ถอดรหัสราคาดีเซล ผูกกลไกไบโอดีเซล

Investment

Oil

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ถอดรหัสราคาดีเซล ผูกกลไกไบโอดีเซล

Date Time: 23 ส.ค. 2566 06:57 น.

Summary

  • คำถามสำคัญมีว่า ราคาตามโครงสร้างน้ำมันบี 100 ที่เคาะกันอยู่ที่ลิตรละ 33.90 บาทนั้น เป็นราคาที่ถึงมือเกษตรกรต้นน้ำมากน้อยแค่ไหน อย่างไร? ตอนนี้เริ่มมีคนออกมาพูดแล้วว่าไบโอดีเซลราคาตามโครงสร้างไม่ใช่ราคาจริง เพราะราคาที่มีการซื้อขายจริงถูกกว่านี้อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์

Latest

ราคาน้ำมันพรุ่งนี้ 20 พ.ย.2567 อัปเดตราคาน้ำมันทุกชนิดล่าสุดลิตรละกี่บาท

กลไกราคาน้ำมัน “ดีเซล” เป็นอีกประเด็นซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่หลายๆฝ่ายเฝ้าติดตาม เพื่อตามหาความกระจ่างชัดในทุกเหลี่ยมมุม โดยเฉพาะความเชื่อมโยงกับน้ำมันปาล์ม “ไบโอดีเซลบี 100” ที่นำมาเป็นส่วนผสมที่มีปัจจัยผกผันเรื่องราคาอ้างอิง

“น้ำมันดีเซล” เกี่ยวโยงกับน้ำมันปาล์ม “ไบโอดีเซล (บี 100)” อย่างไร?

อธิราษฎร์ ดำดี อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ (กนป.) ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงน้ำมันปาล์มมาอย่างยาวนาน บอกว่า วันนี้น้ำมันดีเซลพื้นฐานที่เห็นตามปั๊มหัวจ่ายทุกสูตรจะเป็นสูตรเดียวกันมีส่วนผสมน้ำมันปาล์มบี 100 อยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์

แต่มี...ดีเซลอยู่กลุ่มหนึ่งเป็นพรีเมียมอันนั้นแพงกว่า เป็นอีกเกรดสูตรพิเศษขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแต่ละราย...ก็น่าจะมีส่วนผสมไบโอดีเซลอีกเกรดที่ทำให้ค่าการเผาไหม้สูงขึ้นไปอีก เป็นความลับของผู้ผลิตแต่ละราย ซึ่งไบโอดีเซลมีอยู่รุ่นหนึ่งที่บริสุทธิ์กว่า...ค่าซีเทนนัมเบอร์สูงขึ้น แล้วการหล่อลื่นได้เหมือนเดิม

ให้รู้ไว้อีกว่า “ไบโอดีเซล” ที่เกิดขึ้นในยุคแรกๆนั้นเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันปาล์มถูก ขณะที่น้ำมันดีเซลแพงต่างกันเป็นเท่าตัว แล้วเราก็เริ่มมีความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล...ขณะที่น้ำมันปาล์มเมื่อผ่านกระบวนการเปลี่ยนโครงสร้างทางโมเลกุลแล้วก็กลายเป็นน้ำมันที่มีการหล่อลื่นสูง

ทั้งยังมีการเผาไหม้ดี และที่สำคัญ...ช่วยลดเรื่องควันดำ น้ำมันไบโอดีเซลก็เลยถูกระบุว่า เป็นสารเพิ่มคุณภาพอยู่ในน้ำมันเชื้อเพลิง

เราก็เพิ่มสัดส่วนกันมาเรื่อยๆไล่กันมาตั้งแต่ 2% ตั้งแต่ปี 2551... 3%...5%...7%...มีอยู่ช่วงหนึ่งน้ำมันปาล์มราคาแพงใกล้เคียงดีเซลราวปี 2558 ก็มีการลดจากบี 7 ลดลงมาที่บี 5 แล้วก็ลงมาถึงบี 3...ใช้สัดส่วนนี้นานสองสามปีกว่าจะขึ้นมาเป็นบี 7 ได้ ก็ด้วยราคาน้ำมันปาล์มตกรุนแรงน่าจะในช่วงปี 2560

