มองภาพใหญ่ปัญหาพลังงาน เราจะผ่านวิกฤตินี้ได้อย่างไร

Investment

Oil

Tag

มองภาพใหญ่ปัญหาพลังงาน เราจะผ่านวิกฤตินี้ได้อย่างไร

Date Time: 2 ก.ค. 2565 12:40 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • อย่างที่เราทราบกันว่าปัญหาพลังงานได้ส่งผลกระทบอย่างหนักในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา โดยมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรง ส่วนผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อม ก็หนักหนาไม่แพ้กัน

Latest


อย่างที่เราทราบกันว่าปัญหาพลังงานได้ส่งผลกระทบอย่างหนักในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา โดยมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรง จากราคาน้ำมัน และก๊าซหุงต้มที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพ ส่วนผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อม ก็หนักหนาไม่แพ้กัน จากการที่ราคาอาหารปรับตัวขึ้นสูง และราคาปุ๋ยสำหรับสินค้าเกษตรปรับขึ้นเช่นกัน

บทความนี้ เราจะชักชวนให้มองภาพใหญ่ว่า สาเหตุที่ราคาพลังงานแพงขึ้นเพราะอะไร ขณะเดียวกันโลกของเราจะก้าวผ่านวิกฤติในเวลานี้ไปได้ด้วยวิธีไหน

สาเหตุที่ราคาพลังงานแพง

สาเหตุที่น้ำมันแพง ณ เวลานี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้เกิดการล็อกดาวน์ แน่นอนว่าการใช้น้ำมันก็ลดลงมหาศาล ประเทศที่ส่งออกน้ำมันหลายประเทศไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ เราจึงเห็นราคาน้ำมันดิบในช่วงปี 2020 มีราคาติดลบ ดังนั้นประเทศส่งออกน้ำมันก็ต้องลดกำลังการผลิตลงมาเพื่อที่จะทำให้ราคาน้ำมันกลับมาปรับสูงขึ้น ไม่เจ็บตัวไปมากกว่านี้

อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทน้ำมันก็ได้รับผลกระทบมหาศาล เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างหนัก และยังรวมถึงหลายประเทศมีนโยบายลงทุนในด้านพลังงานสะอาดที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลทำให้ไม่มีแรงจูงใจลงทุนในโครงการผลิตน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติโครงการใหม่ๆ เพราะว่าบริษัทน้ำมันเองก็มองแล้วว่า โลกก็ต้องย้ายไปพลังงานสะอาดค่อนข้างแน่

สิ่งที่เกิดทำให้ราคาน้ำมันทยอยปรับตัวสูงขึ้นมาเรื่อยๆ

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นการบุกยูเครนโดยรัสเซีย ยิ่งทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูเลวร้ายลงไปอีก เพราะว่าน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียได้โดนกลุ่มประเทศไม่ว่าจะเป็นในยุโรป หรือแม้แต่สหรัฐฯ คว่ำบาตร ส่งผลทำให้ประเทศเหล่านี้ที่ต้องการพลังงานเช่นกับประเทศอื่นๆ ในโลกต้องมาไล่ซื้อน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตอื่นๆ ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเองก็ไม่อยากเพิ่มกำลังการผลิตไปมากกว่านี้อีกด้วย แม้ว่าจะมีการร้องขอจากกลุ่มประเทศตะวันตกแล้วก็ตาม

เมื่อโลกต้องก้าวไปพลังงานสะอาด แต่ต้องชะงัก

ปัญหาที่เกิดขึ้นได้สร้างผลกระทบกับหลายประเทศทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรปที่ได้กล่าวไปข้างต้น รวมถึงประเทศจีน ที่ปกติแล้วประเทศเหล่านี้พยายามก้าวผ่านไปยังพลังงานสะอาด โดยใช้พลังงานอย่างเช่น ลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ต้องหยุดชะงักลงทันที เนื่องจากปัญหาราคาพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต หรือแม้แต่ความเป็นอยู่ของประชาชน

เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านไปยังพลังงานสะอาดเหล่านี้ต้องใช้เวลาขั้นต่ำ 5 ปี เพื่อที่จะได้พลังงานสะอาดเมื่อเทียบกับสัดส่วนนั้นไม่น้อยกว่า 30% (หลายประเทศตั้งเป้า 40% ขึ้นไปด้วยซ้ำ)

