ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษคณะกรรมการบริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) (POLAR) กับพวกรวม 11 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีร่วมกันสร้างหนี้เทียม 3,600 ล้านบาท เพื่อให้ POLAR เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการรวมทั้งลงข้อความเท็จในบัญชีหรือเอกสารที่เกี่ยวกับ POLAR พยายามเบียดบังเอาทรัพย์สินของ POLAR เป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และพยายามแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นซึ่งทำให้ POLAR เสียหาย โดยบุคคลที่ถูกกล่าวโทษ ประกอบด้วย กรรมการ POLAR 5 ราย ได้แก่ (1) นายญาณกร วรากุลรักษ์ (2) นายพูนศักดิ์ ชุมช่วย (3) นายอาสา นินนาท (4) นายฐากร ทวีศรี และ (5) นายดนุช บุนนาค รวมทั้งบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นอีก 6 ราย ได้แก่ (6) บริษัท ซิมบา อินเตอร์ จำกัด (7) นายอัครเดช วัฒนะ (8) นายธัญพงศ์ ลิ้มวงศ์ยุติ (9) บริษัท ยูไนเต็ด เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด (10) นายอภิรักษ์ จูตระกูล และ (11) นายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย
สืบเนื่องจาก ก.ล.ต.มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของกรรมการ POLAR ในไตรมาส 2 ปี 60 ประกอบกับมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการของ POLAR จำนวนมาก ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดทำให้ ก.ล.ต.สรุปได้ว่า บุคคลทั้ง 11 ราย ได้ร่วมกันดำเนินการหรือมีส่วนรู้เห็นยินยอมและสนับสนุนการกระทำผิดในช่วงปี 60 มีรายละเอียด ดังนี้ (1) คณะกรรมการบริษัท POLAR แกล้งให้ POLAR เป็นหนี้ราว 3,600 ล้านบาท ทั้งที่ไม่เป็นความจริง โดยให้บุคคลภายนอกนำมูลหนี้ที่ไม่เป็นความจริงมาฟ้องเรียกค่าเสียหายมูลค่าสูง เพื่อลวงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า POLAR มีหนี้สินเพิ่มขึ้นมากในระยะเวลาอันสั้น จนเข้าข้อสันนิษฐานของการมีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นเหตุในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและล้มละลาย ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลให้เจ้าหนี้ที่แท้จริงของ POLAR ไม่ได้รับชำระหนี้ การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นความผิดฐานกระทำการไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
(2) การแกล้งให้ POLAR เป็นหนี้ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ทำให้บุคคลภายนอกที่นำมูลหนี้ซึ่งไม่เป็นความจริงมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก POLAR สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้ม ละลายที่ POLAR ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วได้ เข้าข่ายเป็นการพยายามเบียดบังเอาทรัพย์ของ POLAR เพื่อประโยชน์ของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และเป็นการพยายามแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ทำให้ POLAR เสียหาย
(3) การที่คณะกรรมการบริษัท POLAR จัดประชุมกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ POLAR ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างว่าบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัวจากหนี้ทั้งที่ไม่เป็นความจริง และการที่ POLAR ชี้แจงข้อมูลต่อตลาด หลักทรัพย์เกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ที่ระบุว่าบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว รวมถึงการที่ POLAR ยื่นคำให้การในคดีล้มละลายโดยยอมรับตามคำฟ้องของนายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย (ผู้ยื่นฟ้องล้มละลายบริษัท) ทุกประการว่า POLAR ผิดสัญญาซื้อขายหุ้น ต้องคืนเงินค่าหุ้นให้นายกำแหง 105 ล้านบาท เป็นการกระทำหรือยินยอมให้ลงข้อความเท็จในเอกสารของ POLAR หรือที่เกี่ยวกับ POLAR เพื่อลวงบุคคลทั่วไปรวมทั้งผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของ POLAR
ทั้งนี้ การกระทำข้างต้นเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 310-312 มาตรา 308 และมาตรา 311 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ประกอบมาตรา 80 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้ ก.ล.ต.ต้องดำเนินการกล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อดีเอสไอ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยการกระทำผิดแต่ละกรณีอาจต้องระวางโทษอาญาโดยจำคุกตั้งแต่ 5 ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีผลให้บุคคลที่ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร และไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ซึ่งกรณีนี้เป็นผลให้กรรมการ POLAR ทั้งคณะ 5 รายไม่สามารถเป็นกรรมการ POLAR ต่อไปได้ แต่กรณีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการ POLAR เนื่องจากปัจจุบันอำนาจการบริหารจัดการตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษา ให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด POLAR อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น.