วิกฤติราคานํ้ามันไทย แก้ซํ้าซ้อนจนงูกินหาง

Investment

Oil

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

วิกฤติราคานํ้ามันไทย แก้ซํ้าซ้อนจนงูกินหาง

Date Time: 18 ส.ค. 2566 06:01 น.

Summary

  • คนไทยโล่งอกเมื่อ “คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” เห็นชอบใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ “อุ้มดีเซลขายปลีกไม่เกิน 32 บาท/ลิตร” หลังสิ้นสุดลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทตั้งแต่ 20 ก.ค.2566

Latest

ราคาน้ำมันพรุ่งนี้ 20 ก.ย.2567 อัปเดตราคาน้ำมันทุกชนิดล่าสุดลิตรละกี่บาท

คนไทยโล่งอกเมื่อ “คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” เห็นชอบใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ “อุ้มดีเซลขายปลีกไม่เกิน 32 บาท/ลิตร” หลังสิ้นสุดลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทตั้งแต่ 20 ก.ค.2566

อันเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพ “ไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลสูงขึ้น” ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ “ในระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่” ท่ามกลางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังติดลบเกือบ 5 หมื่นล้านบาท

กลไกราคาน้ำมันในประเทศนี้ รสนา โตสิตระกูล อดีต สว.กรุงเทพฯในฐานะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค บอกว่า โครงสร้างการนำเข้าน้ำมันดิบมักใช้ราคาของดูไบอ้างอิงในการกำหนดสำหรับ “ประเทศในเอเชีย” เพราะภูมิภาคนี้นำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเป็นหลัก

ตอนนี้ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือลิตรละ 18.43 บาท ส่วนราคาโรงกลั่นในไทย 26.43 บาท/ลิตร (ข้อมูล 3 ส.ค.2566) ถ้าเป็นในส่วน “น้ำมันดีเซล” จะมีสัดส่วนไบโอดีเซลผสมในเนื้อน้ำมัน 7% และปัจจุบันนี้น้ำมันไบโอดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 30 กว่าบาท/ลิตร นั้นเท่ากับว่าต้นทุนราคาน้ำมันดีดเพิ่มขึ้น 2.50 บาท/ลิตร

ทำให้เนื้อน้ำมันดีเซลไม่รวมภาษีอยู่ที่ 28.88 บาท/ลิตร หากนำมาบวกภาษีสรรพสามิต 5.99 บาท ภาษีเทศบาล 10% ของภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.6 บาท/ลิตร ค่าการตลาด 5.9 บาท/ลิตร แต่ในส่วนกองทุนน้ำมันต้องออกเงินช่วยน้ำมันดีเซล 3.13 บาท/ลิตร เพื่อให้ราคาขายปลีกหน้าปั๊มคงอยู่ที่ 31.94 บาท/ลิตร

ความจริงก่อนหน้านี้เคยออกมาเรียกร้องให้ “รัฐบาล” ปรับลดน้ำมัน

ดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตรมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนองอ้างความจำเป็นต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯเฉลี่ย 4.14 บาท/ลิตร เพื่อนำไปใช้หนี้ติดลบมากกว่า 1 แสนล้านบาท และตอนนี้จ่ายไปแล้วยังเหลือติดลบอีกเกือบ 5 หมื่นล้านบาท

ทำให้ยังจำเป็นต้องเก็บเงินเข้ากองทุนฯ “ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลอยู่ไม่เกิน 32 บาท/ลิตร” กระทั่งวันที่ 20 ก.ค.2566 มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตรสิ้นสุดลง “รัฐบาลรักษาการ” ก็ไม่อาจตัดสินใจต่ออายุการลดภาษีน้ำมันนั้นได้ กลายเป็นการแก้ปัญหาด้วยการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯเข้ามาชดเชยแทน

รสนา โตสิตระกูล
รสนา โตสิตระกูล

“จริงๆแล้วเงินนำมาชดเชยให้น้ำมันดีเซลนั้น ล้วนเป็นเงินของประชาชนแทบทั้งสิ้น อันเป็นกลไกลักษณะจ่ายไปก่อน 32 บาท/ลิตร ค่อยตามเก็บภายหลังในกรณีน้ำมันดิบตลาดโลกปรับลดลงแล้วราคาขายปลีกในประเทศต้องลดลงตาม แต่รัฐบาลจะยังเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ชดเชยกับช่วงนำไปใช้จ่ายก่อนหน้านั้นนั่นเอง” รสนาว่า

