คุยกับแดน ปฐมวาณิชย์ ชายผู้เขียนฝันอยากเป็นผู้ผลิต Plant-based food ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

คุยกับแดน ปฐมวาณิชย์ ชายผู้เขียนฝันอยากเป็นผู้ผลิต Plant-based food ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

Date Time: 29 ก.ย. 2563 10:08 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • โปรตีนทางเลือก คือ อนาคตของโลก ตอนที่อยากทำธุรกิจ ผมก็คิดการใหญ่ อยากเป็นผู้ผลิต Plant-based food ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

Latest


  • Plant-based food เนื้อสัตว์ที่มาจากพืช แต่อร่อยเหมือนกินเนื้อสัตว์
  • ตั้งกองทุน Big Idea Venture ให้ทุน Food Tech Startups ต่อยอดนวัตกรรมอาหาร
  • ใช้อาหารทำให้โลกยั่งยืน ช่วยเหลือเกษตรกรไทย

หลังจาก แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเตรียมระดมทุมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทยช่วงกลางเดือน ต.ค. 63 นี้ เพื่อนำเงินที่ได้ไปลงทุนตามแผนธุรกิจ

เมื่อได้อ่านข้อมูลของ NRF แล้วสิ่งที่สะดุดตา และเรียกความสนใจให้ "เศรษฐินีศรีราชา" อยากมาคุยกับคุณแดนมากถึงมากที่สุด นั่นก็คือ เรื่องราวของ Food Tech ซึ่งต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในแวดวงอาหารการกินของเราเป็นอย่างมาก 

ใครเลยจะรู้ว่าวันนี้ เราสามารถกินหมูแบบไม่รู้สึกผิด เพราะเนื้อหมูนี้ทำมาจากพืช ที่สำคัญรสชาติอร่อยเหมือนหมู กินปุ๊บก็ไม่รู้ว่าจานนี้ คือ หมูที่ไม่ใช่หมู แถมได้สารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนด้วย แม้จะทำจากพืชก็ตาม เอาเป็นว่า กินเจรอบนี้ลืมโปรตีนเกษตรไปได้เลย 

"ช่วงเทศกาลเจ ผมก็ร่วมทานเจมา 20 ปี รู้สึกไม่ชอบโปรตีนเกษตร เพราะมันไม่อร่อย ตอนนี้อยากเปลี่ยนเทศกาลเจ ให้เป็นเทศกาล Plant-based food ที่มีให้เลือกหลายอย่าง และไม่ใช่แค่โปรตีนเกษตร" แดน เริ่มเปิดประเด็นให้เราเห็นภาพเกี่ยวกับ Plant-based food หรือที่เรียกว่า ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช โดยจะนำโปรตีนจากพืชมาผลิตอาหารปรุงแต่งให้มีรสชาติ รสสัมผัส กลิ่น ใกล้เคียงเนื้อสัตว์ นี่ก็เป็นหนึ่งในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาอาหาร หรือ Food Tech นั่นเอง

สำหรับ Food Tech ในมุมมองของผม แบ่งได้ 2 แบบ คือ ต้นน้ำ AgTech หรือ Agricultural Technology ที่เรียกว่า เทคโนโลยีด้านการเกษตร ส่วนกลางน้ำ คือ Food Tech คือ ทำอย่างไรให้อาหารที่มีอยู่ยั่งยืน ความยั่งยืนในที่นี้ คือ เราจะทำอย่างไรให้อาหารปราศจากสารเคมี ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และที่สำคัญจะทำอย่างไรให้อาหารอร่อยด้วยเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ในสหรัฐฯ และยุโรป เขาก็พยายามแก้ปัญหาเรื่องจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงการลดโลกร้อน ซึ่งเรามีเวลาแค่ 10 ปีที่จะลดโลกร้อนประมาณ 2 องศา แต่ถ้าเราไม่สามารถหยุดยั้งการเกิดโลกร้อนได้ สิ่งที่จะเห็นภายในอนาคต คือ แมลงที่จะหายไป 50-60% และนี่จะกระทบกันเป็นห่วงโซ่อาหาร

