ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 22 ต.ค.63 ปิดที่ 1,213.61 จุด ลดลง 2.87 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 66,255.54 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 661.91 ล้านบาท
หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด SCGP ปิดที่ 35 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง, CPALL ปิด 57 บาท ลบ 1.25 บาท, STA ปิด 32.25 บาท บวก 0.25 บาท, NER ปิด 4.76 บาท ลบ 0.08 บาท และ PTTEP ปิด 81.50 บาท บวก 1.50 บาท
ตลาดหุ้นไทยยังคงต้องติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศ แม้นายกรัฐมนตรีจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินภายใต้สถานการณ์ร้ายแรงแล้วก็ตาม รวมทั้งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ
มีมุมมองของ “ธนภัทร ฉัตรเสถียร” ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ มองแนวโน้มผลดำเนินงานหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 4 จะอ่อนตัวลงต่อจากไตรมาส 3 ที่ได้ทยอยออกมาเกือบทั้งหมดแล้ว เพราะได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายและการตั้งสำรองหนี้ที่สูงขึ้นจากวิกฤติ
โควิด-19 ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้มีความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้สูงขึ้น
ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1 ของภาครัฐ การพักชำระเงินต้นเวลา 6 เดือนครบกำหนด ขณะที่ลูกหนี้บางส่วนที่พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งได้พ้นระยะเวลาการพักชำระหนี้ไปแล้วและได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ต่อ ก็มีความเสี่ยงในเรื่องหนี้ NPLไหลย้อนกลับมาได้
ซึ่งจากรายงานผลประกอบการงวด 9 เดือน ธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ที่ทรีนีตี้ทำการศึกษา ประกอบด้วย BBL, KBANK, KTB, SCB, TMB, TISCO พบว่า มีการตั้งสำรองหนี้งวด 9 เดือน อยู่ที่ 154,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 63% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากแต่ละธนาคาร ได้ปรับแบบจำลองการตั้งสำรองหนี้ เพื่อสะท้อนภาพเศรษฐกิจในอนาคตและมีการตั้งสำรองส่วนเกินเพิ่มเติม เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต ส่งผลให้กำไรกลุ่มแบงก์งวด 9 เดือน อยู่ที่ 79,129 ล้านบาท ลดลง 37% เมื่อเทียบกับงวดปีก่อน
โดย NPLของ 6 ธนาคาร เพิ่มขึ้นราว 10% จากงวดเดียวกันปีก่อน เพราะยังได้รับผลจากการที่ลูกหนี้บางส่วนยังอยู่ในมาตรการช่วยลูกหนี้ระยะที่ 1 จึงยังคุม NPL ได้ แต่อนาคตถือว่าเป็นความเสี่ยงเมื่อมาตรการสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ ยังคงให้น้ำหนักเท่ากับตลาด โดยแนะหุ้นเด่น ได้แก่ TISCO ให้ราคาเป้าหมายที่ 89 บาท และหุ้น BBL ให้ราคาเป้าหมายที่ 119 บาท SCB ให้เป้าหมาย 83 บาท และ KBANK ให้ราคาเป้าหมาย 95 บาท!!
อินเด็กซ์ 51