มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนรอบใหม่ จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน?

Experts pool

Columnist

Tag

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนรอบใหม่ จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน?

Date Time: 2 พ.ย. 2567 06:00 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวเชิงวัฏจักรในช่วงที่เหลือของปี 2567 ถึงปี 2568 แต่จะยังคงชะลอตัวในระยะปานกลางจากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยจีนอาจจะเติบโตได้ดีกว่าคาดในปีหน้าหากรัฐบาลออกนโยบายขนาดใหญ่เพิ่มเติม โดยเฉพาะมาตรการเน้นกระตุ้นการบริโภค ซึ่งจะมีความชัดเจนขึ้นหลังการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติระหว่างวันที่ 4-8 พ.ย.นี้

Latest


ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ย. รัฐบาลจีนทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่กว่ารอบก่อน ๆ เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย 5% ของรัฐบาล เห็นได้จากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ที่ออกมาเพียง 4.6% YOY ต่ำสุดในรอบปีครึ่ง สาเหตุจากการบริโภคในประเทศซบเซา ภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวต่อเนื่อง และการใช้จ่ายภาครัฐช้ากว่าคาด หลังจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ตลาดการเงินมีสัญญาณตอบรับเป็นบวกมาก ตลาดหุ้นจีน (CSI 300) ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในเวลาไม่ถึงเดือน แม้จะปรับลงมาบ้างหลังจากนั้น

จึงเกิดคำถามว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนรอบใหม่นี้ช่วยให้เศรษฐกิจจีนผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหรือไม่ บทความนี้จะทำการวิเคราะห์มาตรการที่ออกมาในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ว่าจะช่วยเศรษฐกิจจีนได้มากแค่ไหนและแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร

SCB EIC ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนชุดใหม่มีแนวโน้มจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีนได้มากกว่ารอบก่อน ๆ เนื่องจากมีการประสานความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทำให้ชุดมาตรการครอบคลุมหลายด้านและมีขนาดใหญ่ รวมถึงรัฐบาลยังใช้ถ้อยคำส่งสัญญาณว่าให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจ (Pro-growth) มากขึ้น โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่

  • นโยบายการเงิน: ธนาคารกลางจีนส่งสัญญาณ Pro-growth ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายประเภทต่าง ๆ มากที่สุดในรอบหลายปี อาทิ ลดอัตราดอกเบี้ย 7-day reverse repo 20 bps ซึ่งเป็นการปรับลดมากที่สุดตั้งแต่ปี 2020 ในช่วงวิกฤต COVID-19 และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี 1 และ 5 ปี (1-Year และ 5-Year Loan prime rate) 25 bps ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อที่พักอาศัยตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากที่สุดตั้งแต่เริ่มใช้อัตราดอกเบี้ยนี้มา และเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดคาด ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางจีนยังปรับลดอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (Required reserve ratio) 50 bps และส่งสัญญาณว่าจะปรับลดลงได้อีก 25-50 bps ภายในปีนี้ เป็นการสื่อสารทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินว่าจะผ่อนคลายและสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต
  • นโยบายกระตุ้นภาคอสังหาฯ: รัฐบาลจีนกล่าวย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “หยุดการหดตัวของภาคอสังหาฯ” ซึ่งเป็นถ้อยคำชัดเจนที่สุดในการสนับสนุนภาคอสังหาฯ ตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤต ในครั้งนี้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ เพิ่มเติม อาทิ การลดอัตราเงินดาวน์สำหรับบ้านหลังที่สองลง 10 ppt การลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบางคงค้างเฉลี่ย 50 bps การเพิ่มการสนับสนุนสภาพคล่องสินเชื่อโครงการ Destocking ให้เป็น 100% การเร่งปล่อยสินเชื่อให้บริษัทอสังหาฯ ภายใต้โครงการ Whitelist และการพัฒนาหมู่บ้านในเขตเมือง (Urban village) และบ้านเสื่อมโทรมโดยให้เงินสนับสนุนผู้พักอาศัยเพื่อซื้อบ้านใหม่ นอกจากนี้ รัฐบาลจีนกล่าวว่าจะอนุมัติให้รัฐบาลท้องถิ่นนำเงินที่ระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรพิเศษมาพัฒนาที่ดินและซื้อบ้านคงค้างได้ จากเดิมที่จะต้องนำเงินทุนนี้ไปลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยปลดล็อกหนึ่งในข้อจำกัดการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นที่ทำให้การเบิกจ่ายช้ากว่าเป้าหมาย
  • นโยบายการคลัง: รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการใช้นโยบายการคลังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และกล่าวว่ามีพื้นที่การคลังเพียงพอที่จะออกพันธบัตรและขาดดุลการคลังเพิ่มในอนาคต ซึ่งเป็นอีกสัญญาณว่ารัฐบาลจะสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไป โดยจะเร่งให้รัฐบาลท้องถิ่นออกพันธบัตรให้ครบโควตาของปี 2567 และออกเพิ่มอีก 4 แสนล้านหยวนจากโควตาคงเหลือของปีก่อน ๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางได้เพิ่มเพดานหนี้รัฐบาลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนโครงการ Debt swap ผ่านการให้รัฐบาลท้องถิ่นออกพันธบัตรที่มีต้นทุนต่ำกว่าทดแทนหนี้ปัจจุบัน เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลท้องถิ่นที่มีหนี้สูง รวมถึงการที่รัฐบาลกลางจะออกพันธบัตรเพิ่มเพื่อเพิ่มทุนให้ธนาคารแห่งรัฐขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อและเสริมสร้างเงินกองทุนในภาวะดอกเบี้ยต่ำและความเสี่ยงหนี้เสียสูง ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือรัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการโอนเงินช่วยเหลือกลุ่มผู้ยากจนรุนแรงและช่วยเหลือนักศึกษาผ่านการเพิ่มมูลค่าและจำนวนทุนการศึกษาอีกด้วย ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภค จากเดิมที่เน้นมาตรการกระตุ้นการลงทุน