ถ้าพูดถึงความเป็นมาของ Food Tech จริงๆ ก็ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ ซึ่งในประเทศไทย พี่น้องเกษตรกรบ้านเราก็คุยกันอยู่ทุกวันนะ แต่สิ่งที่ต่างประเทศทำกันเขาใช้ Data ใช้ Deep Technology ใช้วิทยาศาสตร์ขั้นสูงเพื่อให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพืช และอาหาร

ยกตัวอย่างเช่น การใช้วิทยาศาสตร์ ระดับ DNA ถอดรหัสเลยว่า ทำไมเนื้อถึงมีกลิ่นแบบนี้ ทำไมหมูถึงมีสีชมพู ทำไมหนังไก่ถึงทอดแล้วกรอบ สิ่งที่ Food Tech ทำวันนี้คือ เลียนแบบทุกอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดเลย โดยสิ่งที่ผมสนใจมาที่สุด คือ   

1. เนื้อสัตว์ที่มาจากพืช หรือ Plant-based food 
2. อาหารที่มาจากเนื้อสัตว์แต่เพาะได้ Cultured meat หรือ เนื้อเทียม

ทั้งนี้ อาหารที่มาจากโปตีนชนิดอื่น เช่น เห็ด สาหร่าย จิ้งหรีด ถ้าถามผมนะ โปรตีนที่มาจากแมลง ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร เพราะเราจะต้องฆ่าจิ้งหรีดจำนวนมากๆ เพื่อให้ได้จำนวนโปรตีนที่มาจากวัว 

ทั้งหมดที่เห็นไม่มีเนื้อสัตว์เลย
ทั้งหมดที่เห็นไม่มีเนื้อสัตว์เลย

แค่ฟังดูก็ร้องว้าว แต่เมื่อถามว่า Food Tech ของประเทศไทยนั้นอยู่ในขั้นไหนแล้ว แดน กลับมองว่า ขีดความสามารถของคนไทยสูงมาก ทรัพยากรก็มีพร้อม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย ก็ร่วมกันพัฒนาได้ แต่วันนี้เราอยู่ในขั้นเบสิกรีเสิร์ช ยังไม่มีแนวทาง ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ หรือภาคเอกชน ที่ชัดเจนว่าเราควรทำอะไร ประเด็นนี้ผมก็อยากนำเสนอกับรัฐบาลเหมือนกัน

ทุกวันนี้ที่เราเห็นกัน เราใช้เทคโนโลยีที่ซื้อมาเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เช่น การใช้โดรน ใช้ Data เข้ามาวิเคราะห์ ซึ่งแบบนี้เป็นเบสิก หรือการให้เกษตรกรมาขายผลผลิตให้กับผู้บริโภคโดยตรงนี้ เป็นเบสิกเกือบทั้งหมด 

สำหรับผมแนวทางที่น่าสนใจ คือ 1. เราต้องหา และมีวัตถุดิบทั้งพืช และเนื้อสัตว์ ที่สามารถเลียนแบบเนื้อสัตว์จริงๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิต Plant-based food ได้ และผมเชื่อเสมอว่าพื้นฐานของคนไทยมีอยู่จริง จับต้องได้ 

2. เราจะต้องมีเทคโนโลยีการผลิต ให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เช่น การทำเกษตรแบบฟาร์มใหญ่ ซึ่งรัฐบาลบอกเองว่า อยากให้เกษตรกรเปลี่ยนจากแปลงเล็กเป็นแปลงใหญ่ จาก 3 ไร่ เป็น 5-10 ไร่ แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่าน่าจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น

ถ้าแก้โจทย์ตรงนี้ได้ เกษตรกรจะมีอาชีพที่ดีขึ้น ปลูกแบบยั่งยืนมากขึ้น เช่น การปลูกข้าว ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรสูงมาก แต่กลับได้ผลผลิตน้อย เทียบกับจีนและเวียดนาม ทำให้เราเห็นเลยว่าผลผลิตเราน้อยมาก ถ้าเราแก้ตรงนี้ได้ก็ถือว่าดี 

เบอร์เกอร์หมูที่ไม่ใช่หมูแต่เป็นพืช ที่ให้รสสัมผัสเหมือนหมูทุกประการ
เบอร์เกอร์หมูที่ไม่ใช่หมูแต่เป็นพืช ที่ให้รสสัมผัสเหมือนหมูทุกประการ

