หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ AI กำลังเฉิดฉายและเข้ามามีบทบาทสำคัญคือ “วงการแพทย์”
ปัจจุบัน AI ได้กลายเป็นผู้ช่วยสำคัญสำหรับแพทย์ ตั้งแต่การวินิจฉัยโรค การวางแผนการรักษา ไปจนถึงการบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วย จากรายงานของ Accenture AI พบว่า การนำ AI เข้ามาใช้งานทางการแพทย์ในอเมริกา จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2026 และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้นด้วย
ความก้าวหน้าของ AI ในวงการแพทย์ นับเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก AI ไม่เพียงแต่ช่วยแพทย์ในการรักษาโรคต่าง ๆ แต่ยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักพัฒนาสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำพาเราสู่ยุคใหม่แห่งสุขภาพดิจิทัลอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย
การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในทางการแพทย์ไม่เพียงแต่ช่วยในการวินิจฉัยโรคด้วยความแม่นยำที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้แพทย์ทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากข้อมูลของ American Medical Association AI สามารถช่วยกรองและวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ได้ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที ซึ่งช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ ทั้งยังช่วยเพิ่มความแม่นยำในการรักษา
1. AI ช่วยวินิจฉัยโรค ตรวจเจอมะเร็งได้ใน 0.02 วินาที
AI ช่วยในการตรวจหามะเร็งได้ภายใน 0.02 วินาที ยืนยันข้อมูลจากสถาบันวิจัยมะเร็ง (Institute of Cancer Research) ของกองทุนมูลนิธิรอยัลมาร์สเดน เอ็นเอชเอส (Royal Marsden NHS Foundation Trust) แห่งสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่า “AI ช่วยตรวจชิ้นเนื้อและวิเคราะห์ถึงการลุกลามของมะเร็งบางชนิดได้แม่นยำเกือบสองเท่า” แน่นอนว่าการวิเคราะห์ที่ตรงจุด ย่อมส่งผลให้เกิดการรักษาที่แตกต่างกัน และท้ายที่สุดคือการช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น
นอกจากนี้ AI ยังถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ภาพแมมโมแกรม (Mammography) เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านมระยะแรก โดยสมาคมรังสีวิทยาแห่งอเมริกาเหนือ (Radiological Society of North America) ออกมาเปิดเผยตัวเลขความแม่นยำของ AI ในการตรวจพบมะเร็งเต้านมอยู่ที่ 94.5% ซึ่งสูงกว่าแพทย์ที่ (ค่าเฉลี่ย 88%) ทั้งยังมีความไวในการตรวจพบมะเร็งเต้านมที่เป็นก้อนมากกว่านักรังสี โดยมีอัตราที่ 90% และ 78%
โรคปอดอักเสบ : จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Nature Medicine พบว่า AI สามารถตรวจจับโรคปอดผิดปกติได้ (เกือบ) เทียบเคียงกับแพทย์เฉพาะทาง แม่นยำถึง 92%
โรคหัวใจและหลอดเลือด : AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อคาดการณ์ความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดีขึ้น อ้างอิงจาก The Lancet Digital Health พบว่า AI สามารถทำนายการเกิดโรคหัวใจก่อนแพทย์ด้วยความแม่นยำที่ 85%
AI วินิจฉัยโรคหายาก : AI ช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคหายากและแบบเฉพาะตัวได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากเกือบ 30%
AI วิเคราะห์ภาวะซึมเศร้า : World Psychiatry พบว่า AI ระบุว่าผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ จากข้อมูลจากการสนทนาและพฤติกรรม แม่นยำถึง 80%
2. AI ช่วยวางแผนการรักษา
