ธนาคารกรุงไทย ประกาศกำไรไตรมาส 2/64 แตะ 6,011 ล้าน หลังได้สินเชื่อหนุน พร้อมคุมค่าใช้จ่าย และติดตามคุณภาพหนี้ใกล้ชิด ดัน Coverage ratio เพิ่มขึ้น 160.7% พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มฝ่าวิกฤติ
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 64 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังเผชิญความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงและขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของลูกค้าประชาชน ธนาคาร และบริษัทย่อยจึงใช้หลักการความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ
รวมถึงการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) ในระดับสูง โดยในช่วงไตรมาส 2/2564 เรายังคงรักษาระดับการตั้งสำรองฯในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
สำหรับผลการดำเนินการประจำไตรมาส 2/2564 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้ เท่ากับ 16,616 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 จากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัว ซึ่งมีสาเหตุหลักจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ที่เพิ่มขึ้นตามสินเชื่อที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากไตรมาสที่ผ่านมา
โดย NIM ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.55 จากร้อยละ 2.50 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับ ธนาคารบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 3.6 โดย Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 42.41 ลดลงจากร้อยละ 44.25 จากผลประกอบการดังกล่าวทำให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 6,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 จากไตรมาสที่ผ่านมา
เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2563 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้ ลดลงร้อยละ 17.3 จากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ลดลง สาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในช่วงเดียวกันของปีก่อนธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ
อย่างไรก็ตาม จากการที่ธนาคารมีการบริหารต้นทุนทางการเงินและสินเชื่อที่ขยายตัวได้ดี รวมถึงการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว อีกทั้งการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563 ลดลงร้อยละ 45.0 โดยพิจารณาถึง Coverage ratio ที่อยู่ในระดับสูงเพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับผลประกอบการงวดครึ่งแรกของปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยได้พิจารณาถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ในระดับสูงจำนวน 16,154 ล้านบาท ส่งผลให้ Coverage ratio ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 160.7 เทียบกับร้อยละ 147.3 จากสิ้นปี 2563 ด้านคุณภาพสินทรัพย์ NPLs Ratio-Gross ปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 3.54 จากร้อยละ 3.81 ณ สิ้นปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้ เท่ากับ 32,600 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ลดลงร้อยละ 9.3 ตามรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง จากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในช่วงเดียวกันของปีก่อนธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ อย่างไรก็ตาม จากการที่ธนาคารมีการบริหารต้นทุนทางการเงินและสินเชื่อที่ขยายตัวได้ดี โดย NIM ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.53 จากร้อยละ 3.15
โดยรายได้จากการดำเนินงานที่ลดลงทำให้ Cost to Income ratio ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 43.33 จากร้อยละ 40.74 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าธนาคารจะสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้ลดลงได้ร้อยละ 3.5 ส่งผลให้กำไรสุทธิ (ส่วนที่เป็นของธนาคาร) เท่ากับ 11,590 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ณ 30 มิ.ย. 64 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 313,012 ล้านบาท และมีเงินกองทุนทั้งสิ้นเท่ากับ 378,887 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 15.99 และร้อยละ 19.35 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงตามลำดับ โดยในเดือน มี.ค. 64 ธนาคารได้ออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อผู้ลงทุนในต่างประเทศจำนวน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้แข็งแกร่งมากขึ้น รองรับการเติบโตของธุรกิจธนาคารในอนาคต
นอกจากนี้ ธนาคารได้ทำสัญญากับ บมจ. บัตรกรุงไทย เพื่อขายหุ้นของ บจ. กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่งในสัดส่วนร้อยละ 75.05 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของธนาคารและบริษัทย่อยในการให้บริการผลิตภัณฑ์เช่าซื้อสำหรับลูกค้ารายย่อยอย่างครบวงจร.