ใช้ขนส่งทางรางแก้น้ำมันแพง

Investment

Oil

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ใช้ขนส่งทางรางแก้น้ำมันแพง

Date Time: 29 มิ.ย. 2565 06:55 น.

Summary

  • รัฐบาลไทยก็แปลก น้ำมันแพง เพราะสหรัฐฯและยุโรปรวมหัวกันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจการเงินและพลังงานต่อรัสเซีย เมื่อน้ำมันแพง ค่าขนส่งสินค้าก็แพง การเดินทางด้วยรถยนต์ก็แพง ค่าครองชีพประชาชนก็แพง

Latest

ราคาน้ำมันพรุ่งนี้ 7 พ.ย.2567 อัปเดตราคาน้ำมันทุกชนิดล่าสุดลิตรละกี่บาท

รัฐบาลไทยก็แปลก น้ำมันแพง เพราะสหรัฐฯและยุโรปรวมหัวกันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจการเงินและพลังงานต่อรัสเซีย เมื่อน้ำมันแพง ค่าขนส่งสินค้าก็แพง การเดินทางด้วยรถยนต์ก็แพง ค่าครองชีพประชาชนก็แพง เดือดร้อนกันทุกประเทศ แทนที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชนให้ลดลง ซึ่งมีหลายวิธี รัฐบาลลุงตู่กลับคิดได้อย่างเดียว ใช้อำนาจควบคุมราคาน้ำมันไม่ให้แพงขึ้น ควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงขึ้น ทั้งที่ไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศมากกว่า 90% วันละกว่า 1 ล้านบาร์เรล ต่อให้ลดค่าการกลั่นลงมาก็ลดราคาขายปลีกน้ำมันไม่ได้ เพราะน้ำมันดิบต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ผู้ขายเป็นผู้กำหนดราคา เราไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคา

ก็เลยไม่รู้ว่าจะเถียงกันไปทำไมกับ ค่าการกลั่นน้ำมัน เพราะไม่ใช่ต้นเหตุหรือสาเหตุที่ทำให้น้ำมันแพง ราคาน้ำมันดิบแพงต่างหาก

ประเด็นสำคัญที่ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นทั้ง นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และ คณะรัฐมนตรี ของท่าน ยังไม่เคยคิดพิจารณาเลย ก็คือการคิด “หาทางเลือกอื่น” ในการ “ช่วยลดค่าครองชีพประชาชน” ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันแพง นอกเหนือจากการลดราคาน้ำมันด้วยการ ลดภาษี และ ใช้เงินกองทุนน้ำมันชดเชย วันนี้กองทุนน้ำมันติดลบไปกว่าแสนล้านบาทแล้ว ไม่มีธนาคารไหนให้กู้แล้ว ไม่ว่าธนาคารรัฐหรือธนาคารเอกชน ความจริงน้ำมันขายปลีกไทยก็ไม่ได้แพงกว่าเพื่อนบ้าน ทุกประเทศก็ใช้น้ำมันแพง การคิดช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนจึงต้องหาทางเลือกอื่น

ทางหนึ่งที่ผมคิดเร็วๆ และเห็นโอกาสที่จะ ลดต้นทุนราคาสินค้าได้ ก็คือ การขนส่งสินค้าทางราง หรือ ทางรถไฟ ซึ่งตอนนี้รถไฟมีผู้โดยสาร น้อยอยู่แล้ว การขนส่งสินค้าทางรถไฟจะช่วยลดค่าขนส่งได้มากในยามที่น้ำมันแพง รถไฟขนส่งสินค้าได้จำนวนมากในครั้งเดียว ประหยัดน้ำมัน ถูกกว่าการขนส่งโดยรถบรรทุกหลายสิบเท่า วันก่อน คุณนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพิ่งให้ข่าวว่า ปี 2565 รฟท.มีเป้าหมายจะขนสินค้าทางราง 12 ล้านตัน เพิ่มจากปี 2564 ที่ขนได้ 11.3 ล้านตัน คาดว่าปีหน้า 2566 จะขนสินค้าทางรางได้ 12.5 ล้านตัน

ผมเห็นแล้วก็ตกใจ เป็นตัวเลขที่ต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับการขนส่งสินค้าทั้งประเทศ

คุณนิรุฒ เปิดเผยอีกว่า ค่าระวาง หรือ ค่าบริการขนส่งสินค้า คิดตามระยะทางและน้ำหนัก ปัจจุบัน รฟท.ตรึงค่าธรรมเนียมน้ำมันไว้ที่ 30/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่มิถุนายน-สิงหาคม พยายามจะดึงสินค้าจากถนนให้เปลี่ยนมาขนส่งทางราง เวลานี้มีลูกค้าแบบเหมาขบวนกว่า 10 รายจะทำสัญญากับ รฟท. โดย รฟท.มีโบกี้บรรทุกสินค้าประมาณ 1,000 คัน ค่อนข้างตึงตัว กำลังเสนอจัดหาอีก 965 คัน วงเงิน 2.3 พันล้านบาท

ความจริง การขนส่งทางราง หรือ รถไฟเป็นการขนส่งที่มีราคา ถูกที่สุด รถไฟสินค้า 1 ขบวน สามารถขนสินค้าได้มากกว่า 30-50 ตู้คอนเทนเนอร์ เทียบกับรถบรรทุกได้ 30-50 คัน ประเทศจีนใช้รถไฟขนส่งสินค้าเป็นหลัก ทำให้ต้นทุนขนส่งสินค้ามีราคาถูกมาก ส่งผลให้สินค้าจีนมีราคาถูกลงด้วย วันนี้สินค้าไทย เช่น ทุเรียน ก็ต้องไปอาศัยใบบุญ รถไฟลาว–จีน ขนไปขายจีนเป็นแสนๆตัน ยุโรปซึ่งอยู่ห่างจากจีนเป็นหมื่นๆกิโลเมตร วันนี้จีนก็ใช้รถไฟด่วนขนส่งสินค้าไปขายถึงยุโรปกว่า 40 เส้นทาง จากเมืองสำคัญในจีน

23 มิถุนายน สัปดาห์ที่แล้วนี้เอง เมืองฉงชิ่ง เพิ่งจัดฉลอง รถไฟด่วนขนส่งสินค้าจีนไปยุโรปเที่ยวที่ 10,000 จาก เมืองฉงชิ่ง ไปยังเมืองดุยส์บวร์ก ประเทศเยอรมนี

น้ำมันดิบโลกคงแพงไปอีกนาน ตราบใดที่สหรัฐฯยังไม่เลิกคว่ำบาตรรัสเซีย ผมคิดว่า รัฐบาลลุงตู่ควรใช้สมองคิด หาทาง “เพิ่มการขนส่งทางราง” เพื่อ ลดต้นทุนขนส่งสินค้าให้ถูกลง ทดแทนการขนส่งด้วยรถบรรทุกที่ต้องใช้น้ำมันดีเซลราคาแพง การลดต้นทุนขนส่งสินค้าช่วยลดค่าครองชีพประชาชนได้แน่นอน ดีกว่าไปเถียงเรื่องค่าการกลั่น.

“ลม เปลี่ยนทิศ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