อธิราษฎร์ ดำดี
อธิราษฎร์ ดำดี

พอปรับส่วนผสมขึ้นมาช้าราคาปาล์มก็ตกไปแล้ว น้ำมันล้นมาก... ยุคไหนใครเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็ว่ากันไปก็เลยมี “บี 20” เกิดขึ้น แล้วก็กลายเป็นว่าจะให้ดีเซลทุกชนิดอย่างน้อยมีบี 10 เป็นดีเซลพื้นฐานเพราะราคาน้ำมันปาล์มถูกมากแล้วด้วย ที่สำคัญในช่วงเวลานั้นก็มีการนำบี 100 มาใช้กันอย่างครึกโครม

ถ้าสนนราคาน้ำมันบี 100 ออกจากโรงงานอยู่ที่ลิตรละ 17 บาท ผ่านมาถึงมือผู้บริโภคปลายทางก็ไม่เกิน 20-21 บาทต่อลิตร เป็นช่วงที่มีการรณรงค์ส่งเสริมกันไปทั่ว พอสถานการณ์เริ่มคลายล็อก น้ำมันปาล์มเริ่มกลับมาแพงก็เลยหายไป รอบนี้ปรากฏว่า...สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ว่าบี 100 หายไปอย่างเดียว แต่บี 20 ก็หายไปด้วย

ถ้าผ่านกลไกของหัวจ่ายในสถานีบริการ “ดีเซลบี 20” มีราคาโปรโมชันช่วย แต่พอราคาบี 100 กับดีเซลไม่แตกต่างกันมากปริมาณก็ลดลง ทุกวันนี้ก็เหลือแต่ “บี 7”

เราจะเห็นว่าสัดส่วนของการใช้ “ไบโอดีเซล” มีความไม่แน่นอน ไม่เหมือนช่วงแรกที่ออกนโยบายว่า ให้ช่วยกันปลูกปาล์มเพื่อเป็นพลังงานทดแทน เป็น “น้ำมันบนดิน” ช่วยให้ลดปัญหาฝุ่นควัน... สิ่งแวดล้อม PM2.5

เรามีแผนปัจจุบันต้องใช้ถึงบี 10 ปลูกปาล์มอย่างน้อย 10 ล้านไร่ ให้เข้าใจด้วยว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้น ไม่ใช่พืชรายปีที่ว่า...ปีนี้ข้าวถูกอย่าทำนาหลายครั้ง ปีนี้มันสำปะหลังถูกให้ลดพื้นที่ปลูกไปปลูกอย่างอื่นก่อน “ปาล์มน้ำมัน”...ปลูกแล้วจะเก็บเกี่ยวไปเรื่อยๆ 20-30 ปี

ปาล์มเป็นพืชสวน ถ้านโยบายปรับตัวช้ากว่าสถานการณ์ โดยเฉพาะการใช้เป็นพลังงานก็กระทบกับชาวสวนปาล์มด้วย”

ประเด็นสำคัญก็คือ “นโยบาย” และ “การบริหารจัดการ”...วัตถุดิบเรามีพร้อม พื้นที่ปลูกปาล์มมีประมาณ 6 ล้านไร่ น้ำมันปาล์มเรามีปีละ 3 ล้านตัน...สองปีที่ผ่านมานี้เราใช้บริโภคเดือนละ 1 แสนตัน ตกปีละ 1.2 ล้านตัน ใช้เป็นพลังงานใกล้เคียงกันปีละ 1.2 ล้านตัน หรืออาจจะเริ่มต่ำกว่าด้วย

เนื่องจากสองปีที่ผ่านมาพอราคาปาล์มไทยเริ่มนิ่ง ผนวกกับราคาตลาดโลกก็อยู่พอๆ กัน...เพราะเราผลิตได้มากสต๊อกเริ่มล้น ผลิตได้ก็ส่งออกเดือนละเป็นแสนตันเช่นกัน ก็กลายเป็นว่าส่งออกได้ปีละ 1.2 ล้านตัน

เฉลี่ยแล้วน้ำมันปาล์มประเทศไทยจึงถูกแบ่งออกเป็น 3 กอง...เมื่อก่อนสต๊อก 5-6 แสนตัน ตอนนี้อยู่ที่ 2-3 แสนตัน เกิดจากการปรับตัวของผู้ประกอบการ ทำการส่งออกได้มากขึ้นและสม่ำเสมอขึ้น ก็เลยกลายเป็นว่าเรามีกองส่งออกมาช่วย ทำให้สต๊อกไม่บวมเหมือนที่ผ่านๆมา

