CKPower ทำสถิติใหม่ กำไรสุทธิปี 64 แตะ 2,179 ล้าน โตเพิ่มขึ้น 438.4%

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

CKPower ทำสถิติใหม่ กำไรสุทธิปี 64 แตะ 2,179 ล้าน โตเพิ่มขึ้น 438.4%

Date Time: 22 ก.พ. 2565 17:28 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • CKP ทำสถิติใหม่ กำไรสุทธิปี 64 แตะ 2,179 ล้าน โตเพิ่มขึ้น 438.4% รายได้รวม 9,334.7 ล้านบาท พร้อมตั้งงบลงทุนในปี 65 ที่ 2,600 ล้านบาท

Latest


CKP ทำสถิติใหม่ กำไรสุทธิปี 64 แตะ 2,179 ล้าน โตเพิ่มขึ้น 438.4% รายได้รวม 9,334.7 ล้านบาท พร้อมตั้งงบลงทุนในปี 65 ที่ 2,600 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 65 นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP กล่าวว่า ในปี 2564 CKPower สามารถทำรายได้รวม และสร้างกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีรายได้รวม 9,334.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 2,157.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30.1% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,179.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 1,774.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 438.4%

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้รายได้ในปี 64 เพิ่มขึ้น มาจากรายได้จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น ที่เพิ่มขึ้น 98.9% และ 5.4% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีรายได้ค่าบริหารโครงการที่เพิ่มขึ้น 74.1% สาเหตุหลักมาจากการเริ่มรับรู้รายได้ค่าบริหารโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ ใน สปป.ลาว ตั้งแต่ในไตรมาสที่ 4/2563

ส่วนกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นในปี 64 มีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของรายได้จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนที่ส่วนใหญ่มาจากกำไรสุทธิของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 20.0%

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายทางการเงินของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ในปี 64 ก็ลดลงจากการทยอยชำระคืนเงินต้นและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 63 และนอกจากนี้ CKPower ยังเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี จาก 37.5% เป็น 42.5% ทำให้การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ CKPower ในปี 64 ถือเป็นสถิติใหม่ทั้งในด้านรายได้รวมและกำไรสุทธิ โดยปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง และการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผลการดำเนินงานในปี 2564 เติบโตขึ้นได้ดีกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ พิสูจน์ให้เห็นว่าแนวทางการบริหารงานของบริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนแล้ว CKPower ยังมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และมีระดับคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ หรือ Carbon Footprint ต่ำที่สุดรายหนึ่ง เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยที่ต้องการมุ่งสู่สังคมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero Greenhouse Gas Emissions ภายในปี พ.ศ.2608

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า ในปี 65 นี้ CKPower วางแผนลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy ทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งงบลงทุนสำหรับปี 2565 จำนวน 2,600 ล้านบาท เพื่อเพิ่มทุนตามสัดส่วนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ใน สปป.ลาว และลงทุนเพิ่มเติมในโครงการอื่นๆ ซึ่งกำลังการผลิตติดตั้งใหม่ทั้งหมดที่บริษัทลงทุนจะมาจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งของบริษัทที่ 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567 และเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนให้ไม่ต่ำกว่า 95% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัท

นอกจากนี้ CKPower มีแผนขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศไทย และ สปป.ลาว ด้วยหลักการ ร่วมคิด ร่วมลงมือทำ ร่วมพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและสังคม ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมที่สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานกับชุมชน โดยมีกิจกรรมในประเทศไทย เช่น การวางแผนพัฒนาพื้นที่วัดนาห้วย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ด้วยการปรับปรุงระบบระบายน้ำ วางแผนติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพื่อส่งต่อแนวทางการพัฒนาด้วยรูปแบบความพอเพียงและยั่งยืน

ส่วนกิจกรรมเพื่อสังคมใน สปป.ลาว ได้แก่ โครงการพัฒนาโรงเรียนอนุบาลหินหัวเสือ แขวงไซสมบูน สปป.ลาว เพื่อพัฒนาการศึกษาโดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ด้วยการสร้างและปรับปรุงอาคารเรียน ระบบไฟฟ้า ห้องน้ำ สนามเด็กเล่น และพื้นที่ต่างๆ ในโรงเรียน พร้อมการสนับสนุนการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดด้วยการติดเครื่องกรองน้ำจากพลังแสงอาทิตย์ และโครงการผลิตปุ๋ยจากขยะมูลฝอยที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี โดยนำขยะประเภทเศษอาหาร มาทำเป็นปุ๋ยหมักสำหรับทดลองใช้เพาะปลูกพืช และจะนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าต่อไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์