“แบล็กมันเดย์” ตลาดหุ้นทั่วโลกสู่ภาวะหายนะ ยุโรปดิ่งหนักสุด หลังไวรัสโควิด-19 ระบาดในอิตาลี ขณะที่หุ้นไทยร่วงหนักที่สุดในเอเชีย ดัชนีดิ่งทำนิวโลว์รอบ 3 ปี 4 เดือน ชี้นักลงทุนแพนิก เทขายหุ้นทุกราคา หนีสินทรัพย์เสี่ยง โยกเงินหลบภัยมาพักที่ตลาดทองคำ ดันราคา ทำนิวไฮในรอบ 7 ปี สมาคมค้าทองคำ ประกาศราคาขึ้นลงวันเดียว 12 ครั้ง คาดราคาทองโลกพุ่ง 1,700 เหรียญ ราคาในประเทศบาทละ 25,450 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอย่างหนัก กดดัชนี หุ้นไทยปรับตัวดิ่งลงอย่างรุนแรง ก่อนมาปิดทำการที่ระดับ 1,435.56 จุด ลดลง 59.53 จุด หรือลดลง 3.98% ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 3 ปี 4 เดือน ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 76,431.30 ล้านบาท กองทุนในประเทศ ขายหนักสุด 4,229.12 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 1,673.40 ล้านบาท ขณะที่ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 31.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯร้องหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง ตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ปรับตัวลง และดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมทั้งตลาดหุ้นยุโรป ที่เปิดตลาดมาตื่นตระหนก (แพนิก) หนักสุด ดัชนีทรุดตัวลงมากกว่า 4% นำโดยตลาดหุ้นอิตาลี ลงหนักสุดกว่า 4%ตามด้วย ฝรั่งเศส เยอรมนีและตลาดหุ้นลอนดอน เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย ที่ปรับตัวลงหนักสุดในเอเชียและภูมิภาค โดยหุ้นไทยลดลง เกือบ 4% แต่หุ้นเอเชียลงเฉลี่ย 1-2% โดยมีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอิตาลี มากถึง 152 ราย และพบผู้เสียชีวิต 4 ราย โดยยอดผู้ติดเชื้อในอิตาลีได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์ และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่านักลงทุนเกิดอาการแพนิกอย่างหนัก โดยไทยเผชิญปัญหาที่ซ้ำซ้อน เพราะเศรษฐกิจไทย พึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกจากจีน โควิด-19 จึงเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจไทย กำลังอ่อนแองบประมาณที่ล่าช้า ฯลฯ ทำให้ไทยได้รับ impact หรือผลกระทบหนักกว่าประเทศอื่นๆที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลุกลามไปทั่วโลก
“ในระยะสั้นต้องสร้างความมั่นใจภายในประเทศ คือ รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีอิมแพ็กมากๆในการกระตุ้นให้ได้ผล และต้องกระตุ้นทุกกลุ่ม ขอแนะนำว่า งบประมาณปี 2564 ต้องขาดดุลเพิ่มขึ้น” ทองคำในประเทศบาทละ 25,450 บาท
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกรับรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่าที่คาดไว้ หลังจากแนวโน้มการแพร่กระจายของเชื้อมีมากขึ้น ทำให้ดัชนีของแทบทุกประเทศปรับตัวลง การที่ดัชนีปรับตัวลดลงแรง ไม่ได้มีปัจจัยใดๆที่เกิดขึ้น
จากไทยโดยตรง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยมหภาค ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะยืดเยื้อยาวนานเพียงใด แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะบริหารจัดการให้การทำงานของตลาดหุ้นไทยเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อทำให้ผลกระทบเกิดขึ้นน้อยที่สุด ยืนยันว่ายังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการ Circuit Breaker หรือการหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว เพราะตลาดหุ้นไทยยังมีความแข็งแกร่ง
“ตลาดหุ้นที่ร่วงแรง เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั่วโลก ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงตลาดหุ้นไทย วิธีที่ดีที่สุดขณะนี้ คือ การกระจายความเสี่ยง การลงทุนและขอเตือนว่า อย่าเชื่อข่าวปลอม (เฟกนิวส์) โดยขอให้นักลงทุนใช้วิจารณญาณรับฟังและวิเคราะห์ข้อมูล”
ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวของราคาทองคำ พบว่า ราคาทองคำในตลาด Spot ของโลกปรับขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 7 ปี ผ่าน 1,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนราคาในประเทศ สมาคมผู้ค้าทอง ประกาศเปลี่ยนแปลงราคาทองคำขึ้นลงถึง 12 ครั้ง โดยทำราคาขายออกสูงสุดบาทละ 25,300 บาท
นายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฮั่วเซ่งเฮง กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้มีแรงเทขายในสินทรัพย์เสี่ยงอาทิ หุ้น และมีเม็ดเงินไหลเข้าไปลงทุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ประกอบกับภาวะ Inverted yield curve ในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ รวมทั้งราคาทองคำ ที่ทะลุแนวต้านสำคัญที่ 1,585 ดอลลาร์ขึ้นมาได้ ขณะที่กองทุนขนาดใหญ่ที่ลงทุนทองคำคือ SPDR ได้เข้าซื้อทองคำ 9.95 ตัน ผลักดันให้ราคาทองตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และจะยังมีแรงซื้อต่อเนื่อง ทำให้ราคาทองคำปรับขึ้นได้ต่อ โดยมีเป้าหมายที่ 1,700 ดอลลาร์ มีโอกาสปรับขึ้นสูงถึง 1,750 ดอลลาร์ ในระยะถัดไป ส่วนระยะสั้นๆ คาดว่าจะมีแนวต้านที่ 1,680 ดอลลาร์ ส่งผลให้ราคาทองในประเทศอยู่ที่บาทละ 25,250 บาท และ 1,700 ดอลลาร์หรือราคาในประเทศอยู่ที่ บาทละ 25,450 บาทตามลำดับ ขณะที่มีแนวรับที่ 1,640 ดอลลาร์ (24,600 บาท) กรุงศรีฯลดเป้าจีดีพีปีนี้เหลือ 1.5%
นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรี-อยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลด อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของเศรษฐกิจไทย รอบแรกปีนี้เหลือ 1.5% จากเดิม 2.5% จากปัจจัยความล่าช้าของการผ่านร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง คาดว่าทำให้จีดีพีต่ำกว่าประมาณการเดิม 0.4% โดยเฉพาะครึ่งปีแรกของปีนี้ เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต การท่องเที่ยวที่ซบเซา
“ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว จะแตะระดับสูงสุดในไตรมาส 1 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 30.8% และไตรมาส 2 นักท่องเที่ยวลดลง 13.1% คาดว่าภาพรวมนักท่องเที่ยวปีนี้หดตัว 4-5% ขณะที่ผลกระทบต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต จะสูงสุดในไตรมาส 2 ทำให้การส่งออกลดลง 0.8% จากประมาณการเดิม ซึ่งได้ปรับตัวเลขส่งออกลงเหลือหดตัว 1% จากเดิมขยายตัว 1.5%”
สำหรับภัยแล้งมีความรุนแรงมากขึ้น มีแนวโน้ม ลากยาวถึงเดือน พ.ค. ประเมินว่าข้าวจะได้รับความเสียหาย 21,600 ล้านบาท มันสำปะหลังเสียหาย 2,500 ล้านบาท รวมทั้งผลกระทบทางอ้อมต่อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ ทำให้กระทบต่อจีดีพีลดลง 0.3%.