ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 23 ก.ค.63 ปิดที่ 1,359.65 จุด เพิ่มขึ้น 2.61 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 70,233.10 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 2,054.17 ล้านบาท
หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด GULF ปิด 34.25 บาท ลบ 2.75 บาท, STA ปิด 24.50 บาท ลบ 0.50 บาท, CPALL ปิด 67.50 บาท บวก 2 บาท, CPF ปิด 33.50 บาท ลบ 0.75 บาท และ BGRIM ปิด 51.50 บาท ลบ 2.25 บาท
หุ้น GULF และ BGRIM ปรับตัวร่วงแรง หลังมีบิ๊กลอตหุ้น GULF 176 ล้านหุ้น หรือ 1.7% ในราคาเฉลี่ย 35.15 บาท รวมมูลค่า 6,186.40 ล้านบาท และ BGRIM 68 ล้านหุ้น หรือ 2.6% ราคาเฉลี่ย 50.80 บาท รวมมูลค่า 3,454.39 ล้านบาท โดยเป็นการขายปรับพอร์ตจาก Asian Development Bank หรือ ADB ซึ่งเป็นราคาซื้อขายที่ต่ำกว่าราคาในกระดานวัน ส่งผลให้นักลงทุนเทขายกดราคา
ขณะที่ GULF ยังได้แจ้งตลาดเพิ่มทุน 1.06 พันล้านหุ้น เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม สัดส่วน 10 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาขายหุ้นละ 30 บาท คาดว่าจะได้เงินเพิ่มทุนราว 3.2 หมื่นล้านบาท กำหนดขึ้นเครื่องหมายผู้ถือหุ้นไม่ได้รับสิทธิเพิ่มทุน (XR) วันที่ 6 ส.ค.63 และจองซื้อ-ชำระเงินค่าหุ้นวันที่ 14-18 ก.ย.63
โดยบริษัทแจ้งว่า มีแผนนำเงินเพิ่มทุนไปลงทุนในโครงการที่อยู่ในแผนงาน และขยายธุรกิจในอนาคต บางส่วนจะนำไปชำระคืนเงินกู้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและเป็นทุนหมุนเวียน รวมทั้งยังทำให้โครงสร้างการเงินแข็งแกร่งขึ้น
บล.เอเซีย พลัส ชี้ว่า การเพิ่มทุนของ GULF ถือว่าสร้าง surprise ให้ตลาด ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่าจะเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้น GULF ในระยะสั้น โดยจากการประเมินทางทฤษฎีคาดว่าจะทำให้เกิด 1. EPS dilution -9.09% จากจำนวนหุ้นที่มากขึ้น 1,066 ล้านหุ้น 2. Price dilution -1.3% และ 3.ROE ลดลง
แต่ระยะยาว มีมุมมองบวกเพราะการสร้างความแข็งแกร่งให้ GULF เนื่องจากกลยุทธ์การลงทุนของ GULF จากนี้ไปจะเป็นเชิงรุก ส่งผลให้นักลงทุนคลายกังวลจากฐานทุนที่แข็งแกร่งขึ้น 3.2 หมื่นล้าน มาอยู่ที่ 63,552 ล้านบาท และ D/E ลดลงเหลือ 1.74 เท่า จาก ณ สิ้นงวด 1Q63 มี D/E 3.5 เท่า
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการและ FV เพื่อสะท้อนการเพิ่มทุนครั้งนี้ แต่คาดว่า FV ใหม่ที่จะเกิดขึ้น ก็ยังต่ำกว่ามูลค่าหุ้นปัจจุบัน ดังนั้นระยะสั้นจึงยังคงแนะ “Switch”.
อินเด็กซ์ 51