ส่องผลประกอบการธนาคารไตรมาส 1/64 กำไรยังเติบโต แม้เศรษฐกิจยังซบเซา

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ส่องผลประกอบการธนาคารไตรมาส 1/64 กำไรยังเติบโต แม้เศรษฐกิจยังซบเซา

Date Time: 21 เม.ย. 2564 10:56 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีฯ และธนาคารกรุงไทย เผยผลประกอบการไตรมาส 1/64 ส่วนใหญ่มีกำไร แม้เศรษฐกิจยังซบเซา

Latest


ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีฯ และธนาคารกรุงไทย เผยผลประกอบการไตรมาส 1/64 ส่วนใหญ่มีกำไร แม้เศรษฐกิจยังซบเซา

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 64 ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ และบริษัทย่อย หรือ BBL รายงานว่า กำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2564 จำนวน 6,923 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,525 ล้านบาท จากไตรมาส 4 ปี 2563 โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย เงินรับฝากลดลงจากการบริหารต้นทุนเงินรับฝาก และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.17

สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 จากค่าธรรมเนียมการให้บริการกองทุนรวมและบริการประกันผ่านธนาคาร และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 51.1 ทั้งนี้ ธนาคารยังคงตั้งสำรองตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 6,326 ล้านบาท

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน มี.ค.64 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,369,276 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปี 2563 สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อน โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 187.3

ด้านสภาพคล่อง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 2,904,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 จากสิ้นปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นจากเงินรับฝากทุกประเภท สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝาก อยู่ที่ร้อยละ 81.6 สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ด้านเงินกองทุน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 18.4 ร้อยละ 15.9 และร้อยละ 15.1 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลา รวมถึงการฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจยังมีความแตกต่างกัน รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ดำเนินการออกมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ประสบปัญหาที่แตกต่างกัน และเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตลอดจนเพื่อรองรับให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ภายหลังโควิด-19 ตามฐานวิถีชีวิตใหม่ ธนาคารมีความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลกำลังเผชิญในขณะนี้

ธนาคารกรุงเทพ จึงยังคงเน้นการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลือกับลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ขณะที่ยังคงรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ธนาคารกรุงศรีฯ เผยผลกำไรไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 6,505 ล้านบาท

เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) BAY กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการส่งออก สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าหลักที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการทางเศรษฐกิจที่ออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ

ทั้งนี้ การกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ กรุงศรีฯจึงปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มาอยู่ที่ 2.2.% จาก 2.5%

สำหรับประกอบการไตรมาส 1/64 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ มีกำไรสุทธิจำนวน 6,505 ล้านบาท จากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ซึ่งรวมสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ 1.63% ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ท้าทาย คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังคงแข็งแกร่งภายใต้การบริหารความเสี่ยงด้วยความรอบคอบระมัดระวัง โดยธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) เพียง 1.99% และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ในระดับสูงที่ 175.0%

โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 กรุงศรีฯ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินฝาก และเป็นหนึ่งในห้าสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.84 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.89 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.7 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 276 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.85% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 12.80%

ธนาคารกรุงไทย เผยกำไรสุทธิไตรมาส 1/64 แตะ 5,578 ล้าน 

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ แต่ธนาคารกรุงไทย และบริษัทย่อยยังคงเติบโตเงินให้สินเชื่อจากสิ้นปีที่ 63 ที่ผ่านมา โดยในไตรมาส 1/2564 ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงรักษาการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ในระดับที่สูง

โดยธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/2564 เท่ากับ 15,984 ล้านบาท ขยายตัว 9.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/63 จากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยมีสาเหตุหลักจากการขยายตัวของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ทั้งในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้จากการดำเนินงานอื่น

จากผลประกอบการดังกล่าว ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 5,578 ล้านบาท ขยายตัว 61.6% จากไตรมาสที่ผ่านมา โดยธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในจำนวน 8,058 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.9 จากไตรมาส 4/2563 เนื่องจากได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) ในระดับที่สูงในไตรมาส 4/2563

ทั้งนี้ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงรักษาระดับ Coverage Ratio ในระดับที่สูงเท่ากับร้อยละ 153.9 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 เทียบกับร้อยละ 147.3 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพก่อนหักค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) ร้อยละ 3.66 ลดลงเทียบกับ ณ 31 ธันวาคม 2563 ที่เท่ากับร้อยละ 3.81

ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงร้อยละ 1.7 แม้เงินให้สินเชื่อเติบโตดีที่ร้อยละ 1.1 จากสิ้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นผลจากอัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) ลดลงเป็นร้อยละ 2.50 จากร้อยละ 2.59 ในด้านของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆลดลงร้อยละ 9.0 จากค่าใช้จ่ายทางการตลาด ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 44.25 ลดลงจากไตรมาส 4/2563 ที่ร้อยละ 48.78

อย่างไรก็ตาม ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 312,059 ล้านบาท (ร้อยละ 15.88 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง) โดยมีเงินกองทุนทั้งสิ้นเท่ากับ 377,966 ล้านบาท (ร้อยละ 19.23 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง) โดยธนาคารได้ออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ ที่สามารถนับเป็น เงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อผู้ลงทุนในต่างประเทศ จำนวน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้แข็งแกร่งมากขึ้น อันจะช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุนและรองรับการเติบโตในอนาคต

นอกจากนี้ ธนาคารได้เข้าทำสัญญากับบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยธนาคารตกลงที่จะขายหุ้นของบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด คิดเป็นร้อยละ 75.05 การซื้อขายหุ้นดังกล่าวจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขบังคับก่อน ทั้งนี้ การเข้าทำรายการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพของธนาคารและบริษัทย่อย ในการให้บริการผลิตภัณฑ์เช่าซื้อสำหรับลูกค้ารายย่อยอย่างครบวงจร.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์