ไทยออยล์ ยื่นไฟลิ่งขายหุ้นเพิ่มทุน ไม่เกิน 275,120,000 หุ้น ชูรากฐานที่มั่นคงจากธุรกิจการกลั่นน้ำมัน พร้อมต่อยอดสู่การเติบโตทางธุรกิจครั้งใหม่
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 65 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP กล่าวว่า ภายหลังจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 65 อนุมัติแผนปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาว บริษัทฯ ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 20,400,278,730 บาท เป็น 23,151,478,730 บาท เรียบร้อยแล้ว เพื่อรองรับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป หรือ Public Offering : PO และผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น และรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนของผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over - Allotment Agent) ตามแผนที่วางไว้
ทั้งนี้ ไทยออยล์เตรียมพร้อมเข้าสู่ New Round of Growth ของบริษัทฯ ในปี พ.ศ. 2569-2573 ซึ่งจะเป็นช่วงที่คาดว่า โครงการสำคัญอย่าง CFP และโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 ของ PT Chandra Asri Petrochemical Tbk หรือ CAP ซึ่งไทยออยล์เพิ่งเข้าร่วมลงทุนเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา เปิดดำเนินงานเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่อุตสาหกรรมโรงกลั่นกลับมาเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตหลังโควิด ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ไทยออยล์จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนและมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นพร้อมเดินหน้าสู่การเติบโตครั้งใหม่
โดยถือว่าเป็นการสานต่อรากฐานที่มั่นคงจากธุรกิจด้านการกลั่นน้ำมันไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง กระจายความเสี่ยงการลงทุนไปยังธุรกิจที่มีความผันผวนต่ำและลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S - Curve ตามแนวทางการต่อยอดสู่ธุรกิจที่หลากหลายโดยอาศัยรากฐานที่มั่นคงจากธุรกิจหลัก
นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี ของไทยออยล์ กล่าวว่า การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของไทยออยล์ เป็นการเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป หรือ PO ซึ่งจะรวมถึงการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% ของหุ้นสามัญในส่วนที่ออกและเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป จำนวน 239,235,000 หุ้น
โดยผู้ถือหุ้นเดิมที่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ณ วันกําหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date) ซึ่งจะประกาศให้ทราบต่อไปจะได้รับการจัดสรรหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยจะไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้หรืออาจเป็นผลให้บริษัทฯ มีภาระหรือหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ
ส่วนเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ ส่วนหนึ่งนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) ให้แก่ ปตท. และสถาบันการเงิน จากการที่ไทยออยล์เข้าลงทุนในธุรกิจโอเลฟินโดยซื้อหุ้นใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) บริษัทปิโตรเคมีขนาดใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย
ภายหลังการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างเงินทุน (Capital Structure) ของไทยออยล์เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้เงินกู้ยืมในปัจจุบัน จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานหรือใช้สำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต
นายธนิก ธราวิศิษฏ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking and Capital Markets ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ไทยออยล์ ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ หรือไฟลิ่ง ต่อสำนักงานก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 275,120,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท เพื่อจัดสรรและเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป จำนวนไม่เกิน 239,235,000 หุ้น
นอกจากนี้ อาจพิจารณาจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over - Allotment Agent) เพื่อรองรับกระบวนการจัดสรรหุ้นส่วนเกินกว่าจำนวนที่จัดจำหน่าย (Over - Allotment) จำนวนไม่เกิน 35,885,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่เสนอขายครั้งนี้