แม้เราจะรับมือกับปี 2022 มาเกือบทั้งปี จากหลายสถานการณ์โลกที่ส่งผลต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและราคาพลังงาน แต่นักวิเคราะห์ต่างชี้ว่าปี 2023 ก็อาจเป็นปีที่เราต้องรับบทหนักไม่ต่างกันนัก นักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. หรือ “PRISM Experts” คาดการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังจะส่งผลโดยตรงต่อราคาน้ำมันดิบที่พุ่งตัวสูง รวมถึงภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูง อีกทั้งโลกยังต้องเผชิญกับความขัดแย้งด้านต่างๆ ของประเทศมหาอำนาจ และภัยธรรมชาติที่เกินคาดเดาจากภาวะโลกร้อน ล้วนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่นำสถานการณ์โลกไปสู่ความผันผวนมากยิ่งขึ้น จนนิ่งนอนใจไม่ได้ แล้วเราจะต้องรับมือกับสิ่งใดบ้างนับจากนี้
จับกระแสโลก โดย PRISM Experts
นักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. หรือ “PRISM Experts” ได้เปิดเผยข้อมูลที่สนใจเกี่ยวกับตลาดพลังงานในปี 2022 ที่จะมีผลเกี่ยวเนื่องต่อไปยังปี 2023 ภายในงานสัมมนา “2022 The Annual Petroleum Outlook Forum : Thriving amid Global Energy Volatility towards Sustainable Future-เติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความผันผวนของพลังงานโลก” ว่าเหตุการณ์หนึ่งที่มีผลอย่างมากในวงกว้าง คือ ความรุนแรงและยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียเเละยูเครน ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มสูงถึง 100 เหรียญต่อบาร์เรล ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศที่มีบทบาทมากกับน้ำมันในตลาดโลกด้วย โดยมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบมากถึง 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบสูงถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน การส่งออกเป็นรองเพียงซาอุดีอาระเบียเท่านั้น ในขณะเดียวกันรัสเซียยังส่งออกไปยังตลาดยุโรปมากถึง 50% ทีเดียว
นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่น่าจับตาจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่เกิดขึ้น คือ ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตด้วยเช่นกัน เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ส่งออกสินค้าสำคัญของโลก อาทิ เหล็ก พาราเดียม น้ำมันดอกทานตะวัน รวมถึงข้าวสาลี ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่อย่างหลังปรับราคาเพิ่มขึ้นในรอบ 14 ปี เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภคบริโภคในหลายรายการที่จำต้องปรับราคาสูงขึ้น ผลคือปีนี้จีดีพีโตเพียง 3.2% ในขณะที่เงินเฟ้อสูงถึง 8.8% ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรโลกอย่างเห็นได้ชัด
PRISM Experts ชี้ ประเด็นที่ต้องจับตาในปี 2023
อย่างไรก็ตาม PRISM Experts มองว่าปี 2023 ก็ยังเป็นปีที่นิ่งนอนใจไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่อาจคาดเดาความรุนแรงได้ รวมถึงการคว่ำบาตรจากยุโรปนั้นจะเป็นได้มากน้อย หรือมีผลกระทบมากเพียงใด แต่คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะเฉลี่ยอยู่ที่ 85-95 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากปี 2022 ซึ่งอยู่ที่ 99 เหรียญสหรัฐ/บาเรล แต่ทั้งนี้ก็ยังเป็นราคาที่สูงเมื่อเทียบกับ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาจะแกว่งตัวได้ จากทั้งภาวะสงครามที่เกิดขึ้น เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการเคลื่อนไหวของขั้วอำนาจใหญ่ของการเมืองโลก อย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่ยังต้องจับตาเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ความไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ก็มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันและการใช้พลังงานเช่นกัน นักวิเคราะห์ชี้ว่า หากปี 2023 อากาศแปรปรวนก็จะส่งผลต่อราคาก๊าซธรรมชาติ ยิ่งผนวกกับความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ลดการส่งออกไปยังยุโรป ก็จะยิ่งทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นได้ ขณะเดียวกันนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีท่าทีที่จะลดลง ก็ส่งผลต่อทิศทางของตลาดมากขึ้นด้วย และอีกสิ่งที่ต้องจับตาควบคู่กันไป คือ ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและแก๊สโซลีน น้ำมันเจ็ต ที่ปัจจุบันยังไม่กลับมาเท่าที่ควรจะเป็น จากการที่จีนยังไม่เปิดประเทศจากมาตรการ Zero - COVID ก็ส่งผลอย่างมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมันสัมพันธ์กับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ
โลกในวันที่บอบบางขึ้น
อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากบนเวทีโลก คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ที่เป็นปัจจัยสำคัญส่งผลต่อตลาดพลังงาน รวมถึงมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างชัดเจน จนทำให้สหประชาชาติ (UN) ออกมาเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมลงนามสัตยาบัน Carbon Neutral ปี 2050 เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างเป็นรูปธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจจากนี้ คือ หลายประเทศทั่วโลกกำลังหันหน้าสู่การใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อเป็นทางออกของโลก และปรับตัวจากบางสถานการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี อย่างสหภาพยุโรปที่เริ่มมองว่า จากนี้จะมุ่งพัฒนาและพึ่งพาตัวเองจากการใช้พลังงานสะอาดภายในประเทศมากขึ้น แทนการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลจากรัสเซียแบบเดิม เป็นต้น ในอีกภาคหนึ่ง ทิศทางด้านพลังงานก็ค่อยๆ ปรับตัว ในขณะเดียวกันการปรับตัวในลักษณะนี้ก็อาจเป็นโอกาสใหม่ในการเติบโตอีกภาคหนึ่งสำหรับผู้ที่มองเห็นโอกาสได้เช่นกัน
ภายในงานสัมมนา “2022 The Annual Petroleum Outlook Forum : Thriving amid Global Energy Volatility towards Sustainable Future-เติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความผันผวนของพลังงานโลก” ยังมีการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ฝ่าวิกฤติพลังงาน สู่ความยั่งยืน” โดย คุณกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน คุณธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และ คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่ได้ร่วมกันหาทางออกในสถานการณ์ที่ท้าทายนี้สู่การสร้างความสมดุลใน 3 มิติ คือ การเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต และการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันอีกด้วย
ทั้งนี้ งานสัมมนา 2022 The Annual Petroleum Outlook Forum เป็นงานสัมมนาที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 จากความร่วมมือของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อนำเสนอบทวิเคราะห์ทิศทางราคาน้ำมัน สถานการณ์พลังงานและความท้าทายที่กระทบอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลก จากทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน หรือ “PRISM Experts” โดยจัดงานในรูปแบบการสัมมนาออนไลน์ ผู้สนใจสามารถรับชมงานสัมมนาย้อนหลังได้ทาง Facebook และ YouTube “PRISM PTT Group”