วิสัยทัศน์ในการขยายธุรกิจจากปลายน้ำ (ในฐานะผู้ค้าปลีกน้ำมัน) สู่ต้นน้ำ (ผู้สำรวจและผลิตปิโตรเลียม) ของกลุ่มบริษัทบางจาก ซึ่งมี ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) อันนำไปสู่การเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 45.7% มูลค่า 3,700 ล้านบาทในสตาร์ตอัพนอร์เวย์ที่ชื่อว่า OKEA เมื่อปี 2561 นั้น
เริ่มผลิดอกออกผล โดยเฉพาะในช่วงราคาน้ำมันขาขึ้น สะท้อนจากผลประกอบการของกลุ่มบางจากครึ่งแรกของปี 2565 ที่ประมาณ 30% ของ EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) ของกลุ่ม เกิดจากการดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผ่านบริษัท OKEA
OKEA เติบโตจากการเป็นสตาร์ตอัพด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เน้นลงทุนในแหล่งที่มีอายุระยะกลางถึงปลายบนพื้นที่ไหล่ทวีปของนอร์เวย์ (Norwegian Continental Shelf) ภายใต้กลยุทธ์เน้นสร้างการเติบโต สร้างมูลค่าและเคร่งครัดวินัยการลงทุน เพื่อขยายอายุสินทรัพย์ให้นานขึ้นจากแผนเดิม ปัจจุบัน OKEA กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯนอร์เวย์และมีมูลค่าเพิ่ม จากราคาหุ้นที่ขยับขึ้นจากช่วงต้นปีราว 15%
นอกจากการเติบโตของกำไรแล้ว การบุกเข้าสู่ธุรกิจผลิตและสำรวจปิโตรเลียม ยังทำให้บางจากได้เป็นเจ้าของแท่นขุดเจาะน้ำมันครั้งแรกผ่านบริษัท OKEA ซึ่งมีแหล่งปิโตรเลียมในนอร์เวย์รวมทั้งสิ้น 4 แหล่ง ได้แก่ แหล่ง Draugen ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 44.56% แหล่ง Gjoa (12%) แหล่ง Yme (15%) แหล่ง Ivar Aasen (2.77%) มีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมรวมประมาณ 20,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยมีแหล่ง Draugen (ดรอเก้น) เป็นขุมทรัพย์สำคัญ
แต่เดิม Draugen ซึ่งแปลว่าปีศาจแห่งท้องทะเล (Sea Creatures) เคยมีเชลล์ (Shell) เป็นเจ้าของ ขุดเจาะและสำรวจจนเข้าสู่ระยะกลาง-ปลาย เริ่มไม่คุ้มค่าสำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ เชลล์จึงส่งต่อให้ OKEA ดำเนินการ แต่น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ ยังต้องขายให้เชลล์
Draugen เป็นแท่นขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมที่มีขารองรับแท่นเดียว (Monopod) แห่งเดียวในโลก แตกต่างจากแท่นที่เห็นทั่วไป จึงมักมีผู้ไปเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทะเลเหนือ ประเทศนอร์เวย์ ห่างจากเมืองคริสเตียน ซุนด์ เมืองชายฝั่งตะวันตกราว 150 กิโลเมตร เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ประมาณ 30-40 นาที
Interestingengineering.com จัดให้ Draugen เป็นแท่นขุดเจาะน้ำมันที่น่าประทับใจที่สุดอันดับ 1 (Most impressive oil platform of the sea) โดดเด่นจากการเป็นแท่นขาเดียว โดยเปรียบเทียบ Draugen กับภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่อยู่เหนือผืนน้ำอาจดูไม่มั่นคง แต่สิ่งก่อสร้างใต้ผืนน้ำคือความยิ่งใหญ่ หนักแน่น
นั่นเป็นเพราะ Draugen ถูกออกแบบโดยใช้คอนกรีตห่อหุ้มโครงเหล็กที่สุดแข็งแรงและคงทน มีถังเก็บน้ำมันใต้ทะเลโดยรอบฐานแท่น จุบรรจุน้ำมันได้สูงสุด 1 ล้านบาร์เรล
แหล่ง Draugen ถูกค้นพบโดยเชลล์ในปี 2527 เริ่มแผนพัฒนา-ก่อสร้างในปี 2531 และเริ่มผลิตปิโตรเลียมในปี 2536 ในช่วงแรกสามารถผลิตปิโตรเลียมได้สูง 200,000 บาร์เรลต่อวัน มากกว่าน้ำมันที่ผลิตได้ในประเทศไทยทั้งหมด
จวบจนทุกวันนี้ ปีศาจแห่งท้องทะเลตนนี้ ปฏิบัติหน้าที่มาเป็นเวลา 29 ปีแล้ว เดิมถูกเชลล์ประเมินว่าจะหยุดการผลิตในปี 2570 แต่เมื่อเปลี่ยนมาอยู่ใต้การดำเนินงานของ OKEA ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้สามารถยืดเวลาการผลิตออกไปอีก ตั้งเป้าจะขยายให้ถึงปี 2583
ผลิตผลจากแหล่ง Draugen ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบ ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพระดับต้นๆของนอร์เวย์ น้ำหนักเบาและมีกำมะถันต่ำ ด้วยกลยุทธ์หลักของ OKEA ที่เน้นการยืดอายุแหล่งผลิต ด้วยการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมขนาดเล็กๆ ในบริเวณใกล้เคียงมาเสริม ภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ทาง OKEA จะเปิดดำเนินการ Hasselmus แหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งย่อยแห่งใหม่ ใกล้และเชื่อมต่อกับ Draugen ช่วยเพิ่มปริมาณผลิตปิโตรเลียมได้อีกวันละ 4,000 บาร์เรล
ส่วนการตัดสินใจลงเอยกับ OKEA นั้น ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช อธิบายว่า เพราะนอร์เวย์เป็นประเทศที่มีน้ำมันดิบและก๊าซเป็นจำนวนมาก เป็นผู้ส่งออกน้ำมัน-ไฟฟ้าหลักของยุโรป รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญและมีเป้าหมายด้านพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันดับต้นของโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสดีของบางจากในการรับถ่ายทอดความรู้
ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงเป็นที่มาของการปักหมุดหมายสำคัญของบริษัทไทย ผ่านการลงทุนเหนือน่านน้ำอันห่างไกลของชายฝั่งประเทศนอร์เวย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ผันเป็นเม็ดเงินกลับคืนเข้าสู่ประเทศ ให้น่าภาคภูมิใจและสมควรแก่การเล่าสู่กันฟัง.
ศุภิกา ยิ้มละมัย