“Green Finance” ถือเป็นแนวคิดในการผลักดันทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการหรือบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีการนำแนวคิดดังกล่าวเข้ามาใช้ในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ จากเป้าหมาย Net Zero Emissions หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ให้ได้ในอนาคต
ในภาคตลาดทุนเอง กระทรวงการคลัง ได้จับมือร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ผลักดันให้เกิด “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน” หรือกองทุน “Thai ESG” เริ่มมีการซื้อขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้ กองทุน Thai ESG ถือเป็นการส่งเสริมกลุ่มธุรกิจในประเทศไทย ให้นำแนวคิดตามหลัก ESG ที่ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยสามารถสร้างโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ช่วยให้ธุรกิจมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และช่วยสร้างโอกาสให้กับประชาชนทั่วไป ให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนความยั่งยืนผ่านการลงทุนในประเทศไทยด้วย
ซึ่งในมุมของนักลงทุน การลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดปัญหาต่างๆ ได้ เช่น การปล่อยมลพิษ การไม่ดูแลชุมชน หรือการคอร์รัปชัน ที่อาจทำให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ และไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
และนักลงทุนยังได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีจากการถือครองกองทุน Thai ESG ด้วย โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องถืออย่างน้อย 8 ปี นับจากวันที่ซื้อ ก็จะได้รับประโยชน์ภาษีในปีนั้นๆ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2575
นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถเลือกช่องทางการลงทุนเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนได้ผ่านกองทุน “ESG Bond” ซึ่งกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ที่นำเงินทุนไปใช้เพื่อสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีบรรษัทภิบาลที่ดี ภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน
สาห์รัช ชัฏสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยกับ “Thairath Money” ว่า โดยปกติแล้วกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง “Thai ESG Fund” นักลงทุนโดยส่วนใหญ่ มักจะเข้าซื้อในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี แต่ในปัจจุบันยังเห็นเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าบ้าง แม้ไม่ใช่ช่วง High Season ของการซื้อกองทุนประเภทดังกล่าว จากปีก่อนที่มีเม็ดเงินลงทุนอยู่ราว 5-6 พันล้านบาท
ทั้งนี้ มองว่าภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ได้เป็นที่น่าสนใจ รวมถึงไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน ทำให้นักลงทุนอาจยังไม่ได้ให้ความสนใจการลงทุนในกองทุนดังกล่าวมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเป็นหลัก
ส่วนกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ESG Bond นั้น มองว่าปัจจุบันยังมีกองทุนประเภทนี้ไม่มากนัก และยังไม่ใช่เม็ดเงินลงทุนหลัก แต่ถือว่ามีส่วนช่วยสนับสนุน “Green Finance” ในไทย