กลยุทธ์การเงินเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

Experts pool

Columnist

Tag

กลยุทธ์การเงินเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

Date Time: 3 ธ.ค. 2567 16:51 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • “United by our principles and purpose, we help people and institutions finance and achieve their aspirations, lifting up individuals, homeowners, small businesses, larger corporations, schools, hospitals, cities and countries in all regions of the world.” Jamie Dimon, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JPMorgan Chase

Latest


“ขับเคลื่อนการเติบโตด้วยหัวใจและใฝ่รู้” เป็นชื่อรายงานประจำปี 2566 ของธนาคาร JPMorgan Chase โดยมีเนื้อหาทิ้งท้ายในสารประธานเจ้าหน้าที่บริหารว่า “ด้วยหลักการและวัตถุประสงค์แล้ว เราช่วยเหลือผู้คนและองค์กรด้านการเงิน ให้บรรลุความปรารถนา ซึ่งยกระดับทั้งปัจเจกชน เจ้าของบ้าน ธุรกิจขนาดเล็ก บรรษัทธุรกิจ โรงเรียน โรงพยาบาล เมืองและประเทศในทุกภูมิภาคทั่วโลก” แถลงการณ์นี้สะท้อนถึงจุดยืนและบทบาทของภาคการเงินระดับโลกในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาอย่างกว้างขวางแทบทุกระดับ แล้วภาคการเงินไทยควรจะทำอย่างไรจึงจะสามารถปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่นี้ได้? บทความนี้มุ่งทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจการเงินไทยทั้งในปัจจุบันและในระยะยาว ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าวด้วยกลยุทธ์การเงินเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

หากมองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งสรุปได้จากเครื่องชี้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 อาทิตัวเลข GDP แล้ว SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจรายไตรมาสขยายตัวดีขึ้นจากแรงส่งของการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐตามการเร่งเบิกจ่าย และการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น แม้การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว ขณะที่การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จาก 2.5% เป็น 2.7% สอดรับกับคำอธิบายของสภาพัฒน์ฯ ในมุมของปัจจัยการเติบโตในมิติสาขาเศรษฐกิจว่ามาจากการเร่งขึ้นของกลุ่มบริการ โดยเฉพาะการก่อสร้าง ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า การขายส่งและการขายปลีกฯ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตชะลอลง และภาคเกษตรลดลง

ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคยังไม่ครอบคลุมการกระจายตัวอย่างทั่วถึงของภาวะเศรษฐกิจ จึงต้องอาศัยเครื่องชี้ภาวะทางสังคมประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งสภาพัฒน์ฯ เองได้รายงานความเคลื่อนไหวสำคัญทางสังคมในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ไว้ว่าในด้านการจ้างงานค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยพบการหดตัวต่อเนื่องของการจ้างงานภาคเกษตรที่ลดลง 3.4% จากสถานการณ์อุทกภัย ขณะที่การจ้างงานนอกภาคการเกษตรขยายตัวที่ 1.4% จากการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าที่ 14.0% ที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.1% สำหรับสาขาที่การจ้างงานหดตัวลง คือ การขายส่ง/ขายปลีก ลดลง 0.8% และการผลิตลดลง 1.4% ขณะที่หนี้สินครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเหลือ 1.3% ในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลงมาอยู่ที่ 89.6% ส่วนหนึ่งมาจากระดับภาระหนี้ที่สูงประกอบกับคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น

ตัวเลขเศรษฐกิจ แรงงาน และหนี้ครัวเรือน แสดงให้เห็นการเติบโตในบางภาคส่วน อาทิ การท่องเที่ยว แต่สาขาการผลิตและการเกษตรซึ่งมีธุรกิจและแรงงานอยู่มากกลับยังไม่เข้มแข็ง แสดงถึงความเปราะบางด้านรายได้ของเศรษฐกิจไทยซึ่งจะเป็นโจทย์หนักเพิ่มเติมไปจากปัญหาภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลงอีกด้วย

