เตือน! ทองโคลนนิ่งระบาด

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เตือน! ทองโคลนนิ่งระบาด

Date Time: 23 ก.ย. 2562 08:15 น.

Summary

  • สถาบันอัญมณี เผยขณะนี้ “ทองโคลนนิ่ง” กำลังระบาด หลายเว็บขายทองคำ โฆษณาขายเกลื่อน เตือนผู้บริโภค พิจารณาให้ดีก่อนเลือกซื้อ เหตุเป็นทองคำเก๊ ไม่ใช่ทองจริง พร้อมแฉพบผู้ค้าหัวใสหลอกขายทองเก๊

Latest

JAS ฝ่าอาถรรพ์  ใครถือสิทธิ “พรีเมียร์ลีก” ขาดทุนทุกราย จับตาดีลกับ AIS อาจเป็นทางรอด

ทองเก๊-ทองปลอมโฆษณาขายเกลื่อนเว็บ

สถาบันอัญมณี เผยขณะนี้ “ทองโคลนนิ่ง” กำลังระบาด หลายเว็บขายทองคำ โฆษณาขายเกลื่อน เตือนผู้บริโภค พิจารณาให้ดีก่อนเลือกซื้อ เหตุเป็นทองคำเก๊ ไม่ใช่ทองจริง พร้อมแฉพบผู้ค้าหัวใสหลอกขายทองเก๊ เอาโลหะอื่นมาชุบทองหนาหลายชั้น แค่ยิงเลเซอร์ หรือตะไบ ตรวจไม่พบเป็นของปลอม แนะก่อนซื้อดูร้านที่น่าเชื่อถือ มีป้ายสัญลักษณ์ “ซื้อด้วยความมั่นใจ” และขอใบรับรองคุณภาพสินค้าด้วย

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบัน วิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงทองคำผ่านทางออนไลน์จำนวนมาก โดยเฉพาะทองคำที่ขณะนี้บางเว็บไซต์มีการโฆษณาว่า ผลิตและจำหน่าย “ทองคำโคลนนิ่ง” โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ทำให้ได้ทองคำ โคลนนิ่งที่ใกล้เคียงทองคำแท้มากที่สุดและราคาถูก จึงขอเตือนผู้บริโภคว่า ทองคำโคลนนิ่งคือ ทองคำปลอม ซึ่งไม่มีค่าและนำไปขายต่อไม่ได้ หากจะซื้อควรจะพิจารณาให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจจะเสียใจภายหลัง

“ขณะนี้พบการขายทองคำปลอมมากขึ้นในเว็บไซต์ต่างๆ โดยใช้คำว่า “ทองคำโคลนนิ่ง” ซึ่งฟังแล้ว สะดุดหู แต่บางครั้งผู้ซื้อไม่รู้ว่าเป็นทองคำแท้หรือไม่ ดังนั้น ก่อนซื้อต้องพิจารณาให้รอบคอบ และควรเลือก ซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงทองคำจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ และมีตราสัญลักษณ์ “ซื้อด้วยความมั่นใจ” หรือตราสัญลักษณ์ BWC (Buy With Confidence) ติดที่หน้าร้าน ซึ่งจะรับประกันได้ว่าสินค้าที่ซื้อจากร้านนี้เป็นของแท้ มีคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงต้องเรียกหาใบรับรองคุณภาพสินค้าจากร้านค้า และสังเกตตราสัญลักษณ์ Hallmark ที่ตัวสินค้า ซึ่งเป็นตราประทับที่รับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่าด้วย”

นอกจากนี้ จากการที่ประชาชนนำทองคำมาให้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบมาตรฐานอัญมณีและเครื่องประดับของสถาบันฯตรวจสอบ พบว่ามีการผลิตและหลอกขายสินค้าทองคำปลอมมากขึ้น ทั้งทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ รวมถึงพระพุทธรูปทองคำ โดยผู้ผลิตหัวใสบางรายจะใช้โลหะที่มีน้ำหนักใกล้เคียงทองคำ เช่น ทังสเตน ที่ใช้ทำไส้หลอดไฟ มาทำเป็นทองคำแท่ง หรือพระพุทธรูป แล้วชุบทองคำหลายชั้น เพื่อให้เห็นว่าเป็นทองคำแท้ หรืออาจใช้โลหะชนิดอื่นมาทำอีก เช่น ตะกั่วชุบทอง ซึ่งมีน้ำหนักน้อยกว่าทองคำ เมื่อทำออกมาเป็นเครื่องประดับ ก็อาจจะมีขนาดใหญ่กว่าทองคำแท้ หรืออาจจะใช้ทองเหลืองด้วย

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบทองคำปลอมเหล่านี้ หากเป็นร้านขายทองคำ จะใช้วิธีการตะไบลึกเข้าไปในเนื้อทองคำเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ไม่รู้ว่าวัสดุด้านในเป็นอะไร หรือบางครั้งตะไบไปแล้วพบเป็นสีเหลืองๆ ก็คิดว่าเป็นทองคำแล้ว ทั้งที่จริงเป็นทองเหลือง ส่วนถ้าเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบ (ห้องแล็บ) ขนาดเล็กที่มีเครื่องมือตรวจสอบไม่ได้มาตรฐาน ก็อาจตรวจสอบไม่พบว่าเป็นของปลอม เพราะจะใช้เพียงการยิงเลเซอร์เท่านั้น แต่เลเซอร์จะไม่สามารถยิงไปจนถึงเนื้อด้านในได้

“แต่สำหรับห้องแล็บของสถาบันฯจะมีเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน และดีที่สุดในประเทศ ทำให้ตรวจสอบได้หมดว่าโลหะใดเป็นของแท้หรือของปลอม อย่างทองคำชุบหลายชั้น สถาบันฯจะใช้คลื่นอัลตราโซนิคตรวจสอบ ถ้าเป็นทองคำทั้งหมดความถี่ของคลื่นอัลตราโซนิคจะออกมาเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นทองคำชุบด้านนอกแล้วด้านในเป็นทังสเตนหรือตะกั่ว คลื่นก็จะออกมาต่างกัน ทำให้รู้ได้ทันทีว่าเป็นทองคำแท้หรือทองคำปลอม จึงอยากให้ประชาชนที่มีโลหะมีค่า ทั้งเพชร พลอย รวมถึงทองคำ นำเครื่องประดับของตนเองมาให้สถาบันฯตรวจสอบได้”

ดังนั้น สถาบันฯอยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่า (จีไอที สแตนดาร์ด) แบบสมัครใจ โดยใช้มาตรฐานสากลไอเอสโอ โดยจะกำหนดมาตรฐานด้านการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น ตรวจสอบทองคำ เพชร พลอย จะมีหลักเกณฑ์อย่างไร เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบมีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ สร้างความน่าเชื่อถือในตัวสินค้า ผู้ค้า และประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆนี้ จากนั้นจะทำเป็นคู่มือเผยแพร่ให้ห้องแล็บต่างๆนำไปใช้ รวมถึงจะแจ้งให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ทราบว่ามีมาตรฐานนี้แล้ว หากจะนำไปทำเป็นกฎ ระเบียบ กำหนดให้ห้องแล็บต้องดำเนินการตามก็ได้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