เคาะเปิดตลาดหุ้นที่ 3 ปีหน้า กระดานลงทุนเพื่อสตาร์ตอัพ

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เคาะเปิดตลาดหุ้นที่ 3 ปีหน้า กระดานลงทุนเพื่อสตาร์ตอัพ

Date Time: 29 ก.ค. 2563 07:25 น.

Summary

  • ตลาดหุ้นมุ่งหน้าสู่ดิจิทัลหนักหน่วง หลังพบทำให้รับมือกับสิ่งที่ไม่คาดฝันได้เป็นอย่างดี ประเดิมครั้งแรกโรดโชว์ “ไทยแลนด์ โฟกัส” เดือน ส.ค. ออนไลน์เต็มรูปแบบ

Latest

เก็บหุ้นปันผล

ตลาดหุ้นมุ่งหน้าสู่ดิจิทัลหนักหน่วง หลังพบทำให้รับมือกับสิ่งที่ไม่คาดฝันได้เป็นอย่างดี ประเดิมครั้งแรกโรดโชว์ “ไทยแลนด์ โฟกัส” เดือน ส.ค. ออนไลน์เต็มรูปแบบ เตรียมเปิดตลาดที่ 3 กระดานลงทุนสำหรับสตาร์ตอัพ-เอสเอ็มอี ภายในไตรมาส 2 ปีหน้า

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงภารกิจในอีก 2 ปีข้างหน้าและผลการทำงานช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของตลาดหลักทรัพย์ว่า มี 3 ภารกิจหลักที่ต้องทำ คือ

1.ทำให้ตลาดหลักทรัพย์และอุตสาหกรรมในตลาดทุนมีต้นทุนที่ถูกลง ขณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเต็มรูปแบบ

2.ทำให้ตลาดทุนมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย รวมทั้งมีสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยการใช้แพลตฟอร์มที่เป็นดิจิทัลของตลาดหลักทรัพย์ในการให้บริการครบวงจร โดยมีพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านทั้งในและต่างประเทศเข้ามาร่วมให้บริการด้วย

3.ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอี รวมทั้งสตาร์ตอัพ สามารถเข้าถึงตลาดทุนหรือเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนได้

“การที่เรามุ่งทำมาทั้งหมดนี้ ทำให้สามารถรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นได้ดี เช่น ช่วงแรกที่เกิดวิกฤติโควิด-19 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) โบรกเกอร์และพนักงานของตลาดหลักทรัพย์ฯมาทำงานไม่ได้ แต่ตลาดฯยังคงเปิดดำเนินการได้ตามปกติ 90% ของพนักงานทำงานได้จากบ้าน ขณะเดียวกันก็ยังคงให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นายภากร กล่าวว่า ตลาดกับ บจ. มีระบบ SET Link เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นตัวเชื่อมโยง การส่งต่อข้อมูลระหว่างกัน โดย บจ.สามารถส่งข้อมูลที่ต้องการแจ้งตลาดฯหรือเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุน ผ่านระบบ SET Link เข้ามายังตลาดฯและเปิดเผยสู่นักลงทุนได้ทั้งหมดทันที หรือหากตลาดฯ ต้องการส่งข้อมูล (Information) หรือออกกฎอะไรใหม่ๆ ให้ บจ. ก็จะส่งผ่านระบบ SET Link ได้เช่นกัน

และที่เห็นผลเลย คือการอบรมหรือการทำเทรนนิง ที่ในอดีตต้องหาห้องประชุม จัดได้ทีละแค่ 50 คน แต่ในช่วงโควิด ตลาดฯจัดเทรนนิงให้เจ้าหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์ (IR) ของ บจ. และจัดเทรนนิงให้ผู้ที่จะมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี และการเงิน (CFO) โดยสามารถทำได้คราวละ 1,500 คน เพราะมีระบบดิจิทัลรองรับไว้ทั้งหมด

นายภากร กล่าวว่า ส่วนในอีก 2 ปีต่อจากนี้ ตลาดฯยังต้องเดินหน้าทำเรื่องดิจิทัลอย่างต่อเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก เช่น วิกฤติโควิดที่ บจ.ไม่สามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้น (AGM) ได้ ต่อไปในระบบ SET Link จะทำได้หมด ทั้งการประชุมผู้ถือหุ้น AGM, E-Proxy (หนังสือมอบฉันทะประชุมผู้ถือหุ้น), การลงคะแนนโหวตแบบอิเล็กทรอนิกส์ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น (E-Voting) โดยตลาดฯได้ส่งเรื่องขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว คาดว่าปีหน้าจะสามารถดำเนินการได้

