2 กูรูฟันธงหุ้นไทยปี 64 ยังไปต่อ!! แม้ต้องเผชิญการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

2 กูรูฟันธงหุ้นไทยปี 64 ยังไปต่อ!! แม้ต้องเผชิญการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่

Date Time: 5 ม.ค. 2564 05:30 น.

Summary

  • แม้ขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ดีดกลับขึ้นมา เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่การระบาดของโควิด-19 ยังรุนแรง ทำให้หลายธุรกิจล้มหายตายจาก แต่ขณะเดียวกันก็ได้สร้างโอกาสใหม่ๆให้อีกหลายธุรกิจรับวิถีใหม่ “New

Latest

เก็บหุ้นปันผล

ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดไทยปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัยลบที่ไม่คาดคิด โดยเฉพาะปัจจัยลบ จากวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลกในช่วงต้นปีกดดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างรุนแรง ไปทำจุดต่ำสุดในรอบ 11 ปี

โควิด-19 ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก กดดันราคาน้ำมันดิ่งเหว ขณะที่เงินทุนไหลเข้าไปลงทุน “หลบภัย” (SAFE HAVEN) ใน “ทองคำ” หนุนส่งให้ราคาทองคำทะยานขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

แม้ขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ดีดกลับขึ้นมา เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่การระบาดของโควิด-19 ยังรุนแรง ทำให้หลายธุรกิจล้มหายตายจาก แต่ขณะเดียวกันก็ได้สร้างโอกาสใหม่ๆให้อีกหลายธุรกิจรับวิถีใหม่ “New normal”

ขณะที่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็น “โจ ไบเดน” และอังกฤษเริ่ม BREXIT ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ส่วนเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว ขณะที่กระแสเงินทุนสภาพคล่องท่วมโลก และสถานการณ์การเมืองภายในประเทศยังคงมีความไม่แน่นอน

แล้วทิศทางตลาดหุ้นไทยในปี 64 จะเป็นอย่างไร จะสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน หุ้นกลุ่มไหนเสี่ยงหรือน่าลงทุน

2 กูรูนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญตลาดหุ้นไทยจะมาช่วยให้มุมมองและข้อแนะนำการลงทุนปี 64


**********

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

ให้คำแนะนำการลงทุนปี 64 ว่า ควรจัดสรรเงินลงทุน 50% ในตลาดหุ้นไทย เพราะมองว่าราคาหุ้นไทยยังไม่แพง มีโอกาสกลับมาปรับตัวขึ้น outperform ได้ในปีนี้ ส่วนอีก 30% จัดสรรไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยเน้นธุรกิจที่เป็นเมกาเทรนด์ เช่น เทคโนโลยีที่เน้นนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่ และธุรกิจที่ได้อานิสงส์ การใช้ชีวิตแบบ New Normal ขณะที่อีก 10% ลงทุนในทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโควิดที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้งและอีก 10% ให้ถือเป็น เงินสดหรือลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ

“ไพบูลย์” ฟันธงว่าหุ้นไทยปี 64 มีแนวโน้มอยู่ในขาขึ้นด้วย 4 เหตุผลสนับสนุน ดังนี้

1.เศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวชัดเจน ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับประมาณการเติบโตของ GDP โลกปี 64 ขึ้นเป็น 5.2% ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 10 ปี และมีโอกาสปรับขึ้นอีก ถ้าบริษัทยาต่างๆผลิตวัคซีนต้านโควิดได้มากขึ้นและเร็วขึ้น โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกดีขึ้นต่อเนื่อง

ที่สำคัญคือดอกเบี้ยทั่วโลก ยังไม่น่ากลับเข้าสู่การเป็น “ขาขึ้น” รวมถึงเม็ดเงินตามมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (QE) ของทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่อัดฉีดเข้าระบบ น่าจะยังอยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปี สร้างแรงกดดันให้นักลงทุนสถาบันทั่วโลก จำเป็นต้องถือหุ้นเพิ่มขึ้น และภาวะสภาพคล่องล้นระบบ น่าจะช่วยให้ Valuations ของตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตต่อไปอีกระยะหนึ่ง

