ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เมื่อวานนี้ (9 ต.ค.) ปิดตลาดที่ 30.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 30.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.2556 โดยตลาดยังคงกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่จะเจรจากันในวันที่ 10 ต.ค.นี้ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังเงินบาทแข็งค่า และไม่เกาะกลุ่มกับประเทศคู่ค้า และในภูมิภาคเอเชีย
ขณะที่บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้รายงานว่า เงินบาทแข็งค่าทดสอบที่ระดับ 30.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นแล้วในปีนี้ประมาณ 7.4% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และค่อนข้างจะทิ้งห่างสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ตามมาเป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 อย่างเงินรูเปียห์ และเงินเปโซที่แข็งค่าขึ้นในปีนี้เพียง 2.8% และ 1.8% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ตามลำดับ
สำหรับทิศทางค่าเงินบาทอาจผันผวนในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ, ปมปัญหาของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน, สถานการณ์ของการเมืองภายในสหรัฐฯ ซึ่งหากเกิดกรณีเลวร้ายเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอลงมากกว่าที่คาดการณ์ในปีหน้า จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เงินบาทก็อาจถูกกดดันให้แข็งค่าขึ้นได้ต่อเนื่อง จากการที่ไทยยังคงมีดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล และมุมมองของนักลงทุนที่ว่าเงินบาทเป็นสกุลเงินปลอดภัย ที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งรองรับ ส่งผลให้การส่งออกของไทยอาจจะยังคงเผชิญความท้าทายต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับทราบเรื่องนี้แล้ว และคงรับมือได้เพราะบางเวลา ธปท. ก็ออกมาตรการดูแลควบคุมค่าเงินบาท ให้สอดคล้องกับสภาพการเงินจริงของเศรษฐกิจไทย และเงินบาทแข็งค่าขึ้น มองได้ทั้ง 2 ด้าน โดยช่วงนี้เป็นช่วงเวลาลงทุนที่ดี หากสั่งเครื่องจักรเข้ามาทดแทนเครื่องจักรเดิม เพราะได้เปรียบเรื่องค่าเงิน เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นวัฏจักร ผู้ส่งออกต้องปรับตัวรับมือ.