ระเบิดเวลา “ราคาพลังงาน”

Investment

Oil

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ระเบิดเวลา “ราคาพลังงาน”

Date Time: 19 ก.ย. 2566 05:33 น.

Latest

ราคาน้ำมันพรุ่งนี้ 20 ก.ย.2567 อัปเดตราคาน้ำมันทุกชนิดล่าสุดลิตรละกี่บาท

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานใน 2 ด้าน

ประกอบด้วย การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-31 ธ.ค.นี้ โดยใช้กลไกการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาท ต่อจากปัจจุบัน 31.94 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินจะหาแนวทางช่วยเหลือแบบมุ่งเป้าให้แก่ผู้ใช้น้ำมันเบนซินกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่ รวมทั้งจะกำกับดูแลราคาขายปลีกให้มีค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสม 2 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 3 บาทต่อลิตร

สำหรับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จะตรึงราคาขายปลีกที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค.นี้ ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และสุดท้ายในส่วนของค่าไฟฟ้าได้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ จากเดิมอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินดำเนินการรวม 30,000 ล้านบาท

มาตรการดังกล่าวอาจถูกใจคนทั้งประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งกลับเป็นดาบสองคม เพราะการลดราคาพลังงานทันทีให้ทันใจประชาชนจะกลับตาลปัตรกลายเป็น “การสร้างความเสี่ยงเศรษฐกิจในทันที หนี้สาธารณะอาจเพิ่มขึ้น” เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลมองปัญหาและทางแก้ปัญหาราคาพลังงานแพงที่เป็นอยู่อย่างไร ราคาระดับเท่าใด และอุดหนุนถึงจุดไหนจึงจะเหมาะสม แม้ว่าหลายคนจะบอกว่า บ้านเราก็มีแหล่งเชื้อเพลิงเป็นของตัวเอง แต่ต้องยอมรับความจริงว่า แหล่งเชื้อเพลิงของเรามีปริมาณที่น้อยนิดไม่พอใช้ ทำให้เราต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศล้วนๆ

ด้านบรรดากูรูในแวดวงพลังงานมองว่าเรื่องนี้เป็นเพียง “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เพราะกระทรวงพลังงานก็ยังต้องพึ่งพากลไกเดิมๆ โดยเฉพาะก๊าซหุงต้ม ถ้าไม่ยึดแนวทางตรึงราคาต่อที่ปัจจุบัน 423 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) หากต้องลดราคาลงอีก กองทุนน้ำมันก็ต้องเป็นผู้ แบกรับภาระต่อไป ซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานในระยะหนึ่ง

ขณะที่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ คณะกรรมการบริหารน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้บริหารกองทุนน้ำมัน ด้วยการใช้เป็นกลไกดูแลเสถียรภาพราคา ทำให้ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 10 ก.ย. ยังติดลบที่ 59,085 ล้านบาท แบ่งเป็นภาระหนี้ของบัญชีน้ำมัน 14,311 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม 44,774 ล้านบาท

หากสแกนเข้าไปดูผลดีและผลเสียของนโยบายอุดหนุนราคาหรือลดราคาพลังงานแล้ว จะเห็นด้านดีแน่นอน ช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ทั้งค่าเดินทาง ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ไม่ทำให้ต้นทุนปรับสูงขึ้น แต่การใช้เงินจากกองทุนน้ำมันและเงินภาษีของทุกคนมาอุดหนุน ก็เป็นภาระทางการคลังของประเทศที่ก่อให้เกิดผลเสียไม่น้อย

ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ที่จะนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศโดยรวมไปแล้ว 158,000 ล้านบาท และกองทุนน้ำมัน ที่เป็นด่านหน้าในการช่วยพยุงราคาก็ใช้เงินพยุงราคาจนทำให้ ฐานะของกองทุนติดลบก่อนหน้านี้รวม 130,000 ล้านบาท

รัฐบาลจึงต้องออกกฎหมายค้ำประกันเงินกู้ให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (พ.ร.ก.ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565) เพื่อการันตีในการกู้เงินสถาบันการเงินมาเสริมสภาพคล่อง

ยิ่งเมื่อย้อนอดีตให้เห็นตัวเลขแล้ว หากการอุดหนุนยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่จำกัดช่วงเวลา หรือไม่จำกัดเฉพาะช่วงวิกฤติเท่านั้น อาจส่งผลด้านลบหลายด้าน ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อฐานะการเงินการคลัง กลายเป็นหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น และทำให้ประชาชนไม่รู้จักและเกิดความรู้สึกว่าต้องช่วยกันประหยัด

ที่สำคัญการอุดหนุนราคาพลังงานที่เชื้อเพลิงมาจากฟอสซิล ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการใช้พลังงานสะอาดในอนาคตของประเทศไทย และทำให้การบรรลุมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 ยิ่งห่างไกลจากเป้าหมายยิ่งขึ้น

โดยกรณีนี้หากจะแก้ปัญหาในระยะยาว รัฐบาลจะต้องกำหนดให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ด้วยการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เพื่อให้เกิดการดูแลราคาพลังงานให้มีเสถียรภาพ ช่วยให้ทุกคนปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือการที่ต้องอุ้มหรือจ่ายเงินเพื่ออุดหนุนราคาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะเป้าหมายในการจัดตั้ง “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” มีเป้าหมายที่แท้จริงว่า “เพื่อดูแลเสถียรภาพของราคาน้ำมัน” และ “การสร้างเสถียรภาพพลังงาน” และนโยบายลดราคาพลังงานต้องทำแค่เพียงระยะเวลาชั่วคราว เพราะหากปล่อยให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังเป็นดินพอกหางหมูไปเรื่อยๆ

สุดท้ายก็จะกลายเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมระเบิดใส่คนไทยทุกคน!!!

เกรียงไกร พันธุ์เพ็ชร

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