เรื่องนี้ส่งผลกระทบไม่เป็นธรรมถึง “ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์” ที่ถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ อันเป็นการออมใช้ในยามน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันไม่ให้แกว่งตัวเกินไป “กระทบค่าครองชีพของประชาชน” แต่กลับถูกนำเงินนั้นไปชดเชยอุ้มน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 32 บาท/ลิตร

หนำซ้ำช่วงที่ผ่านมา “เบนซิน แก๊สโซฮอล์” ในเดือน ก.ค.2566 ยังถูกปล่อยให้น้ำมันขึ้นราคา 10 ครั้ง ลง 2 ครั้ง “บวกลบแล้วขึ้นมาลิตรละ 2.80 บาท” อันเป็นการขูดรีดเลือดกับคนใช้เบนซิน แก๊สโซฮอล์มากไปหรือไม่...?

นอกจากนี้ ยังถูกเก็บภาษีสรรพสามิตลิตรละ 6.50 บาท, 5.85 บาท, 5.20 บาท และถูกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯตั้งแต่ 9.38 บาท/ลิตร 2.80 บาท/ลิตร แทนที่น้ำมันปรับขึ้นควรลดการเก็บเงินเข้ากองทุนฯกลับถูกเก็บเพิ่มขึ้น

ทั้งยังปล่อยให้ผู้ค้าเก็บค่าการตลาดสูงด้วย เช่น แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 3.80 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 3.97 บาท อี 20 ลิตรละ 4 บาท อี 85 ลิตรละ 5.33 บาท (ข้อมูล 3 ส.ค.2566) นับว่าเป็นตัวเลขเกินกว่าที่เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2566 “ค่าการตลาดแก๊สโซฮอล์ เบนซินที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 2 บาท/ลิตร” ดังนั้นควรควบคุมค่าการตลาดให้เหมาะสม และไม่ปล่อยราคาน้ำมันปรับขึ้นติดกันเช่นนี้

เพราะการปล่อยให้ “น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ปรับขึ้น” จะกลายเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้ “ผู้มีรายได้น้อย” ด้วยส่วนใหญ่ผู้ใช้เบนซิน แก๊สโซฮอล์มักเป็นคนขับรถ จยย.รับจ้าง ที่จะเป็นการตอกย้ำส่งผลกระทบภาระค่าใช้จ่ายในการครองชีพ และก่อให้เกิดปัญหาภาคสังคมเศรษฐกิจในภาพรวมตามมามากมาย

ตอกย้ำด้วย “กองทุนน้ำมันฯ” ถ้าย้อนดูตามเจตนาเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันของประเทศ เพราะสมัยหนึ่งน้ำมันในตลาดโลกแพงขึ้นมากจน “ประเทศไทย” ต้องหากลไกทางเลือกให้ราคาขายปลีกถูกลง ทำให้ต้องนำน้ำมันชีวภาพจากพืชธรรมชาติมาผสมน้ำมันฟอสซิล และเป็นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการเกษตรด้วย

กลายเป็นปัจจุบัน “กองทุนน้ำมันฯ” ต้องชดเชยเอทานอลราคา 29 บาท/ลิตร เพื่อนำมาผสมเบนซิน “อันเป็นราคาแพงกว่าตลาดโลก 9 บาท/ลิตร” เพราะสกัดจากมันสำปะหลัง 30% และ 70% จากกากน้ำตาลของธุรกิจโรงงานน้ำตาลที่สมัยก่อน “ไม่มีมูลค่า” เมื่อนำมาอิงราคามันสำปะหลัง ทำให้กากน้ำตาลเกิดมูลค่าแพงเกินจริงหรือไม่

ดังนั้น การกล่าวอ้างว่า “ชดเชยเอทานอลเพื่อช่วยชาวไร่มันสำปะหลังก็เป็นการนำชาวไร่สำปะหลังมาบังหน้าหรือไม่?” เหตุนี้แม้ว่าน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับลดลงเหลือลิตรละ 16 บาท แต่ราคาน้ำมันเบนซินก็คงขายปลีก 40 กว่าบาท/ลิตรเช่นเดิม สิ่งนี้ส่งผลกระทบให้เป็นภาระต่อประชาชนโดยไม่จำเป็นด้วยซ้ำ