สถานการณ์การเงินไทย

ภาพเศรษฐกิจข้างต้นดำเนินคู่ขนานไปกับเครื่องชี้จากภาคการเงิน โดยรายงานของแบงก์ชาติได้สรุปภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ไว้ว่ามีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง แต่สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์หดตัวที่ 2.0% เทียบกับปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก โดยการให้สินเชื่อใหม่มีต่อเนื่องแต่มีแนวโน้มชะลอลงในธุรกิจภาคบริการ อสังหาริมทรัพย์ และพาณิชย์ขนาดใหญ่ และสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่สินเชื่อหดตัวในภาคธุรกิจที่เผชิญกับปัญหาด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ โดยในด้านยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ NPL ต่อสินเชื่อรวม ในไตรมาส 3 ปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 2.97%

ตัวเลขภาพรวมข้างต้นแสดงสถานะระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีเสถียรภาพ แต่บทบาทในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังเป็นไปได้อย่างจำกัด เห็นได้จากการที่สินเชื่อใหม่หดตัว และแม้จะขยายตัวในบางภาคส่วนก็มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งผลสุทธิของตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP และหนี้สินภาคธุรกิจต่อ GDP ลดลงมาอยู่ที่ 89.6% และ 86.5% ตามลำดับ ซึ่งถือว่าอยู่ในทิศทางปรับลดลงสอดคล้องกับสัญญาณของตัวเลขสินเชื่อปล่อยใหม่ที่หดตัว และตัวเลข GDP ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

พัฒนาการเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

IMF ได้รายงานประมาณการตัวเลขการเติบโตของ GDP ไทยในปี 2567 ไว้ที่ 2.8% ซึ่งแม้จะสูงกว่าตัวเลขการเติบโตในปี 2562 ที่ 2.1% ก่อนโควิด แต่นับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2559-2561 ที่ 3.9% และค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2549-2558 ที่ 3.3% อย่างไรก็ดี IMF มองตัวเลขประมาณการ GDP ไทยในปี 2572 ไว้ที่ 2.7% ใกล้เคียงกับตัวเลขประมาณการในปีนี้ ซึ่งหากเรากวาดตาดูคร่าว ๆ แล้ว เสมือนว่าตัวเลข GDP ไทยโดยเฉลี่ยในรอบเกือบ 20 ปีนี้จะอยู่ที่ราว ๆ 3% และจะยังอยู่ระดับนี้ไปในระยะยาว ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาในยุโรปและประเทศในแถบลาตินอเมริกา แต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าโดยตรงของไทย จึงนับว่าสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาวไม่สดใสนัก

พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ฉายภาพไปข้างต้นเป็นการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านด้านอุปสงค์ หรือ ค่าใช้จ่าย ควบคู่ไปกับด้านอุปทาน หรือ สาขากิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี รากฐานสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิตที่เรียกรวม ๆ ได้ว่า “คน ทุน เทค” ซึ่งทิศทางของการใช้ปัจจัยการผลิตเหล่านี้จะสะท้อนแนวโน้มของการเติบโตในระยะยาวของประเทศที่ก้าวข้ามความผันผวนทั้งด้านบวกและลบในห้วงเวลาสั้น ๆ แล้วธุรกิจไทยจะเข้าถึงปัจจัยการผลิตทั้งแรงงาน เงินทุน และเทคโนโลยี โดยบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยให้เต็มศักยภาพได้อย่างไร?