เข้าใจง่ายๆก็คือ ปัจจุบันเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์มมีมากขึ้น ผลิตเกินบริโภคอยู่แล้ว...ปัญหาสำคัญอยู่ที่ “ราคาน้ำมันปาล์ม” กับ “ราคาน้ำมันดีเซล” ที่สูสีคู่คี่กัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นว่าราคาน้ำมันปาล์มเมื่อนำมาใช้เป็นน้ำมันดีเซลจะสูงกว่า

อธิราษฎร์ ยกตัวเลขให้เห็นภาพอีกว่า ถ้าไปถอดดูโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลวันนี้ จะเห็นว่าในวันนี้ราคาโครงสร้างน้ำมันบี 100 จะอยู่ที่ 33.90 บาท แพงกว่าราคาบี 7 ที่ขึ้นป้ายอยู่ที่ราวๆ 32 บาท

ทีนี้ในราคาดีเซลที่ขายปลีกอยู่ที่หน้าปั๊มลิตรละ 32 บาท...ก็มีเงินกองทุนเข้ามาช่วย 1.59 สตางค์ ส่วนนี้ถ้าไม่ช่วยน้ำมันดีเซลก็จะแพงขึ้นไปอีกแน่นอน...ไม่นับรวมภาษีสรรพสามิตที่จะยกเลิกแล้วจะกลับมาเก็บอีกระลอกลิตรละ 5 บาท (21 ก.ค.66) ถ้าหมดไปแล้วก็จะมีช่องภาษีอยู่จะกลับมาเก็บเต็ม

ตัวแปร “ไบโอดีเซลบี 100” ไม่ได้ขายตรงให้กับผู้บริโภค แต่ขายให้กับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 นำไปผสมมาก...ผสมน้อยก็มีผลกับราคาขายปลีกหน้าปั๊ม...น้อยมากเป็นเงาตามตัว

คำถามสำคัญมีว่า ราคาตามโครงสร้างน้ำมันบี 100 ที่เคาะกันอยู่ที่ลิตรละ 33.90 บาทนั้น เป็นราคาที่ถึงมือเกษตรกรต้นน้ำมากน้อยแค่ไหน อย่างไร?

อธิราษฎร์ บอกว่า ตอนนี้เริ่มมีคนออกมาพูดแล้วว่าไบโอดีเซลราคาตามโครงสร้างไม่ใช่ราคาจริง เพราะราคาที่มีการซื้อขายจริงถูกกว่านี้อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์

พูดง่ายๆคือ ก็อาจจะถูกซื้อมาในราคาลิตรละ 30-31 บาท ส่วนต่าง 3-4 บาทต่อลิตร

ส่วนราคาข้างต้น “ลิตรละ 33.90 บาท” เป็นราคากลาง...ในทางปฏิบัติจริงๆเมื่อจะตกลงจะซื้อจะขายก็มีการเจรจาประมูลซื้อต่ำกว่า “ราคากลาง” ที่ตั้งไข่กันเอาไว้ ไม่สะท้อนต้นทุนจริงๆธุรกิจผู้ค้าน้ำมัน

น่าสนใจว่า...ทุกคนก็แข่งขันกันลดราคาเพื่อที่อยากให้ขายได้ ขณะที่สัดส่วน “น้ำมันไบโอดีเซล” เหมือนตัวสำรองเดี๋ยวจะลดจะเพิ่มเติมเข้าไปในน้ำมันดีเซล แถมด้วยเหตุผล...รถไฟฟ้าจะมาแล้วจะไม่มีคนใช้แล้วนะ ก็เหมือนถูกบีบให้รีบขายโดยเร็ว

ยิ่งรู้ไส้รู้พุงอีกด้วยว่าในกระบวนการผลิต “ไบโอดีเซล” แต่ละเดือน เมื่อเดินเครื่อง 10 วัน ผลิตไบโอดีเซลออกมาได้แล้ว เหลือเวลาอีก 20 วัน ก็จะเป็นช่วงล้างเครื่องแล้วก็พยายามขายน้ำมัน แน่นอนว่ายิ่งขายได้เร็วใครก็อยากขาย ก็ยิ่งทำให้ “ผู้ซื้อ” มีข้อต่อรองได้เปรียบมากยิ่งขึ้น

“ไบโอดีเซลบี 100”...จึงเสมือนภาพมายา ราคาจำแลง แปลงกาย... ลับลวงพรางให้ “ราคาน้ำมันดีเซล” ลดได้...เพิ่มได้ ด้วยกลไกทางธุรกิจไม่ได้อิงตามต้นทุนราคาที่เป็นจริง?

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