2.เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัว โดย บล.ทิสโก้ คาดการณ์ปี 64 GDP ไทยจะขยายตัว 3.4% มีปัจจัยหนุนจากการส่งออกที่ฟื้นตัว การลงทุนภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีออกมาอีกต่อเนื่อง รวมกับมาตรการช่วยเหลือการเงินแก่ SME ช่วงที่ผ่านมา น่าจะทำให้สถานะการเงินของ SME เริ่มดีขึ้นกว่าปี 63 ช่วยให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นบวกมากขึ้น

3.นักวิเคราะห์ประเมินผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย มีโอกาสขยายตัวสูงถึง 40-50% ในปี 64 สาเหตุหลักนอกจากฐานที่ต่ำมากในปี 63 ยังมาจากการฟื้นตัวของกำลังซื้อทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลง และอีกเหตุผลของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของกำไร คือการกันสำรองหนี้สูญของธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มลดลงมากในปีนี้ จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งผลประกอบการที่ฟื้นตัว จะเป็นแรงหนุนให้ตลาดหุ้นไทยกลับสู่ “ขาขึ้น” ในปีนี้

4.แรงซื้อจากต่างชาติมีแนวโน้มไหลเข้าซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องตลอดทั้งปี จากเหตุผลที่ดัชนีหุ้นไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด ขณะที่ตลาดหุ้นชั้นนำส่วนใหญ่ดัชนีสูงกว่าระดับก่อนโควิดไปแล้ว และการถือครองหุ้นไทยโดยนักลงทุนต่างชาติลดลงไปมาก เพราะขายหุ้นออกไปถึง 600,000 ล้านบาทตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่หุ้นในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่เป็นหุ้น Cyclical หรือ “หุ้น วัฏจักรเศรษฐกิจ” กำลังเป็นที่ต้องการของนักลงทุนในภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว รวมทั้งยังมีโอกาสสูงที่นักลงทุนจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน Emerging Markets เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่คาดว่าได้ประโยชน์สูงสุดจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว

โควิดยังเป็นปัจจัยเสี่ยง

สำหรับปัจจัยเสี่ยง ปี 64 ที่ต้องติดตามใกล้ชิด “ไพบูลย์” ระบุว่า ต้องรอดูว่าโอกาสที่การระบาดของโควิด-19 ในประเทศระลอกที่ 3 และ ระลอกที่ 4 จะตามมาเหมือนในต่างประเทศหรือไม่ และจะรุนแรงแค่ไหน?

ขณะที่วัคซีนต้านโควิดจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดทั่วโลกได้มากน้อยแค่ไหน? และเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะถูกเบิกจ่ายได้รวดเร็ว และจะสามารถกระตุ้นกำลังซื้อได้แค่ไหน? รวมถึงแบงก์ชาติจะสามารถจัดการกับปัญหาบาทแข็งได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่? ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาด

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนปีนี้ “ไพบูลย์” แนะนำหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์-พลังงาน -ปิโตรเคมี-โรงพยาบาล และหุ้นกลุ่มสื่อสาร

วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทรีนีตี้

“วิศิษฐ์” ระบุว่า ปี 63 การเกิดโรคระบาดไวรัสโควิด-19 จนนำไปสู่การล็อกดาวน์ หรือการปิดประเทศหรือเมืองในหลายประเทศต่างๆ

ทั่วโลก ทำให้เกิด “ภาวะการช็อกทางเศรษฐกิจ” ทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ และรัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลกอัดฉีดเม็ดเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรวมกันกว่า 22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านนโยบายการเงิน QE หรือการซื้อพันธบัตรรัฐบาลทั้งในประเทศสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ

การออกมาตรการการคลังของหลายประเทศ เช่น การให้เงินอุดหนุนพิเศษ การให้เงินช่วยค่าใช้จ่ายต่างๆแก่ประชาชน ทำให้ดัชนีภาคการผลิต ที่ได้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ Restocking ทั่วโลก จนส่งผลให้ดัชนีผู้จัดซื้อ PMI ปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง และสูงเลยระดับช่วงก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19

