คนไทยลงทุนหุ้นนอกเพิ่ม 19% ผลตอบแทนสูงมุ่งสู่ USA-ลักเซมเบิร์ก

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

คนไทยลงทุนหุ้นนอกเพิ่ม 19% ผลตอบแทนสูงมุ่งสู่ USA-ลักเซมเบิร์ก

Date Time: 20 เม.ย. 2565 06:01 น.

Summary

  • ปี 64 คนไทยแห่ลงทุนหุ้นนอก หวังผลตอบแทนที่สูงกว่า ปีที่ผ่านมาภาพรวมเพิ่มขึ้น 19.1% นำโดยกองทุนรวม และบริษัทประกัน แต่ยังลงทุนกระจุกตัวในประเทศศูนย์กลาง เช่น อเมริกา (USA) ลักเซมเบิร์ก

Latest

เก็บหุ้นปันผล

ปี 64 คนไทยแห่ลงทุนหุ้นนอก หวังผลตอบแทนที่สูงกว่า ปีที่ผ่านมาภาพรวมเพิ่มขึ้น 19.1% นำโดยกองทุนรวม และบริษัทประกัน แต่ยังลงทุนกระจุกตัวในประเทศศูนย์กลาง เช่น อเมริกา (USA) ลักเซมเบิร์ก ขณะที่ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนผ่านตัวแทนเพิ่มขึ้น 70-80% เหตุผลตอบแทนสูงภาครัฐคลายกฎเกณฑ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำบทความ การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศปี 2564 โดย น.ส.กัญฐณา โสภณพนา ฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน และ น.ส.รัตติยากร ลิมัณตชัย ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค พบว่า ปี 2564 คนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากถึง 19.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้มียอดคงค้างการลงทุนสะสมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 92,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ลงทุนตราสารหนี้และเงินฝากต่างประเทศลดลง

สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการลงทุนของคนไทยที่ต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกเอื้ออำนวย ประกอบกับการผ่อนคลายหลักเกณฑ์อัตราแลกเปลี่ยนใหม่ของ ธปท. ช่วยให้คนไทยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะผู้ลงทุนรายย่อย เนื่องจากมีการลดขั้นตอนก่อนออกไปลงทุน ปรับเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้ผู้ลงทุนสามารถทำได้คล่องตัว ขยายขอบเขตผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ รวมทั้งผู้ให้บริการทางการเงินเสนอผลิตภัณฑ์บนแพลต ฟอร์มที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่าย และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถลงทุนต่างประเทศได้โดยใช้เงินจำนวนไม่มาก

อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีแนวโน้มกระจุกตัวในประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินโลก เช่น สหรัฐอเมริกา และลักเซมเบิร์ก และหากพิจารณาในมิติผู้ลงทุน พบว่ากองทุนรวมในไทย กองทุนเพื่อการเกษียณ และบริษัทประกันยังเป็นนักลงทุนกลุ่มหลัก อย่างไรก็ดี กลุ่มนักลงทุนรายย่อยเป็นกลุ่มที่น่าจับตาเพราะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นมากต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธปท.ยังได้ติดตามการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน พบว่ามีการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยง มีความสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์ที่ลงทุน โดยกลุ่มกองทุนรวมที่ต้องการรักษาระดับผลตอบแทนให้คงที่ตามความต้องการของผู้ลงทุน และกลุ่มบริษัทประกันที่บริหารความเสี่ยงตามภาระผูกพันตามกรมธรรม์จะมีสัดส่วนป้องกันความเสี่ยงสูง ขณะที่ผู้ลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนน้อยกว่า

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาสัดส่วนการลงทุน จะพบว่ากองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศในปี 2564 มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนเกินครึ่งของกองทุนรวมทั้งหมด มีมูลค่าการลงทุนต่างประเทศคิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมด ขณะที่คนไทยนิยมลงทุนใน feeder fund (กองทุนรวมที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว) มากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น

ขณะที่การลงทุนของบริษัทประกัน ในปี 2564 พบว่าบริษัทประกันมียอดคงค้างหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น 10% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการเพิ่มผลตอบแทนและเพื่อให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทประกันเสนอขาย ประกอบกับการปรับปรุงเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ขยายสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศจากเดิม 15% เป็น 30% ของสินทรัพย์ลงทุน ทำให้บริษัทประกันกระจายการลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศมากขึ้นต่างจากเดิมที่นิยมลงทุนในหลักทรัพย์ไทย

สำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ในปี 2564 พบว่า ผู้ลงทุนรายย่อยมีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนผ่านตัวแทนในประเทศที่เติบโตประมาณ 70-80% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหุ้นและหน่วยลงทุนต่างประเทศ ขณะเดียวกันการลงทุนโดยไม่ผ่านตัวแทนในประเทศเริ่มมีบทบาทมากขึ้น หลังจากที่ ธปท. ผ่อนปรนเกณฑ์การลงทุนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