หากมองไปในอนาคต อาหารที่เป็นโปรตีนทางเลือกจะกินมาร์เก็ตแชร์วงการเนื้อสัตว์ประมาณ 13-15% ภายในอีก 5-15 ปีข้างหน้า ส่วนหนึ่งมาจาก Plant-based และ cultured meat รวมถึงโปรตีนอื่นๆ เช่นการมิกซ์กันระหว่าง โปรตีนจากพืชและโปรตีนจากเนื้อสัตว์ 

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ผมมองว่า เทคโนโลยีเรามี ในตลาดมี Plant-based food มูลค่าอุตสาหกรรมประมาณ 5-8 พันล้านเหรียญ โอกาสของประเทศไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตอาหารของโลก เชื่อว่าไทยทำได้ 

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัย แดน เป็นวีแกนหรือเปล่า หรือเพราะเขาขายเก่งจนเรารู้สึกชอบ Plant-based food ขึ้นมาเสียแล้ว แดนตอบแบบติดตลกว่า "จริงๆ ผมชอบทานเนื้อสัตว์มากๆ เลยนะ ชอบกิน KFC เบอร์เกอร์คิง แต่มีอยู่วันหนึ่ง คุณแม่เอาเจ้าแม่กวนอิมมาจากเมืองจีน และแม่ก็บอกว่าเนี่ย 1 สัปดาห์ก็ทานเจสักวันนะ ผมก็โอเค แต่ก็ยังทานเนื้อสัตว์เหมือนเดิม แต่ประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ผมเลิกกินหมู เพราะวันนั้นรถติดมาก และรถขนหมูที่จะไปโรงงานฆ่าสัตว์ก็มาติดใกล้ๆ กัน ผมนั่งฟังเขาร้องอยู่แบบนั้นประมาณ 30 นาที จากนั้นมาก็เลยเลิกกินหมู จริงๆ ตอนนี้เหมือนจะกินมังสวิรัติเลยนะ แต่ก็บาลานซ์ คือ ทานปลาบ้าง ไก่บ้าง"

ความว้าวของ Big Idea Venture

สำหรับความน่าสนใจอีกอย่าง คือ การที่แดนได้ระดมทุนจัดตั้งกองทุน Big Idea Venture เพื่อให้เงินทุนสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับอาหารโปรตีนจากพืช โดยเขาเล่าว่า ซัมเมอร์ 2017 ผมมีโอกาสไปคุยกับลูกค้า และเจอหลายๆ คนในวงการทำให้เชื่อว่า โปรตีนทางเลือก คือ อนาคตของโลก ตอนที่อยากทำธุรกิจ ผมก็คิดการใหญ่ อยากเป็นผู้ผลิต Plant-based food ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งผมเห็นโอกาส และผมเห็นช่องทางให้ทำ

ปกติแล้วผมเป็นคนชอบเดินทาง มีเพื่อนในวงการพอสมควร เราจึงเห็นว่าถ้าจะระดมทุนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก่อนที่จะทำการผลิตได้ ต้องโปรโมต ขยายวงการ และทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่อง โปรตีนทางเลือก Plant-based food และ food tech

"ผมก็เอาเรื่องนี้ไปคุยกับหลายๆ คน พวกเขาก็หัวเราะผมนะ บอกว่า คุณเป็นพวกโลกสวย รักษ์โลก รักสัตว์ หรือบ้างก็ว่า ผมกินเจบ่อยไปหรือเปล่า ผมก็บอกว่า อาจจะใช่บางส่วนนะ ก็พยายามอธิบายเขาให้เข้าใจ มองให้เป็นเรื่องโอกาสทางธุรกิจมากกว่า"

อย่างไรก็ตาม การที่จะให้เกิดการยอมรับในวงการนี้ สำหรับผมคิดว่าเราต้องมีโปรดักส์ที่อร่อยและหลากหลายทำให้เกิดการแข่งขัน ก็เลยคิดว่าต้องมี startup ต่อมาปี 2018 ผมก็มีความคิดว่า เราจะมีส่วนช่วยผลักดัน startup อย่างน้อย 100 startup ให้เกิดได้ภายใน 3-4 ปี เพราะผมเชื่อว่าคนที่ทำ startup ส่วนใหญ่มีแรงบันดาลใจ ความรู้ ที่จะพัฒนา และต่อยอดทำเรื่องนี้ได้ 

