หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ คืออะไร รู้ก่อน ลงทุนเป็น รับความเสี่ยงได้ ผลตอบแทนน่าสนใจ

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ คืออะไร รู้ก่อน ลงทุนเป็น รับความเสี่ยงได้ ผลตอบแทนน่าสนใจ

Date Time: 27 ต.ค. 2563 07:00 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์บ้าง หุ้นกู้ตลอดชีพบ้าง เพราะชะตาชีวิตถูกกำหนดโดยผู้ออก ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิบังคับให้ผู้ออกต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ในช่วงใดๆ ก็ตาม

Latest


  • หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ คืออะไร
  • หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ มีลักษณะคล้ายทุน ซับซ้อน และความเสี่ยงมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป
  • รู้ก่อน ลงทุนเป็น รับความเสี่ยงได้ ผลตอบแทนก็น่าสนใจ 

ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา หลายๆ คนอาจจะได้ยินคำว่า "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" ว่าแต่นิรันดร์อย่างไร จะเหมือนรักที่เป็นนิรันดร์หรือเปล่า เอาเป็นว่าอย่าเพิ่งเหม็นความรัก แต่มารู้จักเรื่องการลงทุนก่อน

ทั้งนี้ ฝ่ายส่งเสริมความรู้ตลาดทุนและศูนย์ประสานงานต่างจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. อธิบายว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual subordinated bond) หรือที่เราเรียกติดปากว่า "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" นั้นอธิบายง่ายๆ ดังนี้

1. ส่วนแรกของชื่อ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ ก็คือ หุ้นกู้ที่ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ แต่จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้หลังจากเจ้าหนี้รายอื่นๆ ซึ่งผู้ลงทุนอาจได้รับคืนทั้งหมด หรือบางส่วน หรือไม่ได้เงินคืนเลยก็ได้ แต่ยังมีสิทธิจะได้รับเงินก่อน ผู้ถือหุ้นสามัญ

2. ส่วนท้ายของชื่อมีลักษณะคล้ายทุน ก็คือ สิทธิได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อบริษัทเลิกกิจการ หรือเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ นั่นคือ ผู้ลงทุนต้องถือหุ้นกู้ตัวนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด และอาจไม่ได้รับคืนเงินต้นตลอดช่วงเวลาที่ถือหุ้นกู้อยู่นั้น ด้วยลักษณะพิเศษแบบนี้เองจึงทำให้หุ้นกู้นี้ถูกเรียกว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์บ้าง หุ้นกู้ตลอดชีพบ้าง เพราะชะตาชีวิตถูกกำหนดโดยผู้ออก ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิบังคับให้ผู้ออกต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ในช่วงใดๆ ก็ตาม

ดังนั้น หากไม่ต้องการถือหุ้นกู้นี้อีกต่อไป ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะทำได้เพียงขายออกไปเท่านั้น ซึ่งอาจขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ได้มา หรือไม่ได้ตามเวลาที่ต้องการ หรืออาจขายไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นๆ ว่าคนยังสนใจหุ้นกู้นี้อยู่หรือไม่ เป็นความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ต้องยอมรับได้

3. ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใดก็ได้ ไม่จำกัดระยะเวลา และไม่จำกัดจำนวนครั้ง และผู้ออกอาจไม่จ่ายดอกเบี้ยสำหรับส่วนที่ค้างชำระก็ได้ ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับดอกเบี้ยเมื่อใดก็ขึ้นอยู่กับผู้ออกเช่นกัน ผู้ถือหุ้นกู้ตัวนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ย หรือได้รับดอกเบี้ยล่าช้า นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเป็นแบบลอยตัว ซึ่งจะระบุดอกเบี้ยชัดเจนในช่วง 5 ปีแรก ส่วนในปีต่อๆ ไปจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

4. ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนก่อนเลิกกิจการ ซึ่งถ้าผู้ออกหุ้นกู้ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดและที่ผ่านมามีการเลื่อนการชำระดอกเบี้ย โดยสะสมดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นมาชำระในวันที่ไถ่ถอนก่อนกำหนดดังกล่าว ผลตอบแทนที่แท้จริงของผู้ลงทุนในหุ้นกู้นี้ก็จะลดน้อยลงกว่าผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ควรต้องได้รับชำระตามงวดปกติ

5. หุ้นกู้นี้ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (cross-default) คือหากผู้ออกหุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ ในหุ้นกู้อื่น หรือสัญญาทางการเงินอื่น หรือเจ้าหนี้อื่นของผู้ออกหุ้นกู้จะไม่ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้เป็นผู้ผิดนัดชำระภายใต้หุ้นกู้นี้ด้วย และเมื่อไม่ผิดนัดชำระ ผู้ถือหุ้นกู้นี้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย นอกจากนี้ หากผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้คืนให้เจ้าหนี้อื่นจนทำให้ขาดสภาพคล่อง ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามกำหนด

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้ มีลักษณะที่ซับซ้อนและความเสี่ยงที่มากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป

อย่างไรก็ตาม หากใครสนใจ ควรเช็กลิสต์ 5 ข้อ เพื่อสำรวจตัวเอง ดังนี้

1. ทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน โดยเจ้าหน้าที่การตลาดที่ขายหุ้นกู้จะให้ผู้ซื้อลงนาม รับทราบความเสี่ยงการซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนก่อนซื้อ

2. เงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินสำหรับลงทุนได้ในระยะยาวมาก

3. ศึกษา factsheet และลักษณะของหุ้นกู้ (features) และเงื่อนไขต่างๆ ให้ครบถ้วน เช่น การไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด การจ่ายดอกเบี้ย

4. รู้เครดิตเรตติ้ง

5. รู้วิธีขายคืน

อย่าลืมนะจ๊ะ ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจจะลงทุนควรศึกษาข้อดี ข้อเสีย ถ้าสงสัยก็สามารถติดต่อสอบถามไปยัง ก.ล.ต. ได้เช่นกัน. 

ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา
กราฟิก : Supassara Traiyansuwan


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