“สิ่งที่ทำมา เมื่อเกิดวิกฤติทำให้เราแก้ปัญหาได้เร็วและเป็นประโยชน์ ผลที่ได้เป็นตัวบอกว่าเรามาถูกทางแล้ว และต่อยอดได้ในอนาคต อีก 2 ปีก็ยังต้องเดินต่อแนวทางนี้ และต้องทำให้เร็วกว่าเดิม เพราะเทคโนโลยีจะทำลายล้าง (Disrupt) ธุรกิจอีกมาก รวมทั้งตัวตลาดหลักทรัพย์เอง คู่แข่งจะมากขึ้น ทำให้เราต้องใช้ดิจิทัลมาเพิ่มบริการของตลาดฯให้ครอบคลุมหลากหลาย ครบวงจร รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานทั้งหมด เพื่อให้สามารถแข่งขันได้และทำให้ลูกค้าเลือกที่จะเข้ามาใช้บริการกับเรา”

นายภากร กล่าวว่า ปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่การจัดงานโรดโชว์ “ไทยแลนด์ โฟกัส” งานโชว์ศักยภาพตลาดทุนไทยสู่นักลงทุนทั่วโลก ที่จะจัดขึ้นปลายเดือน ส.ค.นี้ จะจัดเป็นดิจิทัลโรดโชว์ เชิญผู้จัดการกองทุนต่างชาติจากทั่วโลก 130-180 กองทุน ให้เข้าร่วมงานและพบผู้บริหาร บจ.ที่เข้าร่วมอีก 50 บริษัทผ่านระบบออนไลน์

โดยปีนี้ นำเสนอในธีม “New Normal Industrial” จากอดีตที่ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ไทยมีอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมากกว่านั้น คืออุตสาหกรรมอาหาร บริการสุขภาพ โลจิสติกส์ สาธารณูปโภคพื้นฐาน ไฟฟ้า พลังงาน ไอที ค้าปลีก โดยในอนาคตไทยต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้มากขึ้น

ตลอดจนนำเสนอบริษัทที่ทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนหรือ ESG (Environmental, Social, Governance) เพราะบริษัทที่มีการบริหารความเสี่ยง ดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และมีบรรษัทภิบาลที่ดี จะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าธุรกิจ สามารถเติบโตได้ และไม่ได้รับผลกระทบหรือกระทบน้อยหากมีวิกฤติรุนแรง

นายภากร กล่าวว่า สำหรับการทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอี รวมทั้งสตาร์ตอัพเข้าถึงตลาดทุนได้นั้น ขณะนี้ตลาดฯกำลังทำงานร่วมกับ ก.ล.ต.ในการสร้างตลาดที่ 3 หรือกระดานลงทุนสำหรับสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอี นอกจากที่มีตลาดหลักทรัพย์ (SET) และตลาด MAI อยู่แล้ว คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า โดยคนที่จะเข้ามาลงทุน ต้องเป็นนักลงทุนสถาบันที่มีความรู้ความเข้าใจเพราะธุรกิจสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอี ช่วงแรกจะมีความเสี่ยงสูง จึงต้องเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้

โดยเฟสแรกต้องให้ข้อมูลและความรู้นักลงทุนและสตาร์ตอัพ โดยสตาร์ตอัพต้องเรียนรู้ว่าต้องเตรียมข้อมูลอะไรให้นักลงทุนบ้าง ส่วนเฟส 2 เป็นการเตรียมความพร้อมของสตาร์ตอัพ โดยตลาดฯจะสร้างระบบสนับสนุนซอฟต์แวร์ที่สตาร์ตอัพยังขาดและต้องการ ได้แก่ ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เช่น การจัดเก็บข้อมูล การบริหารระบบบัญชี บุคลากร และกฎหมาย ทำเป็นแพลตฟอร์ม เพื่อให้สตาร์ตอัพและเอสเอ็มอีใส่ข้อมูลเข้ามา

ข้อดีคือข้อมูลเหล่านี้จะเปิดให้นักลงทุน ผู้ตรวจสอบ หรือผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปทำ Due Diligence (การตรวจสอบ วิเคราะห์ ประเมินทรัพย์สินและหนี้สิน) บนระบบนี้ได้เลย ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ต้นทุนต่างๆลดลง รวมทั้งจะจัดหาที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆเข้ามาให้คำแนะนำ

ส่วนเฟส 3 คือการนำหุ้นเข้ามาซื้อขาย ซึ่งจะทำระบบการจดทะเบียน ระบบซื้อขาย การโอนเงิน การจ่ายเงินจ่ายปันผล ระบบรายงานข้อมูลต่างๆเพื่อให้นักกฎหมาย นักบัญชีตรวจสอบได้ว่าบริษัทนี้ได้ทำตามที่สัญญาไว้ โดยทั้งหมดจะเป็นระบบอยู่บนแพลตฟอร์มนี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