ด้วยเม็ดเงินอัดฉีดขนาดนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปลายปี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เช่น ดาวโจนส์ ทำสถิติสูงสุดใหม่มากกว่าก่อนเกิดเหตุโควิด-19 ส่วนตลาดหุ้นจีนก็ฟื้นตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าก่อนเกิดโควิด-19 เช่นกัน

“วิศิษฐ์” กล่าวต่อว่า ปี 64 จะเป็นปีที่เราเห็นการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 โดยเศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโต 3.3-3.6% หลังจากที่เศรษฐกิจไทยติดลบกว่า 6-7% ในปี 63 ตลาดหุ้นหรือ SET บ้านเราได้มีคาดการณ์กำไรต่อหุ้นในปี 64 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 73.8 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่ระดับต่อหุ้นที่ 42.9 บาทต่อหุ้น หรือคาดการณ์กำไรเติบโตกว่า 72% และกำไรต่อหุ้นอาจจะเติบโตมาสู่ระดับ 112 บาทต่อหุ้นในปี 65 ซึ่งมากกว่าปีนี้ที่ก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ 87.3 บาทต่อหุ้น เมื่อใช้ PE(X) ที่ 16.8 เท่า จะได้ราคาเป้าหมายของ SET ที่ 1,480-1,500 จุด

ส่วนการที่ดัชนีตลาดหุ้นจะไปได้ถึง 1,600 จุด หรือไม่นั้น จะต้องมีเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือ Fund Flow เข้ามาลงทุนที่มากจริงๆ โดยเม็ดเงินนั้นจะเป็นเม็ดเงิน ที่เคลื่อนย้ายออกจากตลาดพันธบัตรเข้าตลาดหุ้น ซึ่งเราจะเห็นเป็นปรากฏการณ์ของการ Switching หรือที่เรียกว่า Tactical Asset Allocation ในปีหน้า

และยังคาดการณ์ว่าจะได้เห็น Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นของประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Market) มาสู่ตลาดหุ้น Emerging Market มากขึ้นรวมทั้งตลาดหุ้นไทย เนื่องจากหุ้นไทยที่ผ่านมา ถูก Underweight หรือถูกลดน้ำหนักการลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นไทยเพียงแค่ 28% ของมูลค่าตลาดหุ้นทั้งหมด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี โดยที่นักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายขายสุทธิมากกว่า 3 แสนล้าน ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ แต่ทำการซื้อหุ้นไทยเพียงแค่ 40,000 ล้านบาทเศษๆ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค.

ดังนั้น การที่นักลงทุนต่างชาติเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยเพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ!!

โดยปัจจัยที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าตลาด Emerging Market และหุ้นไทยยังเป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลาง รวมถึงการที่สหรัฐฯมีหนี้สาธารณะที่มากขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ในประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) เช่น จีน สูงกว่าอัตราผลตอบแทนสหรัฐฯ

“วิศิษฐ์” ยังคาดการณ์ว่าต้นปีนี้จะเกิด ปรากฏการณ์ January Rally โดยการเคลื่อนไหวของตลาดทุนทั่วโลกในปี 64 เป็น Front– loaded คือ หุ้นจะให้ผลตอบแทนดีในช่วงไตรมาส 1 ของปี 64 เนื่องจากมุมมองที่ดีขึ้นของการค้นพบวัคซีนรักษาโควิด-19 และการที่ผลตอบแทนตราสารหนี้ที่ต่ำ ทำให้เงินทุนเคลื่อนจากตราสารหนี้มาสู่ตลาดหุ้นในอัตราเร่ง และการที่สภาพคล่องทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยวัดจากการเติบโตของฐานเงินอย่างแคบ (M1) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เราจะ เห็นบริษัทจดทะเบียนเริ่มกระบวนการควบรวม เพื่อลดต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายในระหว่างห่วงโซ่การผลิตเพิ่มขึ้น

