ราคาจองซื้อหุ้น IPO ไทยประกันชีวิตอยู่ที่ 16 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. - 6 ก.ค. 65 นี้ ใช้ตัวย่อ TLI คาดซื้อขายในเดือนก.ค. 65 นี้
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 65 นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI กล่าวว่า ไทยประกันชีวิต เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO จำนวนรวมไม่เกิน 2,316.7 ล้านหุ้น ในราคาเสนอขายหุ้นที่ 16.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 37,067 ล้านบาท โดยสามารถจองซื้อหุ้นได้ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. - 6 ก.ค. 65 นี้ โดยคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นวันแรกภายในเดือนก.ค. 65 นี้
สำหรับเงินที่ได้รับจากการระดมทุนในครั้งนี้ ไทยประกันชีวิตจะนำไปใช้ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต โดยเน้นลงทุนในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Transformation ผ่านนวัตกรรมที่จะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ และดูแลลูกค้าอย่างครบวงจรรวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตรที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับลูกค้าทั่วประเทศ ตลอดจนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน ทั้งสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่นๆ ในอนาคต
นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า TLI เป็นบริษัทประกันชีวิตรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่เป็นของคนไทยและก่อตั้งโดยคนไทย ซึ่งแบรนด์ไทยประกันชีวิตมีความเป็นเอกลักษณ์ น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้เราได้รับความไว้วางใจ และรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้ามาได้อย่างยาวนาน โดย ณ วันที่ 31 มี.ค. 65 ไทยประกันชีวิตมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับกว่า 4.4 ล้านกรมธรรม์
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2564 ไทยประกันชีวิตมีส่วนแบ่งทางการตลาดเมื่อพิจารณาจากเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ประมาณ 15% เป็นอันดับที่ 2 ในอุตสาหกรรมประกันชีวิต โดยมีรายได้รวม 109,246 ล้านบาท สามารถสร้างกำไรสุทธิ 8,394 ล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 11.3% ระหว่างปี 2562-2564 ขณะที่ในไตรมาส 1/65 ไทยประกันชีวิต มีรายได้รวม 25,955 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 3,793 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 14.7% เทียบกับช่วง ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินของไทยประกันชีวิตมีความแข็งแกร่ง โดย ณ วันที่ 31 มี.ค. 65 บริษัทฯ มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ที่ 360.6% ซึ่งสูงกว่าข้อกำหนดของ คปภ. ที่กำหนดไว้ที่ 140% อย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันในเดือนเม.ย. 65 ที่ผ่านมาสถาบัน Fitch Ratings ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของบริษัทฯ ไว้ที่ A- (ระดับสากล) และ AAA (tha) (ระดับภายในประเทศ) อีกด้วย
นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายวานิชธนกิจและตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา คณะผู้บริหารของไทยประกันชีวิตได้พบปะกับนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อนำเสนอข้อมูลบริษัทเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน
โดยหุ้น TLI ได้รับกระแสการตอบรับที่ดีและความสนใจในการลงทุนเป็นจำนวนมาก แม้ในภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การลงทุนที่มีความผันผวน โดยได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นที่ 16.00 บาทต่อหุ้น และมีนักลงทุนสถาบัน ชั้นนำทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศรวม 18 ราย สนใจลงทุนเป็น Cornerstone Investors หรือ ผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 18,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 50.0% ของจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมดในครั้งนี้
จากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ความสามารถในการสร้างผลการดำเนินงานที่มั่นคง และศักยภาพในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องของไทยประกันชีวิต ผมเชื่อว่า TLI จะเป็นหุ้นคุณภาพอีกหนึ่งตัวสำหรับนักลงทุนและตลาดทุนไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนในธุรกิจประกันชีวิตของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ Cornerstone Investors ของ TLI ประกอบด้วยนักลงทุนสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น GIC Private Limited, Oaktree Capital Management เป็นต้น รวมถึงนักลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ บลจ.กสิกรไทย บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.กรุงศรี บลจ.กรุงไทย บลจ.เอ็มเอฟซี เป็นต้น
สำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญของ TLI ในครั้งนี้ มีบล.เกียรตินาคินภัทร และบล.โนมูระ พัฒนสิน เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย บล.กรุงศรี, บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) และบล.ฟินันซ่า เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายร่วม
รวมทั้งมีผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 8 รายประกอบด้วย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย), บล.ทิสโก้, บล.ธนชาต, บล.บัวหลวง, บล.หยวนต้า (ประเทศไทย), บล.เอเชีย พลัส จำกัด และบล.ไทยพาณิชย์ โดยบล.เกียรตินาคินภัทรจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินและดำเนินการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น (Overallotment and Stabilizing Agent).