โควิดระบาดรอบ 3 ฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ทำ SET ขึ้นน้อยกว่าหุ้นโลก

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

โควิดระบาดรอบ 3 ฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ทำ SET ขึ้นน้อยกว่าหุ้นโลก

Date Time: 6 พ.ค. 2564 09:48 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • บล.ทิสโก้คาด 1-2 เดือนนี้หุ้นไทยยังปรับขึ้นน้อยกว่าหุ้นโลกต่อ หลังถูกกดดันจาก COVID-19 ระบาดระลอก 3 ฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า เผยนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมจ่อปรับเป้า GDP ลง

Latest


บล.ทิสโก้คาด 1-2 เดือนนี้หุ้นไทยยังปรับขึ้นน้อยกว่าหุ้นโลกต่อ หลังถูกกดดันจาก COVID-19 ระบาดระลอก 3 ฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า เผยนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมจ่อปรับเป้า GDP ลง

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 64 นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนี MSCI World ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% เดินหน้าทำสถิติสูงสุดใหม่ ทำให้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันดัชนี MSCI World ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 7% ส่งผลให้มูลค่าหุ้นโลกขึ้นมาค่อนข้างสูงโดยมีอัตราราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 20.0 เท่า ขณะที่ปีหน้าอยู่ที่ 17.8 เท่า

อย่างไรก็ตาม บล.ทิสโก้ ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นโลกในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า เพราะมีปัจจัยบวกสำคัญเป็นตัวผลักดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อ ได้แก่ 1. นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากของธนาคารกลางสำคัญในต่างประเทศ ทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และแผนการซื้อสินทรัพย์เป็นจำนวนมหาศาล

2. แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกแข็งแกร่งมาก สะท้อนในดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (Composite PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย. ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากอุปสงค์ของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง และภาคธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินตามปกติ ท่ามกลางการผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ หลังมีการแจกจ่ายวัคซีนแพร่หลายมากขึ้น

แต่ตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับตัวขึ้นน้อยกว่าหุ้นโลก (Underperform) เพราะถูกกดดันจากสถานการณ์ระบาด COVID-19 ในประเทศระลอก 3 ทำให้ทิศทางตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นจะแกว่งไปตามยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเป็นสำคัญ หากตัวเลขผู้ติดเชื้อชะลอตัวจะกระตุ้นตลาดฟื้นตัวขึ้นได้ ในทางกลับกันหากตัวเลขผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้นอาจนำไปสู่การยกระดับมาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นขึ้นอีก ซึ่งจะกดดันภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ล่าช้าออกไป

โดย บล.ทิสโก้ คาดว่ามีโอกาสที่นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมจะปรับลดเป้าหมาย GDP ของไทยลง ภายหลังที่หน่วยงานของรัฐฯ จะประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2564 ออกมาในวันที่ 17 พ.ค. 64 นี้ โดยปัจจุบันนักวิเคราะห์คาดการณ์ GDP ไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2% ปลายๆ ถึง 3% ต้นๆ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามหลังจากนี้ คือ ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yields) เพราะจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อทิศทางตลาดหุ้นโลกในครึ่งปีหลัง โดย บล.ทิสโก้ แนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (10Y US Bond Yield) กลับมาปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1.7-1.8% ขึ้นไป คาดว่าจะกดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับฐานลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย

นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า ในช่วงครึ่งปีหลังต้องติดตามการส่งสัญญาณลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE Tapering) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) รับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเงินเฟ้อที่มีโอกาสเร่งตัวขึ้น เพราะประเด็น QE Tapering จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความผันผวนได้ โดยปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา Bloomberg ได้สำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์เกือบ 60% คาดว่า FED จะเริ่มประกาศทำ QE Tapering ภายในปีนี้ โดยส่วนใหญ่ หรือประมาณ 45% คาด FED จะเริ่มประกาศทำ QE Tapering ในช่วงไตรมาส 4/2564 ซึ่งถือว่าเร็วขึ้นกว่าผลสำรวจเดิมในเดือนมีนาคมที่ส่วนใหญ่คาดเป็นช่วงไตรมาส 1/2565 หากเป็นเช่นนั้น บล.ทิสโก้มองว่า FED อาจเริ่มส่งสัญญาณลดการอัดฉีดสภาพคล่องในช่วงกลางปี ก่อนที่จะประกาศในช่วงปลายปีนี้และดำเนินการลดจริงในช่วงต้นปีหน้า

สำหรับหุ้นที่ บล.ทิสโก้ แนะนำในเดือนนี้จะเน้นหุ้นที่แนวโน้มกำไรจะออกมาดี มีประเด็นบวกหนุนระยะสั้นที่หลากหลาย เช่น ธีมหุ้นรับอานิสงส์การระบาดระลอกใหม่ ได้แก่ BCH และ STGT หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก-การส่งออก-ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้น ได้แก่ JWD SCGP และTVO หุ้นที่คาดจะเข้าคำนวณในดัชนีต่างๆ สำหรับดัชนี MSCI คาดว่าหุ้น SCGP จะได้รับประโยชน์ และ ดัชนี SET50 คาดว่าหุ้น STGT จะได้รับประโยชน์

สุดท้ายคือหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวอื่นๆ ได้แก่ EASTW และ HMPRO เพราะฉะนั้น หุ้นแนะนำในเดือนพฤษภาคม คือ BCH EASTW HMPRO JWD SCGP STGT และ TVO ด้านแนวรับสำคัญเดือนนี้อยู่ที่ 1,570-1,575 แนวรับต่อมาคือ 1,545-1,550 จุด และ 1,530 จุด และแนวต้านสำคัญ คือ 1,600-1,610 จุด และแนวต้านถัดไปคือ 1,620-1,630 จุด (หากถึงระดับนี้เน้นขายเหมือนเดือนก่อนหน้าที่มองโอกาสการปรับขึ้นของตลาดหุ้นเริ่มจำกัด) และ 1,650 จุด ตามลำดับ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