ดังนั้น ทั้งหมดนี้จึงมีโอกาสที่นักวิเคราะห์ในตลาดจะเริ่มทยอยปรับเพิ่มประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่น กลุ่ม Oil & Gas กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มธุรกิจส่งออก เช่น อิเล็ก-ทรอนิกส์ และอาหาร เป็นต้น

ในทางกลับกัน กลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจภายในประเทศ อาจยังไม่เห็นการปรับเพิ่มมากนัก โดยเฉพาะในกลุ่มท่องเที่ยว คาดว่าจะเห็นความผันผวนของผลประกอบการในระดับสูงต่อไป

“วิศิษฐ์” ย้ำว่า จุดเปราะบางที่สำคัญที่สุดในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คือ ประสิทธิภาพของวัคซีนในการรักษาโควิด-19 และการกระจายของการฉีดวัคซีนให้แก่พลเมืองโลก ทั้ง 2 ปัจจัยมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจไทยที่การท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีสัดส่วนกว่า 18-19% ของ GDP

และอีกปัจจัยสำคัญคือ การเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างเป็นทางการของ “โจ ไบเดน” ว่าจะสามารถผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังออกมาได้รวดเร็วและมีนัยสำคัญหรือไม่

“วิศิษฐ์” ยังให้ความเห็นว่า แม้หลายฝ่ายมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 64 ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงสูงหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น 1.แนวโน้มการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นไปอย่าง เชื่องช้า ซึ่งจะกระทบกับรายได้ที่สำคัญของประเทศต่อไป ถึงแม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มมีการอนุมัติการฉีดวัคซีนต้าน โควิด-19 แล้วก็ตาม

2.ความเปราะบางของฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น หลังมาตรการช่วยเหลือต่างๆทยอยสิ้นสุดลง และ 3. สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่สามารถปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อ จนอาจส่งผลกระทบต่อทั้งความเชื่อมั่นการบริโภคและการลงทุน

ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ น่าจะทำให้เงินเฟ้อช่วงไตรมาส 1 นี้ทรงตัวต่ำใกล้ 0% ต่อไป

ส่วนปัจจัยสำคัญที่น่าจับตาในไตรมาส 1 ปี 64 ได้แก่ พัฒนาการของค่าเงินบาท ซึ่งหากยังคงเดินหน้าแข็งค่าต่อไป มีโอกาสส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ผ่านความสามารถในการทำกำไรของผู้ส่งออกที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังการลงทุนและการจ้างงานของภาคธุรกิจให้ลดลงได้ด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้มีความเป็นไปได้เช่นกัน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำโดย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจเริ่มนำเครื่องมือดอกเบี้ยนโยบายกลับมาพิจารณาใช้ในการยับยั้งการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ ผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ภายในไตรมาส 1 นี้ได้!!

สำหรับการวางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (Asset Allocation) นั้น “วิศิษฐ์” ให้คำแนะนำว่า ควรแบ่งสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทย 25–30% โดยเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารและหุ้นปันผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงของการจ่ายเงินปันผล และแบ่งลงทุนในตลาดหุ้นจีนและเวียดนาม 10% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจจีนพึ่งพาการบริโภคภายในเป็นหลัก โดยที่ GDP ปี 64 ของจีนอาจจะโตถึง 8% ขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนามมีโอกาสได้ผลประโยชน์จากเม็ดเงินไหลเข้า ถ้าตลาดหุ้นเวียดนามถูกจัดเข้าไปใน MSCI EM ใน 2–3 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วหรือ Developed Market เช่น ญี่ปุ่น หรือยุโรป อีก 5% และลงทุนทองคำประมาณ 5% ลงทุนในตราสารหนี้และกอง REIT ในตลาดเกิดใหม่ 20-30% ขณะที่ให้แบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น Bitcoin ประมาณ 1-5% ที่เหลือถือเป็นเงินสดหรือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง 25-30% เพื่อรอจังหวะและหาโอกาสลงทุนเพิ่มในตลาดหุ้น!!!

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