การบินไทย โชว์กำไร 9 เดือนแรกปี 64 แตะ 5 หมื่นล้าน อานิสงส์ปรับโครงสร้างหนี้

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

การบินไทย โชว์กำไร 9 เดือนแรกปี 64 แตะ 5 หมื่นล้าน อานิสงส์ปรับโครงสร้างหนี้

Date Time: 15 พ.ย. 2564 13:39 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • การบินไทย รายงานผลประกอบการ ต่อ ตลท. ทำกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของบริษัท และบริษัทย่อย รวม 51,115 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนสุทธิ 49,561 ล้านบาท

Latest


การบินไทย รายงานผลประกอบการ ต่อ ตลท. ทำกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของบริษัท และบริษัทย่อย รวม 51,115 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนสุทธิ 49,561 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ในงวดเก้าเดือนแรกของปี 2564 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งไตรมาสแรกยังทําการบินปกติ เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 70.7% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 93.9% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 13.9% ต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยที่ 67.0% และมีจํานวนผู้โดยสารที่ทําการขนส่งรวมทั้งสิ้น 0.82 ล้านคน ลดลงจากปี ก่อน 83.8%

สําหรับด้านการขนส่งสินค้า มีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ (ADTK) ต่ำกว่าปีก่อน 65.2% ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) ต่ำกว่าปีก่อน 38.4% อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 99.7% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยเท่ากับ 56.2%

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 14,990 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 29,230 ล้านบาท หรือ 66.1% สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 29,185 ล้านบาท (76.5%) รายได้จากการบริการอื่นๆ ลดลง 1,288 ล้านบาท (24.1%) เนื่องจากมาตรการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศไทยและประเทศต่างๆ แต่มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,243 ล้านบาท มีสาเหตุหลักจากการรับรู้รายได้ที่เกิดจากการหักกลบลบหนี้ ค่าบริการรายเดือน และการซ่อมบํารุงตามสัญญาที่ค้างชําระตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์ 

สําหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 36,481 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 41,695 ล้านบาท (53.3%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายดําเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่งลดลง และถึงแม้จะมีการดําเนินมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการที่ไม่สามารถทําการบินได้ตามปกติ ส่งผลให้ขาดทุนจากการดําเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,491 ล้านบาท แต่ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 12,465 ล้านบาท (36.7%) 


ในงวดเก้าเดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว-สุทธิ เป็นรายได้รวม 73,084 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • กำไรจากการขายเงินลงทุน 2,202 ล้านบาท
  • กำไรจากการขายทรัพย์สินจํานวน 628 ล้านบาท
  • กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ จํานวน 60,730 ล้านบาท
  • เงินชดเชยโครงการร่วมใจจากองค์กร 4,936 ล้านบาท
  • เงินชดเชยกรณีเลิกจ้างพนักงาน 1,222 ล้านบาท
  • การปรับปรุงรายการผลประโยชน์พนักงาน ลดลง 8,323 ล้านบาท จากการปรับโครงสร้างองค์กร และผลประโยชน์ของพนักงาน
  • ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้ และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน (กลับรายการ) จํานวน 18,440 ล้านบาท
  • ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (กลับรายการ) จํานวน 116 ล้านบาท
  • ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจํานวน 11,197 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชีของหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าดําเนินงานเครื่องบินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16

บริษัท และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิใน 9 เดือนแรกของปี 2564 จำนวน 51,115 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนสุทธิ 49,561 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิในส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 51,121 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 23.42 บาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนต่อหุ้น 22.70 บาท โดยมี EBITDA เป็นลบ จำนวน 9,639 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 5,044 ล้านบาท EBITDA Margin เท่ากับ -64.2% เปรียบเทียบกับปีก่อนที่เท่ากับ -10.4%

สำหรับรายได้ของบริษัท และบริษัทย่อย ใน 9 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้รวม 14,990 ล้านบาท ลดลง 29,230 ล้านบาท (66.1%) โดยรายได้มาจาก

  • รายได้มาจากค่าโดยสาร และค่าน้ำหนักส่วนเกิน 2,529 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 29,819 ล้านบาท
  • รายได้จากการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ จํานวน 6,435 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 634 ล้านบาท 
  • รายได้การบริการอื่นๆ ประกอบด้วยรายได้จากหน่วยธุรกิจ ได้แก่ การบริการภาคพื้น ครัวการบิน การบริการคลังสินค้า และรายได้จากกิจการสนับสนุนอื่นๆ รวมจํานวน 4,058 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,288 ล้านบาท
  • รายได้อื่น จํานวน 1,968 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,243 ล้านบาท สาเหตุหลักจากการบันทึกรายได้จากการหักกลบลบหนี้ค่าบริการ และซ่อมบํารุงเครื่องยนต์ จํานวน 45.5 MUSD หรือประมาณ 1,457 ล้านบาท ตามที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการ

อย่างไรก็ตาม บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) มีแผนขับเคลื่อนธุรกิจตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ คือ สายการบินคุณภาพสูงที่ให้บริการเต็มรูปแบบด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทัวโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งให้ความสําคัญกับลูกค้าเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางการค้า ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนมีประสิทธิภาพสูงในด้านการปฏิบัติการและความปลอดภัย และเชื่อมโยงกับภูมิภาค

สําหรับในช่วงไตรมาสที่สี่ปีนี้ บริษัทฯ เริ่มกลับมาทําการบินในเส้นทางระหวางประเทศครอบคลุมทั่วทั้งในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และออสเตรเลีย รวมทั้งหมด 36 เส้นทางบิน พร้อมบริการแบบเต็มรูปแบบและเป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค COVID-19 รองรับนโยบายการเปิดประเทศของไทย เพื่อขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ประเมินสถานการณ์และประเมินผลกระทบต่อการดําเนินธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยและเชื่อมั่นของผู้โดยสารเป็นสำคัญ.




Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์