“เป็นลูกค้าเรา เท่ากับช่วยสังคม” ออมสินทุ่มเงินปีละ 1.5 หมื่นล้าน สร้าง Social Impact

Experts pool

Columnist

Tag

“เป็นลูกค้าเรา เท่ากับช่วยสังคม” ออมสินทุ่มเงินปีละ 1.5 หมื่นล้าน สร้าง Social Impact

Date Time: 19 ต.ค. 2567 09:57 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • ธนาคารออมสินภายใต้การนำของ "วิทัย รัตนากร" ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน ย้ำจุดยืนการเป็น "ธนาคารเพื่อสังคม" โดยการธนาคารสามารถช่วยเหลือสังคมได้ตามแผนงาน เนื่องจากรัฐบาลเห็นชอบการปรับตัวชี้วัดให้ธนาคารออมสินไม่ต้องเป็นรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุด และให้ขยายผลการช่วยเหลือสังคมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแทน โดยมีอัตรากำไรอยู่ในระดับที่เหมาะสม

Latest


ภายหลังจากที่ "วิทัย รัตนากร" ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการธนาคารสมัยแรกปี 2563-2567 เขาได้ประกาศให้ธนาคารออมสินมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคม (Social Bank)

โดยตลอด 4 ปีแรก ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการมากมาย ช่วยประชาชนฐานรากและธุรกิจเอสเอ็มอีในการบรรเทาปัญหาหนี้สิน ลดภาระดอกเบี้ยและเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อ ช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอีและประชาชน พร้อมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ สนองนโยบายรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องทุกรัฐบาล ที่มุ่งช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สร้างงานสร้างอาชีพ ช่วยคนกลุ่มที่มีเครดิตต่ำและไม่มีเครดิต ให้เข้าถึงแหล่งเงินในระบบและดอกเบี้ยที่เป็นธรรม

ส่งผลให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 20.3 ล้านราย เป็น 24 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 3.7 ล้านราย โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของลูกค้าฐานรากถึง 2.6 ล้านราย จาก 12.3 ล้านราย เป็น 14.9 ล้านราย ช่วยลูกค้าให้เข้าถึงสินเชื่อมากกว่า 2.43 ล้านราย จากฐานลูกค้าสินเชื่อ 2.8 ล้านราย เพิ่มเป็น 5.23 ล้านราย ภายในเวลา 4 ปี!!

และทันทีที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินเป็นสมัยที่ 2 ต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เขาได้ประกาศภารกิจของธนาคาร โดยต่อยอดขยายผลจากการเป็นธนาคารเพื่อสังคม โดยไม่มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อผลกำไรสูงสุด แต่จะมุ่งเป็นธนาคารที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ทั้งในเชิงลึกและวงกว้างมากขึ้น ผ่านบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ใน 4 ด้าน คือ

  1. บทบาทการเพิ่ม/ขยายโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง
  2. บทบาทการแก้ปัญหาหนี้สิน
  3. บทบาทการพัฒนาชุมชน/สังคม
  4. บทบาทการสนับสนุนภาครัฐดำเนินนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ล่าสุดหลังเข้าดำรงตำแหน่งในวาระที่ 2 ได้เพียง 3 เดือนเศษ "วิทัย" ก็ได้ประกาศออกมาอย่างแข็งขันชัดเจนว่า เขาจะจัดสรรกำไรของธนาคาร เพื่อเป็นงบฯในการช่วยเหลือสังคมหรือตั้งเป้าสร้าง Social Impact ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท โดยเริ่มในปี 2567 นี้ พร้อมเชิญชวนให้มาเป็นลูกค้าออมสินเพื่อร่วมกันช่วยสังคม!!

โดยจากการแถลงข่าวล่าสุดของวิทัย ระบุว่า ภายในปี 2567 นี้ ธนาคารกำหนดเป้าหมายขยายผลการสร้าง Social Impact หรือผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมให้กว้างขวางขึ้น ผ่านมาตรการและการทำภารกิจ 10 ด้าน ได้แก่

  1. การแก้ไขหนี้/ยกหนี้ให้ครัวเรือน
  2. การลดดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย
  3. การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ/ผ่อนเกณฑ์อนุมัติ เพื่อดึงประชาชนกลุ่มฐานราก และกลุ่ม SMEs เข้าสู่ระบบการเงิน
  4. การสนับสนุนนโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  5. การช่วยเหลือภัยพิบัติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
  6. การสร้างอาชีพให้ประชาชนกลุ่มฐานราก
  7. การพัฒนาชุมชน
  8. การส่งเสริมการออม
  9. การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
  10. การดูแลสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ต้องสามารถเข้าช่วยเหลือสังคม ประเมินเป็นตัวเลขเม็ดเงินผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ได้ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท โดยระบุว่า การที่ธนาคารสามารถช่วยเหลือสังคมได้ตามแผนงาน เพราะรัฐบาลได้เห็นชอบการปรับตัวชี้วัดให้ธนาคารออมสินไม่ต้องเป็นรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุด และให้ขยายผลการช่วยเหลือสังคมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแทน โดยมีอัตรากำไรอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ธนาคารออมสินย้ำจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ผ่านกระบวนการทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าร่วม (CSV) ที่เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ ด้วยการทำกำไรในระดับที่เหมาะสม และยังสามารถขยายการสร้างประโยชน์ต่อสังคม ตามวัตถุประสงค์ของ Social Bank จึงเชิญชวนมาเป็นลูกค้าธนาคารออมสิน ทั้งเงินฝาก สลากออมสิน สินเชื่อ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น โดยธนาคารจะนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้คนและสร้างประโยชน์แก่สังคมได้มากขึ้น ตามแนวคิด “เป็นลูกค้าเรา เท่ากับช่วยสังคม”

ธนาคารได้เร่งขับเคลื่อนแผนขยายผลการช่วยเหลือสังคม และขยายขีดความสามารถการแข่งขัน ผ่าน 4 บริษัท คือ

  • บริษัท มีที่มีเงิน จำกัด ทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม SMEs ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด
  • บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC เพื่อแก้ไขหนี้ครัวเรือนด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ซึ่งได้มีการทำสัญญาโอนหนี้ล็อตแรกแล้วกว่า 140,000 บัญชี
  • บริษัท เงินดีดี จำกัด เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนกลุ่มฐานราก ด้วยการให้สินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน “Good Money by GSB”
  • บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อช่วยพัฒนายกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัล/AI ของธนาคาร

เป็นบทบาทของธนาคารออมสินยุคปัจจุบันและการขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายและจุดยืน "ธนาคารเพื่อสังคม" 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

วณิชยา แสงทอง

วณิชยา แสงทอง
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