ผลที่เกิดขึ้นคือหลายประเทศต้องวกกลับมาใช้พลังงานจากฟอสซิล หรือก็คือถ่านหิน เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานที่มีผู้ผลิตหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน มองโกเลีย ออสเตรเลีย หรือแม้แต่อินโดนีเซีย ทำให้เมื่อไม่สัปดาห์ เราจะเห็นข่าวที่ว่าเยอรมันมีแผนจะกลับมาใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินอีกครั้ง หรือแม้แต่ประเทศจีนที่กลับมาใช้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นแล้ว แผนการที่หลายประเทศได้วางเป้าหมายว่าจะลดเป้าหมายในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเป็น 0 ภายในปี 2050 หรือไวกว่านั้น อาจต้องยืดระยะออกไปอีก

ใช้พลังงานจากฟอสซิลอีกรอบเพื่อแก้ปัญหา

บทความของ The Economist ที่มีชื่อว่า How to fix the world’s energy emergency without wrecking the environment ได้เสนอทางออกในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า การต้องกลับมาใช้พลังงานจากฟอสซิล เพื่อเหตุผลความมั่นคงเรื่องพลังงาน แต่พลังงานจากฟอสซิลที่ดีที่สุดในบทความนี้มองว่าควรจะเป็นก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ทางออกนั้นรัฐบาลควรจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติภายในระยะเวลาสั้นๆ รวมถึงให้ผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตระยะสั้น

นอกจากนี้ในบทความยังชี้ว่าในระยะสั้นเองเราก็ต้องจริงจังกับการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยไปกว่าเดิม รวมถึงทยอยเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มเข้าไปในระบบด้วย

ปูทางไปสู่การใช้พลังงานที่ดีกว่านี้

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ภาพใหญ่ที่รัฐบาลหลายประเทศยังยึดถือคือการเตรียมตัวที่จะใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นหลายเท่าตัว แม้ว่าจะมีเหตุการณ์วิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ตาม

แต่ในวิกฤตพลังงานครั้งนี้ก็มีหลายประเทศเริ่มหันกลับมาสนใจในพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตเกิน 1,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป ไปจนถึงอีกหนึ่งชุดความคิดที่ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาและวิจัยในตอนนี้ก็คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMRs ที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 300 เมกะวัตต์

ไม่ใช่แค่การลงทุนในแหล่งผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ในอนาคตการลงทุนในระบบสายส่งไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

สาเหตุสำคัญที่ต้องมีการลงทุน 2 จุดนี้ก็คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดยังมีจุดบอดในบางช่วงเวลาพลังงานสะอาดสามารถผลิตไฟฟ้าได้จำนวนมากเกินไป หรือไม่ก็น้อยเกินไป (อย่างเช่นวันที่ฝนตก หิมะตก หรือแม้แต่ลมไม่พัด) ส่งผลทำให้การผลิตไฟฟ้าไม่เกิดความเสถียร ซึ่งถ้าหากระบบสายส่งที่มีประสิทธิภาพสูง เราสามารถนำพลังงานจากแหล่งผลิตไฟฟ้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจากระบบกักเก็บพลังงาน หรือโรงไฟฟ้าแบบปกติเข้ามาช่วยได้

ยกตัวอย่างในประเทศจีน วางเป้าหมายที่งลงทุนในระบบสายส่งไฟฟ้าในช่วง 30 ปีหลังจากนี้เป็นงบสูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือแม้แต่ในออสเตรเลียที่มีการลงทุนในระบบกักเก็บพลังงานมากขึ้น เพื่อที่จะแก้ปัญหาไฟตกในหลายพื้นที่ของประเทศ

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่การลงทุนทั้งแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและระบบสายส่งไฟฟ้าเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญในอนาคตที่จะปรับเปลี่ยนไปเช่นกันก็คือการออกแบบอาคารต่างๆ ให้ประหยัดพลังงานมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่กินไฟฟ้าสูง การไหลเวียนของอากาศภายในตึกซึ่งจะลดการใช้เครื่องปรับอากาศได้ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายชนิดที่ผู้ผลิตเริ่มที่จะหันมามีรีดประสิทธิภาพในการทำงาน แต่การใช้พลังงานกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ท้ายที่สุดแล้ว เราอาจมองว่าในระยะสั้นปัญหาพลังงานนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่น้อย แต่ในระยะยาวแล้วภาพใหญ่ที่เราจะลืมไม่ได้คือเทรนด์ของพลังงานสะอาดนั้นยังคงเป็นสิ่งที่รัฐบาลรวมถึงภาคเอกชนกำลังลงทุนอย่างมหาศาลทั่วโลกในตอนนี้

ที่มา: CNNThe Economist, EU, Bloomberg


Author

วัฒนพงศ์ จัยวัฒน์

วัฒนพงศ์ จัยวัฒน์
นักเขียนผู้สนใจในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ การลงทุน ความเคลื่อนไหวในแวดวงเทคโนโลยี รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยในโลกธุรกิจ