ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ชี้แจง ก.ล.ต. เรื่องการจัดหาวัคซีน mRNA หลังชะลอทำธุรกรรม เพราะพบความเสี่ยง ย้ำบริษัทไม่ได้วางมัดจำ หรือถูกริบมัดจำที่วางไว้ตามที่เป็นข่าว
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64 ที่ผ่านมา บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ได้ทำหนังสือชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET โดยระบุว่า ตามที่สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้มีหนังสือขอให้ชี้แจงข้อมูล ฉบับลงวันที่ 4 ส.ค. 64 ถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ THG เพื่อให้บริษัทจัดทําคําอธิบาย
หรือคําชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับแผนการทําสัญญาร่วมกับกระทรวงกลาโหมเพื่อนําเข้าวัคซีน Pfizer การถูกริบเงินมัดจํารวมถึงความคืบหน้าของการดําเนินงาน รวมทั้งส่งมอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยคําชี้แจงผ่านระบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังขอให้บริษัทชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับสัญญากับตัวแทนในสหรัฐอเมริกาเพื่อสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 นั้น
โดย THG ระบุว่า นายแพทย์บุญ วนาสิน และบริษัทฯ ไม่ได้เป็นผู้ให้ข้อมูลแก่สํานักงานข่าวออนไลน์ที่กล่าวอ้าง ว่านายแพทย์บุญได้ให้สัมภาษณ์ถึงการนําเข้าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ร่วมกับกระทรวงกลาโหม โดยจะมีการทําสัญญาร่วมกัน และระบุว่าจะสามารถนําวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เข้ามาภายในเดือนสิงหาคม แต่อย่างใดโดยนายแพทย์บุญ และบริษัทฯ ไม่ทราบถึงแหล่งที่มาของการให้ข้อมูลดังกล่าว และเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64 บริษัทฯ ได้ดําเนินการแจ้งให้สํานักงานข่าวออนไลน์แก้ไขข้อมูลดังกล่าว
ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ทําสัญญาความร่วมมือกับกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยกําหนดให้บริษัทฯ เป็นพันธมิตรฝ่ายหนึ่ง มีหน้าที่เบื้องต้นในฐานะผู้นําเข้าวัคซีนโควิด-19 และสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ เอกสารลงวันที่ 9 ก.ค. 2564
นอกจากนี้ บริษัทไม่ได้วางมัดจำหรือถูกริบมัดจำที่วางไว้ (ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเงินสดหรือทรัพย์สินอื่นใด) ต่อบุคคล หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานใด ดังที่เป็นข่าว
สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับสัญญากับตัวแทนในสหรัฐอเมริกา (ตัวแทนผู้จำหน่ายฯ) เพื่อสั่งซื้อวัคซีนโควิด จำนวน 20-40 ล้านโดสนั้น บริษัทได้รับเอกสารลงนามจากตัวแทนผู้จำหน่ายฯ ดังนี้
1. หนังสือยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทผู้ผลิตวัคซีน mRNA และตัวแทนผู้จำหน่ายฯ ซึ่งออกโดยสำนักงานกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา
2. ใบสั่งซื้อ (Pro forma Invoice)
3. สัญญาจะซื้อจะขาย (Sale and Purchase Agreement)
4. ข้อตกลงการชำระเงิน (Escrow Agreement)
โดยบริษัทเอกชนที่ถือหุ้นใหญ่โดยหน่วยงานรัฐที่เป็นพันธมิตรฝ่ายไทยมีหน้าที่ลงนามในเอกสารในฐานะคู่สัญญาจะซื้อจะขายในเอกสารข้างต้น ซึ่งบริษัทได้ว่าจ้างสำนักงานกฎหมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง และประเมินความเสี่ยงด้านกลไกการชำระเงินของเอกสาร โดยได้ต่อรองเพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมของพันธมิตรและบริษัท
ทั้งนี้ พันธมิตรทุกฝ่ายได้พิจารณาร่วมกันชะลอการเข้าทำธุรกรรมกับตัวแทนจำหน่ายรายนี้ เนื่องจากไม่สามารถลดความเสี่ยงที่มีต่อพันธมิตรที่มีหน้าที่ลงนามในสัญญาได้
อย่างไรก็ตาม พันธมิตรและบริษัทตามสัญญาความร่วมมือยังดำเนินการติดต่อตัวแทนผู้จำหน่ายรายอื่นในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาด้วยความระมัดระวังเกี่ยวกับความเสี่ยงทางธุรกรรมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ชนิดวัคซีน จำนวน และระยะเวลาการนำเข้ายังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เนื่องจากตลาดโลกมีความต้องการวัคซีนสูง จึงมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของผู้ขายอยู่ตลอดเวลาระหว่างการพิจารณาเอกสารของฝั่งผู้ซื้อ
ทั้งนี้ พันธมิตรและบริษัทยังเปิดรับพันธมิตรที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาร่วมกันดำเนินการหาวัคซีนมาให้ได้เร็วที่สุด บริษัทหวังว่าความพยายามด้วยความตั้งใจดำเนินการของบริษัทจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศได้ฝ่าวิกฤติและประชาชนชาวไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด รวมถึงไวรัสกลายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้.
(อ่านทั้งหมด ที่นี่)