กลยุทธ์การเงินเพื่อการพัฒนา

ดังที่ภาคการเงินในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงประคับประคองรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินควบคู่ไปกับการปรับฐานให้หนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจทยอยลดลงหลังเร่งสูงขึ้นรองรับการดำเนินธุรกิจในช่วงวิกฤตโควิด กลยุทธ์ของภาคการเงินในระยะต่อไปจึงควรมุ่งยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย

1. พัฒนาระบบนิเวศทางด้านข้อมูล ต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินและระบบการชำระเงินที่ภาคธนาคารได้ร่วมกันพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขยับขยายโครงสร้างพื้นฐานให้สร้างโอกาสด้านข้อมูลจะไม่เพียงทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินจะรู้จักผู้ใช้บริการทางการเงิน จนนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์ลูกค้า แต่จะช่วยให้ระบบการเงินจัดสรรเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการแก้ไขปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร ทำให้ปริมาณและราคาของเงินทุนเหมาะสมกับศักยภาพและความเสี่ยงของหน่วยเศรษฐกิจ ซึ่งระบบนิเวศทางด้านข้อมูลที่สมบูรณ์ จะต้องอาศัยข้อมูลที่คมชัดผ่านตัวกลางเครดิต หรือ Credit mediator หลากหลายโดยใช้ข้อมูลทางเลือกนอกภาคการเงิน รวมถึงแลกเปลี่ยนได้ระหว่างองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

2. เอื้ออำนวยให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ อาศัยความเข้มแข็งของการทำงานร่วมกันในภาคการเงินระหว่างผู้กำกับดูแลและผู้ให้บริการทางการเงินที่สามารถดำเนินการภายใต้กฎระเบียบของการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด โดยขยายการมีส่วนร่วมของการทำงานร่วมกันให้ครอบคลุมผู้ใช้บริการทางการเงินทั้งภาคธุรกิจและประชาชน ซึ่งอาจมีข้อติดขัดในรูปแบบของต้นทุนในการดำเนินธุรกรรมซึ่งเกิดจากการที่ผู้ให้บริการทางการเงินต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ แนวทางดังกล่าวไม่เพียงแต่จะลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจในภาคเศรษฐกิจจริง แต่จะช่วยสร้างแรงดึงดูดต่อเม็ดเงินลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติ

3. เสริมแกร่งด้วยเครือข่ายผสานการแข่งขันและความร่วมมือ หรือ Coopetition ผ่านการสร้างโอกาสให้คู่แข่งทางธุรกิจมีแพลตฟอร์มในการร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐาน แล้วจึงแข่งขันกันนำเทคโนโลยีไปใช้ในสินค้าขั้นสุดท้ายที่จะจำหน่ายออกสู่ตลาด ซึ่งภาคการเงินเองสามารถทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างคู่ค้าคู่แข่ง ตลอดจนผู้ชำนาญการทั้งในภาควิชาการ Think Tank และภาครัฐ ผ่านการสนับสนุนด้านเงินทุนและกลไกการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเพื่อประเมินผลในการดำเนินการอย่างเป็นกลางระหว่างแต่ละภาคส่วน ซึ่งรูปแบบดังกล่าวอาจสามารถต่อยอดขยายไปถึงระดับภูมิภาคเช่นการร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน แต่ยังแข่งขันกันดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศใน ASEAN

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

1.Jamie Dimon. (2024, April 8). “Powering Growth with Curiosity and Heart: Annual Report 2023”. JPMorgan Chase & Co.

2.SCB EIC. (2024, November). “SCB EIC Monthly: SCB EIC ประเมิน Trump 2.0 ฉุดเศรษฐกิจไทยปี 2025 กดดันการค้า การผลิต และการลงทุน”. 

3.สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2024, November 18). “เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3/2567”

4.สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2024, November). “ภาวะสังคมไทย ไตรมาสสาม ปี 2567”

5.ธนาคารแห่งประเทศไทย (2024, November 26). “สรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2567”

6.International Monetary Fund (2024, October). “World Economic Outlook: Policy Pivot, Rising Threats”

7.สมประวิณ มันประเสริฐ (2023, September 15). “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น”

8.สมประวิณ มันประเสริฐ (2024, October 6). “ความสามารถในการแข่งขัน นิยามใหม่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป”

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร