ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลกลายเป็นทรัพยากรสำคัญ การแปลงข้อความเอกสารจากกระดาษ ทั้งลายมือและตัวพิมพ์ ให้อยู่ในรูปแบบของข้อความดิจิทัล (Optical Character Recognition หรือ OCR) ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม OCR ไม่เพียงแต่ช่วยแปลงข้อมูลจากให้การทำงานเป็นเรื่องง่ายขึ้นเท่านั้น หากยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดเวลาการทำงานและเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ
รายงานอุตสาหกรรมในปี 2023 แสดงให้เห็นว่ามีการนำเทคโนโลยี OCR เข้ามาใช้ทำงานในกลุ่มธุรกิจ BFSI มากขึ้น ซึ่งได้แก่ การธนาคาร (Banking) , การบริการทางการเงิน (Financial Services) และกลุ่มธุรกิจประกันภัย (Insurance) โดยกลุ่มธนาคารครองแชมป์อันดับหนึ่งที่นำ OCR เข้ามาช่วยเพิ่มกำไรและลดต้นทุน
ด้วยการแปลงข้อความจากเอกสารในรูปแบบต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปแบบข้อความดิจิทัล ได้รวดเร็วและแม่นยำ OCR จึงกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้อย่างมหาศาล ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ หันมาใช้ประโยชน์จาก OCR เพื่อสร้างกำไรและสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
การเงินและการธนาคารเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์อย่างมากจากเทคโนโลยี OCR เนื่องด้วยรูปแบบธุรกิจ ที่จำเป็นต้องจัดการกับงานเอกสารจำนวนมากด้วยความแม่นยำสูง ดังนั้น การนำเทคโนโลยี OCR เข้ามาใช้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงยกระดับการบริการให้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น และช่วยเพิ่มความพึงพอใจในระยะยาว
ตัวอย่าง Use Case เทคโนโลยี AI : OCR ด้านธนาคารและการเงิน
1. OCR อ่านและประมวลผลใบสมัครบัตรเครดิตที่ลูกค้าเขียนด้วยลายมือ ลดความผิดพลาดที่เกิดจากการอ่านและกรอกข้อมูลด้วยคน Human error นอกจากนี้การใช้ OCR ยังช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ จบได้ไวมากขึ้น ยกตัวอย่างกรณีจากลูกค้าของ OCR by WordSense ที่นำเอาระบบ OCR ของเราไปใช้ในการอ่านใบสมัครบัตรเครดิต พบว่าสามารถลดจำนวนพนักงานจากเดิม 30 คน ให้เหลือเพียง 3 คน ลดต้นทุนได้กว่า 90%
2. OCR ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารการเงิน เช่น เช็ค ใบแจ้งยอดบัญชี และสัญญาการเงินต่าง ๆ โดยระบบ OCR จะช่วยตรวจจับความผิดปกติของเอกสารและการปลอมแปลงได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เพิ่มความปลอดภัยให้กับธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น
3. OCR ช่วยบริการลูกค้าอัตโนมัติ ธนาคารสามารถใช้ OCR ร่วมกับ Chatbot เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระงานของพนักงาน Call Center และเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น การอ่านข้อมูลจากบัตรประชาชนหรือเอกสารทางการเงินที่ลูกค้าอัปโหลดเข้ามา เป็นต้น
จากรายงาน McKinsey พบว่าเศรษฐกิจของอเมริกาสูญเสียเงินกว่า 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี เพราะความล่าช้าในการจัดส่ง, พัสดุสูญหาย, การสื่อสารที่ผิดพลาดรวมถึงระบบการกระจายพัสดุที่ใช้เวลานาน นอกจากนี้ข้อมูลจากสำนักสถิติการขนส่งของอเมริกา ยังชี้ว่าปริมาณการขนส่งสินค้าในเดือนตุลาคม 2023 เพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยตัวเลขเหล่านี้คาดการณ์ถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมนี้
แน่นอนว่าทุกการเติบโตย่อมมาพร้อมความก้าวหน้า เทคโนโลยี AI : OCR คือเครื่องมือสำคัญที่จะเข้าเข้ามาช่วยปฏิวัติการทำงานด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ให้บริษัทจัดการกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดเวลาการทำงานและลดความผิดพลาดในการจัดส่ง
ตัวอย่าง Use Case เทคโนโลยี AI : OCR ด้านโลจิสติกส์และขนส่ง
1. OCR อ่านข้อมูลบนพัสดุ และการจ่าหน้าซอง ส่วนใหญ่แล้วขั้นตอนการอ่านข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชื่อหรือที่อยู่ผู้รับ มักเป็นกระบวนการที่พนักงานทีละคนต้องทำทีละขั้นตอนด้วยมือ การนำเทคโนโลยี OCR มาช่วยอ่านและประมวลผลข้อมูลจะทำให้กระบวนการจัดส่งเร็วขึ้น และลดข้อผิดพลาดจากการป้อนข้อมูลด้วยมือ นอกจากนี้ OCR เองยังอ่านบาร์โค้ดและ QR code ได้แม่นยำ ให้การติดตามสถานะพัสดุเป็นไปแบบเรียลไทม์
2. OCR ช่วยคัดแยกพัสดุในโกดัง เทคโนโลยี OCR อ่านชื่อที่อยู่หน้ากล่องพัสดุ พร้อมจัดประเภทพัสดุได้ทันทีด้วยความแม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพจัดการและลดเวลาคัดแยกพัสดุ ที่สำคัญระบบ OCR ทำงานได้ 24 ชั่วโมงแบบไม่มีวันหยุด เป็นตัวช่วยสำคัญในการรองรับปริมาณพัสดุที่เพิ่มขึ้นช่วงเทศกาลหรือช่วงส่งเสริมการขายพิเศษ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
3. OCR จัดการเอกสารด้านการขนส่ง ระบบจะเข้ามาช่วยอ่านข้อมูลเอกสาร และการจัดส่งเข้าสู่ระบบโดยอัตโนมัติ โดยเอกสารในส่วนนี้จะเป็นพวกใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) ใบกำกับสินค้า (Invoice) และเอกสารศุลกากร ให้การจัดการเอกสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความล่าช้าในกระบวนการขนส่งและการนำเข้า-ส่งออก
ปฏิเสธไม่ได้ว่างานด้านบัญชีและการเงินเป็นหัวใจสำคัญทุกธุรกิจ ทว่าเป็นงานที่ใช้เวลาและเกิดข้อผิดพลาดสูงหากทำด้วยมือ อ้างอิงจากข้อมูลของ Gartner ปี 2024 พบว่า 18% ของนักบัญชีทำผิดพลาดอย่างน้อยวันละครั้ง ซึ่งอย่าลืมว่าสำหรับงานบัญชีแล้ว ข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็สามารถกลายเป็นหายนะสำหรับองค์กรได้
ดังนั้น การเข้ามาของเทคโนโลยีAI : OCR จะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักบัญชีและผู้จัดการด้านการเงิน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดข้อผิดพลาดในการป้อนข้อมูล ลดเวลาการทำงาน ด้วยระบบ OCR ที่จะคอยดึงและจัดระเบียบข้อมูลจากเอกสารบัญชีให้โดยอัตโนมัติ ให้พนักงานเอาเวลาไปวิเคราะห์ข้อมูลหรือตัดสินใจทางธุรกิจที่สำคัญ
ตัวอย่าง Use Case เทคโนโลยี AI : OCR ด้านบัญชีและการเงิน
1. OCR แปลงข้อความใบแจ้งหนี้และใบเสร็จเป็นข้อความดิจิทัล ระบบ OCR ในปัจจุบันเรียนรู้รูปแบบของเอกสารบัญชีที่หลากหลาย ทำให้สามารถประมวลผลใบแจ้งหนี้จากซัพพลายเออร์ที่แตกต่างกันได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังช่วยลดเวลาที่ใช้ในการป้อนข้อมูลด้วยมือ ทำให้การจัดการทางการเงินรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. OCR ประมวลผลเอกสารทางการเงิน เช่น งบการเงิน รายงานการเงิน และเอกสารทางบัญชีอื่น ๆ ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยลดความซับซ้อนของระบบการทำงาน นอกจากนี้ระบบ OCR ยังทำงานร่วมกับระบบวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อสร้างรายงานและวิเคราะห์แนวโน้มทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
3. OCR ช่วยค้นหาข้อมูลและตรวจสอบเอกสารบัญชี เทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นประโยชน์มากสำหรับงานที่ต้องใช้เกี่ยวข้องกับข้อมูลจำนวนมาก เช่น การตรวจสอบภายใน การตรวจสอบบัญชี การทำรายงานการเงิน เป็นต้น ช่วยให้คนทำงานประหยัดเวลา และลดทรัพยากรบุคคลในการตรวจสอบ
4. OCR ตรวจสอบเอกสารให้เป็นไปตามกฎระเบียบ ระบบจะคอยตรวจจับข้อมูลสำคัญ และแจ้งเตือนเมื่อพบความไม่สอดคล้องหรือข้อมูลที่อาจเป็นปัญหา รวมถึงคอยจัดการเอกสารให้เป็นไปตามกฎระเบียบทางการเงินและบัญชี เช่น มาตรฐานการบัญชี กฎหมายภาษี ฯลฯ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะผิดพลาด
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยี AI : OCR เครื่องมือเปลี่ยนงานเอกสาร เป็นข้อความดิจิทัล ช่วยองค์กรประหยัด 30%
การนำ OCR มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนเท่านั้น แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการปรับตัวให้ธุรกิจพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ และคว้าโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ในอนาคตคาดว่าจะเห็นการพัฒนาของ OCR ที่ก้าวกระโดดมากขึ้น โดยอีก 3 ปีข้างหน้า พบว่า 27% ของแต่ละธุรกิจเริ่มวางแผนที่จะใช้ OCR มากขึ้น โดยแรงจูงใจหลักที่ทำให้ใช้คือ “ลดต้นทุน” (ลดได้ 31%)
นอกจากนี้เชื่อว่า อนาคตคงเห็น OCR ทำงานร่วมกับเทคโนโลยี AI และ Machine Learning มากขึ้น ซึ่งหมายความว่าขีดความสามารถและประโยชน์ OCR ในการขับเคลื่อนธุรกิจก็จะยิ่งทรงพลังกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นลดเวลา ลดข้อผิดพลาดจากการป้อนข้อมูลด้วยมือ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อน ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมเทคโนโลยี OCR จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ในยุคดิจิทัลนี้