ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างหารือ เพื่อพิจารณาแนวทางดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ ในรูปแบบต่างๆที่อาจต้องปล่อยให้ราคาขายปลีกสูงเกิน 30 บาท/ลิตร โดยจะเป็นการทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได ผ่านวิธีการค่อยๆ ลดการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ในประเทศให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลกให้มากขึ้น ที่สำคัญต้องกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด แต่การทยอยปรับราคาดีเซลขึ้นในครั้งนี้ จะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่คนเดินทางกลับภูมิลำเนา ในช่วงวันหยุดยาววันที่ 11-17 เม.ย.นี้แน่นอน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องค่าน้ำมันในการเดินทาง
ดังนั้น ในระหว่างนี้กองทุนน้ำมันจะยังช่วยอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไปก่อนในอัตรา 4.57 บาท/ลิตร ตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ให้กองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มเติมอีก 40 สตางค์ (สต.)/ลิตร จากก่อนหน้านี้อุดหนุนอยู่ 4.17 บาท/ลิตร แม้มาตรการตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรตามนโยบายของรัฐบาลจะสิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่กองทุนน้ำมันยังคงอุดหนุนราคาดีเซลด้วยเงินสะสมของกองทุนน้ำมันต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลที่จะสิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย. ช่วยอยู่อีก 1 บาท/ลิตร จากที่ต้องเก็บเต็มอัตรา 5.99 บาท/ลิตร แต่ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.ที่จะถึงนี้ การลดภาษีสรรพสามิตดังกล่าวจะเป็นอย่างไร ต้องรอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณา ซึ่งหากไม่มีมาตรการใดๆเข้ามาอุดหนุนน้ำมันดีเซล ราคาขายปลีกที่แท้จริงจะอยู่ที่ 35-36 บาท/ลิตร แต่ยืนยันว่ากองทุนน้ำมันจะดูแลไม่ให้ปรับขึ้นทันทีเพียงครั้งเดียวให้เท่ากับต้นทุนที่แท้จริงดังกล่าว
ล่าสุด ณ ปัจจุบันวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา จะเห็นว่าราคาน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียมดีเซล B7 ที่ใช้เติมในรถยนต์หรู ได้เริ่มปรับขึ้นแล้ว 40 สต./ลิตรไปอยู่ที่ 41.94 บาท/ลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซล B7, B10 และ B20 ยังคงอยู่ที่ 29.94 บาท/ลิตร โดยกองทุนน้ำมันได้เข้าอุดหนุนในอัตรา 4.57 บาท/ ลิตร ไม่ให้ราคาดีเซลเกิน 30 บาท/ลิตร ส่งผลให้ฐานะกองทุน ณ วันที่ 31 มี.ค. มีสถานะติดลบ 99,821 ล้านบาท เป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 52,729 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 47,092 ล้านบาท
สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและกลุ่มแก๊สโซฮอล์ในประเทศในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.-4 เม.ย.ได้ทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง 5 ครั้ง เป็นเงิน 2.10 บาท/ลิตร ตามทิศทางตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซินและกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันเบนซินปรับขึ้นอยู่ที่ 47.84 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 38.48 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 39.95 บาท/ลิตร E20 อยู่ที่ 37.84 บาท/ลิตร E85 อยู่ที่ 37.59 บาท/ลิตร พรีเมียม แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 47.64 บาท/ลิตร
ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ต้นปี 2567 ระหว่างวันที่ 5 ม.ค-4 เม.ย. ราคาน้ำมันเบนซินปรับขึ้นแล้ว 15 ครั้ง รวม 6.10 บาทต่อลิตร ขณะที่มีการปรับลดลง 4 ครั้ง เป็นเงิน 1.40 บาท ดังนั้น ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินปรับขึ้นสุทธิ 4.70 บาท
ด้านนายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า OR ได้เตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง รองรับการเดินทางท่องเที่ยว และการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชน โดยจะไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมันเป็นเวลา 6 วัน ระหว่างวันที่ 12-17 เม.ย.นี้ ถึงแม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนและอำนวยความสะดวกผู้บริโภค แต่หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง OR ก็จะปรับราคาน้ำมันลง ตลอดจนได้สำรองน้ำมันทั้งที่สถานีบริการพีทีที สเตชั่น และคลังน้ำมันของ OR ทั่วประเทศให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการ และยังได้จัดให้พีทีที สเตชั่น เป็นจุดแวะพักที่จะช่วยเติมเต็มความสุขให้ทั้งผู้คน สังคม และชุมชน โดยได้จัดเตรียม “จุดช่วยเหลือเพื่อนเดินทาง” ซึ่งมีทั้งอุปกรณ์ปฐมพยาบาล และอุปกรณ์ช่วยเหลือรถเบื้องต้นเพื่อช่วยเหลือผู้เดินทางได้อย่างทันท่วงที.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่