JWD ซื้อหุ้นอีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล ลุยธุรกิจท่าเรือขนส่งสินค้า

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

JWD ซื้อหุ้นอีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล ลุยธุรกิจท่าเรือขนส่งสินค้า

Date Time: 27 ก.ค. 2564 12:37 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ เข้าซื้อหุ้น อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล รวม 20% ผนึกความร่วมมือเป็นพาร์ทเนอร์กับ PSA ผู้ประกอบการท่าเรือรายใหญ่ที่สุดในโลก

Latest


เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ เข้าซื้อหุ้น อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล รวม 20% ผนึกความร่วมมือเป็นพาร์ทเนอร์กับ PSA ผู้ประกอบการท่าเรือรายใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมลุยธุรกิจท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศรายใหญ่ในแหลมฉบัง 

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 64 นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 64 ที่ผ่านมาประชุมคณะกรรมการ หรือบอร์ด บริษัทฯ มีมติอนุมัติให้ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี ทรานส์ปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ JWD เข้าซื้อหุ้นรวม 20% ในบริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด หรือ ESCO

โดย ESCO ถือเป็นผู้ประกอบการท่าเรือคอนเทนเนอร์รายใหญ่ในท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และผู้ให้บริการสถานีบรรจุและขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ลาดกระบัง Inland Container Depot หรือ ICD โดยการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้จะส่งผลให้ JWD เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ PSA ซึ่งเป็นผู้บริหารและดำเนินการท่าเรือขนส่งสินค้าระดับโลกของประเทศสิงคโปร์ เนื่องจาก PSA เป็นผู้ถือหุ้นหลักของ ESCO

"การลงทุนที่สำคัญในครั้งนี้นับเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ในรอบปีของบริษัทฯ ซึ่งจะมาจากการออกหุ้นกู้ในช่วงที่ผ่านมาและกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน โดยในช่วงแรก เจดับเบิ้ลยูดี ทรานส์ปอร์ต จะเข้าถือหุ้น 15% ใน ESCO และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นเป็น 20% ภายใน 6-12 เดือนข้างหน้า"

ปัจจุบัน ESCO เป็นผู้ประกอบการท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ 3 แห่ง ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ได้แก่ (1) ท่าเรือ ESCO (B3) ที่เป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการเองโดยได้รับสัมปทานโดยตรงจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (2) ท่าเทียบเรือ LCB1 (B1) และ (3) ท่าเทียบเรือ LCMT (A0) ซึ่ง ESCO มีส่วนร่วมในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 แห่งดังกล่าว

โดยในปี 2563 ท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้ง 3 แห่ง ให้บริการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์สินค้าที่ผ่านเข้า-ออกตลอดทั้งปี รวมทั้งสิ้นกว่า 2 ล้าน TEU คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของปริมาณตู้คอนเทนเนอร์สินค้าที่ผ่านเข้า-ออกในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังในปีที่ผ่านมา และคาดว่าความต้องการใช้บริการท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศ มีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว หลังสถานการณ์ COVID-19 ในสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปเริ่มคลี่คลาย

ขณะเดียวกัน ESCO ยังเป็น 1 ใน 6 ผู้ให้บริการสถานี ICD ลาดกระบัง เพื่อรองรับการบรรจุและขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ของสายการเดินเรือต่าง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง โดยมีรายได้จากการให้บริการลานจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ คลังบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก และนำเข้าพร้อมบริการพิธีการทางศุลกากร และการให้บริการขนส่งบริหารจัดการและซ่อมแซมตู้คอนเทนเนอร์โดยทางบกและทางราง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจขนส่งสินค้าของ JWD ในการนำเสนอบริการเพิ่มเติมให้แก่ผู้ใช้บริการสถานี ICD ลาดกระบังอีกด้วย

นายชวนินทร์ กล่าวว่า บริษัทฯ คาดว่าจะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนใน ESCO ไม่เกินเดือนต.ค. 64 นี้เป็นอย่างช้า โดยการเข้าลงทุนใน ESCO จะเป็นการรุกขยายธุรกิจสู่การเป็นผู้ให้บริการท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศรายใหญ่ในแหลมฉบังอย่างเต็มตัวของ JWD จากปัจจุบันที่ได้รับสิทธิ์บริหารท่าเรือชายฝั่ง A ในท่าเรือแหลมฉบัง จากการท่าเรือแห่งประเทศไทย และดำเนินธุรกิจท่าเรือขนส่งสินค้า MIPEC ในเมืองไฮฟง ประเทศเวียดนาม ผ่านการถือหุ้นใน Transimex ผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่จากเวียดนาม

การขยายสู่ธุรกิจให้บริการท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศครั้งนี้ จะเพิ่มศักยภาพแก่บริษัทฯ ด้านการให้บริการโลจิสติกส์แบบ Multimodal Transportation สามารถเชื่อมต่อการให้บริการขนส่งสินค้าหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางรถ ทางราง ทางน้ำ และเพิ่มโอกาสขยายฐานลูกค้าจากบริการท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ และบริการสถานี ICD ลาดกระบัง ไปสู่การให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจร

ปัจจุบัน JWD ให้บริการขนส่งสินค้าในรูปแบบ Multimodal Transportation เช่น การขนส่งและเคลื่อนย้ายสินค้าทั่วไป ยานยนต์ สินค้าอันตรายและเคมีภัณฑ์, การขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ มายังท่าเทียบเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง, การยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าที่ขนส่งทางรถไฟจากภาคอีสาน รวมทั้งจากภาคอุตสาหกรรมหลักในโซน EEC จังหวัดระยองสู่ท่าเรือแหลมฉบัง

ดังนั้นการลงทุนครั้งนี้ทำให้บริษัทฯ สามารถขยายฐานลูกค้าและการให้บริการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ทั้งในฝั่งการให้บริการจากกรุงเทพฯ มายังท่าเรือแหลมฉบัง และจากสถานี ICD ลาดกระบัง มายังท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงการนำฐานข้อมูลสินค้าที่ผ่านเข้า-ออกท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมาวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาบริการด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์