อย่างไรก็ดี มาตรการอาจยังไม่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจจีนพ้นจากภาวะชะลอตัวในระยะปานกลางได้เนื่องจาก:

  1. รัฐบาลจีนยังคงใช้แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบคล้ายเดิม ซึ่งผลต่อเศรษฐกิจไม่ค่อยชัดเจนนัก และมีความไม่แน่นอนในด้านมูลค่าของบางมาตรการ ผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยในรอบก่อน ๆ ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจนและการปล่อยสินเชื่อยังคงซบเซา เนื่องจากอุปสงค์การกู้ยืมต่ำ ขณะที่ภาวะเงินฝืดมีส่วนทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับสูงขึ้น นโยบายการเงินจึงอาจต้องผ่อนคลายกว่านี้มากถึงจะเห็นผล ขณะเดียวกัน มาตรการอสังหาฯ และมาตรการการคลังที่น่าจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า ส่วนใหญ่เป็นเพียงการเร่งหรือขยายมาตรการเดิม ผลต่อเศรษฐกิจจึงอาจมีจำกัด รวมถึงวงเงินบางมาตรการก็ยังมีความไม่แน่นอน
  2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยแค่การฟื้นตัวเชิงวัฏจักร ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของจีน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว โดยจีนจะยังคงเผชิญปัจจัยกดดันด้านต่าง ๆ เช่น ประชากรที่มีอายุสูงขึ้น ภาระหนี้รัฐบาลท้องถิ่นสูง ภาคอสังหาฯ ที่มีอุปทานล้นตลาดมากซึ่งกระทบแนวโน้มการก่อสร้างบ้านใหม่ในอนาคต และมาตรการกีดกันการค้าจากชาติตะวันตกที่กังวลว่าจีนใช้นโยบายที่ไม่เป็นธรรมทางการค้าทำให้ส่งออกสินค้าราคาถูกจำนวนมาก ซึ่งมาตรการกีดกันการค้าอาจทวีความรุนแรงขึ้นอีกหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. เนื่องจากขู่ว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจีนถึง 60%

ทั้งนี้ข้อสังเกตของมาตรการชุดนี้ที่น่าสนใจอย่างมากคือ:

  1. การสื่อสารของรัฐบาลมีความชัดเจนขึ้นว่าเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจ ต่างจากถ้อยคำการแถลงก่อน ๆ ที่อาจหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหรือประเด็นที่มีความอ่อนไหว เช่น ปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่นสูง ซึ่งเป็นนัยว่าจีนจะใช้นโยบายผ่อนคลายสนับสนุนเศรษฐกิจในปีต่อ ๆ ไปมากขึ้น
  2. รัฐบาลออกมาตรการที่ปกติไม่ค่อยใช้ เช่น มาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านการโอนเงินสนับสนุน ซึ่งแก้ปัญหาตรงจุดมากกว่าแม้ขนาดของมาตรการปัจจุบันจะไม่มาก รวมถึงการให้รัฐบาลท้องถิ่นนำเงินระดมทุนมากระตุ้นภาคอสังหาฯ ได้จากเดิมที่ลงทุนในแค่โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสะท้อนว่าจีนอาจกำลังศึกษาแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในอนาคต ต้องจับตากันต่อไปว่า ที่สำนักข่าว Reuters รายงานในปลายเดือน ก.ย. ว่าจีนจะออกพันธบัตร 1 ล้านล้านหยวน เพื่อกระตุ้นการบริโภคจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะหากเกิดขึ้น จะเรียกได้ว่าเป็น Game changer สำหรับเศรษฐกิจจีนเลยทีเดียว ทั้งในแง่ของผลต่อเศรษฐกิจและนัยต่อการใช้นโยบายในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ SCB EIC จึงมีมุมมองว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวเชิงวัฏจักรในช่วงที่เหลือของปี 2567 ถึงปี 2568 แต่จะยังคงชะลอตัวในระยะปานกลางจากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยจีนอาจจะเติบโตได้ดีกว่าคาดในปีหน้าหากรัฐบาลออกนโยบายขนาดใหญ่เพิ่มเติม โดยเฉพาะมาตรการเน้นกระตุ้นการบริโภค ซึ่งจะมีความชัดเจนขึ้นหลังการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติระหว่างวันที่ 4-8 พ.ย. แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจจีนยังมีความเสี่ยงด้านต่ำมากกว่า โดยเฉพาะจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่การกีดกันการค้าจีนมากขึ้น

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ปัณณ์ พัฒนศิริ

ปัณณ์ พัฒนศิริ
นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)