ในตอนนั้นกองทุนเฉพาะทางที่ลงทุนในโปรตีนทางเลือกที่เป็นสเกลทั่วโลกนั้นไม่มี ต่อมาผมได้แอนดรูว์ ซึ่งปัจจุบันเป็น patner กัน เขาเชี่ยวชาญในการลงทุน และลงทุนมาแล้วกว่า 100 startup ซึ่งคำว่า food ของเขา คือ food ทำอะไรก็ได้ ถั่วอะไรก็ได้ น้ำจิ้ม เขาก็ลงทุน ไม่ได้โฟกัสเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยี หรือไม่ได้โฟกัสเรื่องโปรตีนทางเลือก

ทั้งนี้ ผมก็เลยชวนเขา เขาเองก็คิดอยู่ และกำลังจะลาออกพอดี เอาเลยตั้งกองทุน Big Idea Venture โดยใช้เวลา 1 ปีในการระดมทุน ผมเองก็ระดมทุนชวนรัฐบาลสิงคโปร์ หรือกองทุนเทมาเส็ก เข้ามาลงทุน และเขาก็นำไทสันมาลงทุนอีก 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีออฟฟิศอยู่ที่นิวยอร์กกับสิงคโปร์ และลงทุนใน startup ไปแล้ว 30 บริษัท มีตั้งแต่ plant-based pork หรือ เนื้อหมูที่ทำจากโปรตีนพืช หรือ พิวเจอร์มีต ลงทุนในเนื้อที่เพาะได้ สิ่งที่เพาะได้ คือ เนื้อกุ้ง 

"คิดเล่นๆ ในอีก 80 หน้า หลานๆ ของเรา อาจจะมีคำถามว่า ทำไมสมัยก่อนถ้าจะกินเนื้อไก่ ทำไมเราต้องฆ่าไก่ ซึ่งในอนาคตไม่มีเหตุผลในการฆ่า เพราะเนื้อไก่เพาะในโรงงานด้วย แถมสะอาด ไม่มีฮอร์โมน ยั่งยืน ใช้ทรัพยากรไม่เยอะอีกด้วย"

ลาบหมูที่ไม่ใช่หมู อร่อยสุดๆ
ลาบหมูที่ไม่ใช่หมู อร่อยสุดๆ

แดน บอกอีกว่า แนวโน้มในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะมีคลีนเทคโนโลยี เช่น ทูน่าบางยี่ห้อที่ผสมถั่วเหลือง หรือ นักเก็ตก็ไม่ใช่ไก่ร้อยเปอร์เซ็นต์มีถั่วผสมด้วย เป้าวันนี้คือ เนื้อ 70% อย่างอื่นอีก 30% ตอนนี้ผมกำลังคุยกับ startup เจ้าหนึ่งอยู่ เขาสามารถทำเนื้อ 1 ส่วน พืชอีก 9 ส่วน ออกมาเป็น หมูสามชั้น นั่นหมายความว่า เราสามารถลดคอเลสเตอรอลได้ถึง 90% เพราะเราใช้ plant-based และอีก 2-3 ปี จะเอา 3d printing มาทำ plant-based food คือ ปริ้นต์ออกมาเป็นสเต๊กได้เลย

อ่านเรื่องราวน่าตื่นเต้นมาเยอะพอสมควร อยากจะลองซื้อมาชิมดูบ้างแล้ว เรื่องราคาจะเป็นอย่างไร แดน บอกว่า จริงๆ ก็มีทั้งถูกและแพง ซึ่งน่าจะสูงกว่าราคาเนื้อสัตว์จริงๆ 10-20% เช่น เนื้อหมูที่ทำด้วยโปรตีนจากพืช ราคา 270 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเทียบกับเนื้อหมูชั้นดีที่อยู่กิโลกรัมละ 220 บาท เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีโควิด-19 ก็ถือเป็นปฏิกิริยาเร่งให้คนหันมาบริโภค plant-based food มากขึ้น เพราะโรงเชือดที่สหรัฐฯ ปิดหมด เนื้อก็ขาดตลาด ราคาก็สูงขึ้น ซึ่งก็ใกล้กับราคา plant-based food ที่สำคัญมีข้อมูลว่า เมื่อเป็นแบบนี้คนจึงเลือก plant-based food มากขึ้น เพราะราคาไม่ต่างกัน แต่ได้เรื่องของสุขภาพมากกว่า 

เขียวหวานลูกชิ้นปลา ที่ทำจากพืช 100%
เขียวหวานลูกชิ้นปลา ที่ทำจากพืช 100%

โปรตีนทางเลือกจะมาแทนเนื้อสัตว์ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

แดน บอกว่า ทั่วโลกมีคนทานวีแกน ทานเจ หรืองดเนื้อสัตว์ทั่วโลกประมาณ 750 ล้านคน หรือประมาณ 9% ของประชากร แต่นี่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของ Food Tech แต่กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง คือ คนที่ทานเนื้อสัตว์ คือ ทำอย่างไรให้เขาทานอาหารโปรตีนทางเลือกวันละมื้อ นี่คืออิมแพ็กมหาศาลเลยนะ 

แต่ถ้าถามว่า อุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกจะมาแทนเนื้อสัตว์ไหม ผมมองว่าไม่เลย 2-3 ปีที่แล้ว หรือปี 2015 ปริมาณการผลิตเนื้อไก่ 80 ล้านตัน โดยในปี 2050 ปริมาณการผลิตเนื้อไก่จะสูงถึง 180-200 ล้านตันต่อปี สิ่งที่ทำให้การเติบโตสูงขึ้นขนาดนี้ เพราะปริมาณประชากรเพิ่มขึ้น และมีกำลังซื้อที่ดีขึ้น

"ผมนี่ว่าจะเป็นเรื่องจริง อย่างเช่น เมืองจีน เมื่อเขามีรายได้ต่อประชากรเพิ่มขึ้นเร็ว เขาก็ไม่ได้อยากกินแฮมเบอร์เกอร์ แต่เขาอยากกินอาหารเพื่อสุขภาพ และช่วยโลก ซึ่งนิวโกรทในมาร์เก็ต แค่นี้ก็มหาศาล"

แดน บอกอีกว่า สิ่งที่ NRF จะทำต่อไปคือ ใช้อาหารทำให้โลกยั่งยืนขึ้น และช่วยเหลือเกษตรกรไทย ถ้าถามว่าจะอิมแพ็กเชิงกลยุทธ์ยังไง ผมบอกได้เลยว่า ตอนนี้เห็นดีมานด์แล้ว แต่มันมาไม่ได้ เพราะติดอุปสรรคฐานการผลิต Plant-based food ในคุณภาพเดียวกันบน certificate เดียวกัน เทคโนโลยีเดียวกัน แต่กลับอยู่บนราคาที่ไม่ใกล้เคียงกัน 

ทั้งนี้ Plant-based food บางแบรนด์ยังผลิตในโรงเนื้อสัตว์อยู่เลย ซึ่ง Plant-based certificate เขามีข้อห้ามในเรื่องนี้ ก็คล้ายๆ กับมาตรฐานฮาลาลแห่งชาตินั่นเอง ซึ่งแม้วงการ Plant-based food ยังมีอุปสรรค แต่เป็นโอกาสของผม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไหนที่ต้องการผลิต ไส้กรอกเจ เนื้อหมูที่มาจากพืช ผมผลิตได้หมด เพราะผมมี certificate

"สิ่งที่ผมทำ ไม่ใช่แค่กลางน้ำอย่างเดียว แต่ต้องการทำต้นน้ำด้วย ด้วยการดึงเกษตรกรเข้ามาร่วมกับเรา ผมทำดีมานด์ เกษตร คือ ซัพพลาย และคาดว่าปีหน้าได้เห็นแน่นอน ผมหาดีมานด์ สร้างโรงงานผลิต ส่วนการหาวัถตุดิบ คือ การรวบรวมเกษตรกรมาปลูกวัตถุดิบให้เรา ที่สำคัญเราจะเป็นศูนย์การผลิต Plant-based food สำหรับเอเชีย".

ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย
กราฟิก : Supassara Traiyansuwan


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์