจำนวนอย่างน้อย 758 คัน
ขณะเดียวกัน TSB ยังอยู่ระหว่างการจะเข้าลงทุนเพิ่มเติม ด้วยการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด หรือ SMB ผู้เป็นเจ้าของสัญญาเดินรถรวม 37 เส้นทาง บริษัท เอ็กซา โลจิสติก จำกัด ผู้เป็นเจ้าของสัญญาเดินรถ 2 เส้นทาง และบริษัท เอ็กซา โลจิสติก จำกัด ผู้เป็นเจ้าของสัญญาเดินรถ 4 เส้นทาง รวมถึงการเข้าลงทุนในการให้บริการด้วยรถบัสไฟฟ้าแล้ว TSB ยังจะเข้าถือหุ้น 100% ใน บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด หรือ EST ผู้ให้บริการเดินทางด้วยเรือไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
หากโครงการขยายการลงทุนของ TSB ครั้งนี้ เป็นไปตามที่คาดไว้ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของระบบขนส่งมวลชนของประเทศไทย ที่จะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางของสายรถเมล์ได้เป็นจำนวนอย่างน้อยถึง 122 สายเข้าด้วยกัน และยังเชื่อมไปยังเรือไฟฟ้าที่ให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ซึ่งเกิดเป็นโครงข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ในการให้บริการในวงที่กว้างจากกรุงเทพมหานคร กินพื้นที่ไปยังจังหวัดที่มีพื้นที่ต่อเนื่องทั้งหมดได้
นอกจากนี้ยังสามารถนำระบบเหมาค่าตั๋วโดยสารราคาถูกมาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนได้ อีกทั้งลดมลพิษจากการปรับเปลี่ยนยานพาหนะแบบเดิมที่เก่า และสร้างมลพิษ ไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มีไอเสีย สะอาด ทันสมัย ไม่มีเสียงดัง ขับขี่ปลอดภัย และสามารถผลิตได้เองในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามผลสำเร็จจากการดำเนินการตามแผนดังกล่าว จะเป็นหนทางที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างของ BYD เป็นบริษัทลงทุน หรือ Holding company ในที่สุด ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนและจะเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่ 3/65 นี้
นางสาวออมสิน กล่าวอีกว่า BYD มีเป้าหมายที่จะไม่เป็นเพียงผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ แต่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาผลักดันการเติบโตของบริษัทฯ ในทุกๆ ด้าน และตอบแทนสังคมในวงกว้าง พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายที่จะร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ตั้งเป้าธุรกิจโบรกเกอร์ดึงมาร์เก็ตแชร์ปี 66 แตะ 2%
ด้านนางสาวปทิตตา มิลินทจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาด กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะพลิกขึ้นมามีกำไรจากการดำเนินงาน โดยเฉพาะในธุรกิจหลักทรัพย์ จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดอันเป็นผลมาจากการลงทุนทั้งด้านระบบงานและบุคลากร
โดยวางมาร์เก็ตแชร์ปี 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1-2% จากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 0.1-0.2% ขณะที่ในปี 2567 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปแตะอันดับ 1 ใน 10 ของธุรกิจหลักทรัพย์ต่อไป
ล่าสุด BYD ได้พัฒนาโปรแกรมเทรด Beyond Intelligence Trading หรือ MT5 ร่วมกับคู่ค้า ซึ่งจะเป็นโปรแกรมที่ช่วยนักลงทุนวิเคราะห์และซื้อขายหุ้นอัตโนมัติด้วย Robot และยังมีระบบอัจฉริยะที่คอยช่วยจับตาความเคลื่อนไหวของ Volume, Bid/Ask, Ticker ในตลาดได้รวดเร็ว และ Real-time อีกด้วย
ส่วนปัจจัยที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการรับเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการลงทุน หรือ มาร์เก็ตติ้ง เข้ามาเพิ่มขึ้น ลงทุนระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ให้มีความสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งได้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าเพิ่มศักยภาพและสร้างผลตอบแทน แม้เผชิญกับความผันผวนจากสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์โลกแต่ยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง
นางสาวปทิตตา กล่าวอีกว่า เรายังมีรายได้จากธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินในการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 2 ราย และบริการด้านวาณิชธนกิจอื่นอีก 4-5 ราย รวมทั้งมีรายได้จากการเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายทั้งหุ้นกู้และหุ้นไอพีโอมากขึ้น
โดยในครึ่งปีแรก 65 นั้นบริษัทได้ร่วมเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นไอพีโอให้กับ 2 บริษัท คือ บริษัท ฟังก์ชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ FTI และ บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) หรือ TEKA ทำให้มั่นใจว่าธุรกิจหลักทรัพย์จะเติบโตก้าวกระโดด
นอกจากนี้ บริษัทฯ ร่วมมือกับวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดตั้ง BYD Academy สมรภูมิที่ให้ความรู้ด้านการลงทุนและพัฒนาทักษะการลงทุนให้นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อสั่งสมประสบการณ์
พัฒนาความสามารถ และเสริมสร้างศักยภาพเพื่อนำกลับไปต่อยอดอาชีพในอนาคตได้ และสำหรับนักศึกษาที่ใกล้จะจบหรือมีความสนใจที่เดินทางในสายงานธุรกิจหลักทรัพย์ ทางบริษัทฯ เองก็ยังเปิดรับสมัครทั้งนักศึกษาจบใหม่และนักศึกษาฝึกงานอีกด้วย.