ttb เผยกำไรไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 2,534 ล้าน คาดโควิดกระทบเศรษฐกิจไทยต่อ

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ttb เผยกำไรไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 2,534 ล้าน คาดโควิดกระทบเศรษฐกิจไทยต่อ

Date Time: 20 ก.ค. 2564 16:55 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ttb เผยกำไรสุทธิไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 2,534 ล้านบาท ชะลอลง 8.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 พร้อมใช้กลยุทธ์ ด้วยความระมัดระวัง ไม่เร่งเติบโตสวนทางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

Latest


ttb เผยกำไรสุทธิไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 2,534 ล้านบาท ชะลอลง 8.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 พร้อมใช้กลยุทธ์ ด้วยความระมัดระวัง ไม่เร่งเติบโตสวนทางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 64 นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/2564 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 2,534 ล้านบาท ชะลอลง 8.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดเป็นวงกว้างและสร้างแรงกดดันต่อรายได้มากขึ้น แต่รับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการ การบริหารค่าใช้จ่าย และคุณภาพสินทรัพย์ ทำให้ทีเอ็มบีธนชาต ยังคงทำได้ตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในไตรมาส 2 มีความท้าทายมากขึ้นจากเหตุโควิด-19 ระบาด ระลอกเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา รุนแรงมากกว่าการระบาดที่เคยเกิดขึ้นในไตรมาส 1 สำหรับทีเอ็มบีธนชาต มีภารกิจสำคัญในเรื่องการรวมธนาคาร แม้จะเผชิญกับข้อจำกัดจากสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่อง แต่จากการเตรียมงานและความทุ่มเทของพนักงานก็ทำให้ภารกิจรวมธนาคารเสร็จสมบูรณ์ได้เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา เป็นไปตามกรอบระยะเวลา 18 เดือนที่วางไว้

ส่วนการดำเนินงานในไตรมาส 2 ธนาคารยังคงเน้นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่เร่งการเติบโตสวนทางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง เนื่องจากไม่ต้องการสร้างความเสี่ยงเพิ่ม เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินไว้ให้พร้อมสำหรับการเติบโตเมื่อเศรษฐกิจเอื้ออำนวย

ทั้งนี้ แม้มีแรงกดดันด้านรายได้ แต่เป้าหมายหลักด้านอื่นๆ ธนาคารยังคงทำได้ดีตามแผน ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการ โดยเฉพาะจากด้านงบดุล หรือ Balance Sheet Synergy และด้านต้นทุน หรือ Cost Synergy การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังรุนแรง สิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และการยกระดับมาตรการด้านสุขอนามัยเพื่อดูแลความปลอดภัยของพนักงานทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยของพนักงานทัพหน้า เช่น พนักงานสาขาและศูนย์บริการลูกค้า ซึ่งหมายรวมถึงความปลอดภัยของลูกค้าที่ยังมีความจำเป็นต้องเข้ามาใช้บริการที่สาขา

สำหรับเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 64 นี้ โควิดยังจะมีผลกระทบเช่นเดิม ภาพรวมเชิงกลยุทธ์จึงยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาหลังจากควบรวมธนาคารแล้ว คือ การดำเนินการตามแผนการรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการด้านรายได้ หรือ Revenue Synergy พัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ด้านค่าใช้จ่ายนั้น จะยังมีการรับรู้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการรวมกิจการเหลืออยู่บางรายการในช่วงครึ่งปีหลัง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับแผนการดูแลพนักงานในช่วงโควิด-19 ทำให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้จะยังอยู่ใกล้กับกรอบด้านบนของเป้าหมายธนาคารที่ 47%-49%

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ยังเน้นการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่เอื้อให้ธนาคารสามารถช่วยเหลือลูกค้าและดูแลคุณภาพสินทรัพย์ได้ดียิ่งขึ้น โดยนับตั้งแต่การระบาดในปี 63  ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปมากกว่า 7.5 แสนราย

ปัจจุบันยอดสินเชื่อที่อยู่ภายใต้โปรแกรมความช่วยเหลือมีสัดส่วนประมาณ 14% ของสินเชื่อรวม ภายใต้โปรแกรมให้ความช่วยเหลือ การปรับโครงสร้างการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับสภาพคล่องที่เปลี่ยนไปของลูกค้าช่วยให้ลูกค้าส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ลดการผิดนัดชำระหนี้ และชะลอการเกิดหนี้เสียใหม่ 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการแก้หนี้เสียที่มีอยู่เดิม เช่น การขาย ทำได้ช้าลงเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจในสถานการณ์ปกติ ดังนั้น โดยรวมแล้วยอดหนี้เสียและสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) จะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 ธนาคารมียอดหนี้เสียอยู่ที่ 43,543 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ 43,400 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน แต่เนื่องจากสินเชื่อชะลอลง สัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมจึงขยับจาก 2.75% มาอยู่ที่ 2.89% ซึ่งยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์