เรื่องนี้กลายเป็นว่า “ผู้ใช้น้ำมัน” ถูกเก็บเงินเข้ากองทุนฯเพื่อแบกรับเอทานอลและไบโอดีเซล แต่ประโยชน์ตกอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางจนมีกำไรเกินสมควร ในส่วนเกษตรกรไม่มีสิทธิต่อรองได้ผลประโยชน์เพียงใด

แล้วยิ่งกว่านั้น พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ในบทเฉพาะกาลเปิดช่องหากจำเป็นนำเงินกองทุนใช้ชดเชยน้ำมันชีวภาพทำได้ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2565 แล้วต่ออายุได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี ด้วยเงื่อนไขต้องทำแผนการใช้เงินกองทุนชดเชยน้ำมันชีวภาพให้ลดน้อยลงทุกปี แต่ปัจจุบันนี้ “รัฐบาล” ก็ยังมียอดใช้เงินกองทุนเพิ่มขึ้นเช่นเดิม

ปัญหามีต่ออีกว่า “การเก็บภาษีราคาน้ำมันในประเทศ” ถูกเก็บตั้งแต่ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 2 รอบ ลักษณะการเก็บค่อนข้างซ้ำซ้อนไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันราคาแพงขึ้น

ถ้าย้อนดูตั้งแต่สมัย “รัฐบาลชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ” ก็เคยเก็บภาษีสรรพสามิตได้ปีละ 5.4 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลปัจจุบันนี้กลับเก็บภาษีตลอด 5 ปีมานี้ได้มากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 2 แสนล้านบาท ทำให้ระดับการเก็บภาษีก็ไม่เคยลดลง เช่น เบนซินเก็บ 6.50 บาท/ลิตร และก่อนนี้เก็บดีเซล 4.80 บาท/ลิตร

อย่าลืมว่าในแง่การขนส่งนั้น “น้ำมัน” เป็นต้นทุนธุรกิจ “ภาคการผลิต” จะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP มีระดับสูงร้อยละ 20 นั้นหมายความว่าสินค้าต้นทุน 100 บาท ถูกต้นทุนน้ำมันค่าขนส่งหักกินไป 20 บาท

ถ้าเปรียบเทียบกับ “สิงคโปร์” ที่น้ำมันขายปลีกแพงมาก แต่มีต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ร้อยละ 8 และ “มาเลเซีย” ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ร้อยละ 13 เหตุนี้ประเทศไทยอาจจะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะแข่งได้ก็ต้องลดต้นทุนลงทำได้ด้วย “กดค่าแรงหรือลดคุณภาพสินค้า” เพราะไม่อาจลดต้นทุนพลังงานได้

เช่นนี้ ยิ่งปรับเก็บภาษีซ้ำซ้อนมากย่อมส่งผลการแข่งขันสินค้ายากขึ้นดังนั้นจำเป็นต้องเก็บภาษีต่ำที่สุด เพื่อให้ธุรกิจแข่งขันกับประเทศอื่นได้แล้วค่อยเก็บภาษีจากกำไรของธุรกิจ แต่ไม่ใช่เก็บจากต้นทุนอย่างที่เป็นอยู่นี้

สุดท้ายขอเสนอให้ “รัฐบาลชุดใหม่” ควบคุมราคาน้ำมันด้วยการใช้วิธีปรับกลไกค่าการตลาดที่เหมาะสมไม่เกิน 2 บาท/ลิตร ตามที่เคยประกาศนโยบายเมื่อ 14 ก.พ.2566 สามารถลดค่าการตลาดลงเหลือ 1.50 บาท/ลิตร เพราะตอนนี้รัฐบาลไม่ยอมดำเนินการกล่าวอ้างว่าเป็นรัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจในการกระทำเช่นนั้นได้

ทั้งหมดนี้เป็นการวิเคราะห์ “โครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศ” เพื่อชี้ช่องว่างกลไกฝากไปถึง “รัฐบาลใหม่” ที่จะเข้ามาบริหารประเทศพิจารณาแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดมา 9 ปี แม้ว่าความหวังของคนไทยจะมีโอกาสได้ใช้น้ำมันราคาถูกเพียงน้อยนิดก็ตาม...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