นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ได้ประสานไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (free float) ของบริษัทจดทะเบียน ให้สามารถซื้อขายได้อย่างคล่องตัวในราคาที่เหมาะสม และพิจารณาทบทวนมาตรการขึ้นเครื่องหมายเตือนผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นที่มี free float ต่ำ รวมถึงมาตรการอื่นใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน
โดยหลักเกณฑ์ free float มีความสำคัญอย่างมากต่อสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียน และยังเป็นหนึ่งในเกณฑ์การคัดเลือกหลักทรัพย์สำหรับดัชนี SET 50 ดัชนี SET 100 และดัชนี SETHD อีกด้วย อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีการปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อปี 51 จึงเห็นว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯควรพิจารณาทบทวนว่ายังสะท้อนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างแท้จริงอยู่หรือไม่ เพราะสภาวะตลาดปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ จากตัวอย่างกรณีของราคาหุ้น DELTA ที่ในช่วงที่ผ่านมา ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่ง ก.ล.ต.ได้ประสานไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ติดตามสภาวะการซื้อขายของหลักทรัพย์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและป้องกันการบิดเบือนราคาและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ให้ผิดไปจากสภาพปกติ โดย ก.ล.ต. พบว่าปัจจัยหนึ่งเป็นผลจากหุ้น DELTAมี free float ที่แท้จริงค่อนข้างต่ำ ประกอบกับราคาซื้อขายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ตามหลักเกณฑ์ปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายให้มีการขึ้นเครื่องหมายเตือน ดังนั้น ก.ล.ต. จึงได้ขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ free float และมาตรการขึ้นเครื่องหมายเพื่อเตือนผู้ลงทุน โดยเฉพาะกรณีการเปลี่ยนแปลงราคาอย่างรวดเร็วของหุ้นที่มี free float ต่ำ และมาตรการอื่นที่จะช่วยคุ้มครองผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น DELTA ได้ปรับตัวร้อนแรงในช่วงปลายปี 63 โดยมีแรงซื้อหนาแน่นในช่วง 1 เดือนสุดท้ายของปี ราคาขึ้นไปสูงสุดที่ 838 บาท ทั้งที่ในช่วงต้นปี ในเดือน มี.ค.63 ราคาหุ้นถูกกดลงไปต่ำสุด 27 บาท ทำให้นักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักต่างออกมา เตือนว่าราคาหุ้นปรับตัวสูงจนเกินปัจจัยพื้นฐานไปมากแล้ว ทำให้มีแรงเทขายกดราคาหุ้นลงมาจนมาปิดตลาดสิ้นปี 63 ที่ 486 บาท และเมื่อเปิดตลาดปี 64มีแรงซื้อดันราคากลับขึ้นมาอีกครั้งสูงกว่า 700 บาท จนกระทั่งถูกสั่งให้ซื้อขายได้เฉพาะบัญชีเงินสด (แคชบาลานซ์) ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากจำนวนหุ้นที่ซื้อขายเปลี่ยนมืออยู่ในตลาดมีจำนวนไม่มาก ทำให้สามารถควบคุมหรือกำหนดราคาให้ขึ้นหรือลงได้.