ไม่ใช่แค่ช่วยวินิจฉัยโรคเท่านั้น AI ยังช่วยแพทย์วางแผนการรักษาสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนได้แบบเจาะจง ด้วยการให้ AI วิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ป่วย เพื่อค้นหาการรักษาที่เหมาะสมสูงสุด โดยงานวิจัยของศูนย์มะเร็ง Memorial Sloan Kettering Cancer Center พบว่า AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจากจีโนมของผู้ป่วยมะเร็ง และให้คำแนะนำในการปรับแต่งการรักษาให้เหมาะสม (Precision Medicine) มักใช้กับโรคร้ายแรงและมีการรักษาที่เจาะจงเฉพาะคน เช่น โรคมะเร็ง โรคหอบหืด หรือ โรคเบาหวาน
วางแผนและตรวจสอบผู้ป่วยในโรงพยาบาล : AI ช่วยติดตามและประเมินผู้ป่วยเรียลไทม์ เพื่อให้แพทย์ทราบถึงอาการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น และปรับการรักษาได้ทันเวลา
วางแผนการผ่าตัดสมอง : AI ถูกใช้ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายและข้อมูลจาก MRI เพื่อวางแผนการผ่าตัดและระบุตำแหน่งที่แน่นอน ช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดความเสี่ยงในการผ่าตัดสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น
3. AI ช่วยวิจัยและพัฒนายา
ปัจจุบัน AI มีบทบาทสำคัญในการค้นคว้าและพัฒนายามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการค้นหาสารที่มีศักยภาพในการรักษาโรคใหม่ ๆ ผ่านการจำลองโมเลกุล (Molecular Modeling) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Aata Analytics) ตามรายงานของ McKinsey Global Institute รายงานว่า Machine Learning และ AI น่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมยาและระบบการดูแลสุขภาพของสหรัฐฯ มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ระบุเป้าหมายทางชีวภาพ (Target Identification) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของอเมริกา Atomwise ใช้ AI วิเคราะห์โครงสร้างของโปรตีนและระบุว่ามีโมเลกุลใดที่สามารถเชื่อมกับโปรตีนเหล่านั้นได้ ลดเวลาค้นหายาได้เร็วกว่าวิธีเดิมถึง 100 เท่า
สร้างและปรับปรุงยา (Drug Design and Optimization) : ปี 2019 สถาบันชีวสารสนเทศและชีววิทยาทางคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NCBI) รายงานว่า AI ของ Insilico Medicine สามารถทำนายโครงสร้างโมเลกุลที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรค Fibrosis ภายในเวลาเพียง 46 วัน
ทำนายผลข้างเคียงของยา (Predicting Side Effects) : งานวิจัยใน Journal of Chemical Information and Modeling ในปี 2018 แสดงให้เห็นว่า AIทำนายผลข้างเคียงของยาได้อย่างแม่นยำถึง 85%
4. AI ลดงานเอกสารให้หมอ จัดการงานเอกสาร
ศูนย์การแพทย์เพื่อประโยชน์ทางวิชาการไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐ Mayo Clinic รายงานว่าแพทย์ในสหรัฐอเมริกามักจะใช้เวลาเฉลี่ยถึง 49.2% ของเวลาการทำงานทั้งวันไปกับการจัดการเอกสารและงานบริหาร รวมถึงการบันทึกข้อมูลในระบบบันทึกทางการแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ (EHRs) ซึ่งถือเป็นภาระงานที่หนักและใช้เวลาเยอะมาก
การได้ AI มาช่วยแบ่งเบาภาระงานส่วนนี้ จะเพิ่มเวลาให้บุคลากรทางการแพทย์เอาใจใส่ผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจากรายงานคาดการณ์ว่าแพทย์จะใช้เวลากับผู้ป่วยได้มากขึ้นเกือบ 20 % ส่วนพยาบาลจะใช้เวลากับผู้ป่วยได้ราว 8 % หากภาระงานธุรการบางส่วนลดลง
ล่าสุด Looloo Technology ได้รับการสนับสนุนจาก Microsoft Founders Hub และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เปิดตัวแอปพลิเคชัน “PresScribe” AI ผู้ช่วยหมออัจฉริยะ ที่จะช่วยสรุปบทสนทนาระหว่างหมอกับคนไข้ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อเป็นบันทึกทางการแพทย์อัตโนมัติ นอกจากนี้ PresScribe ยังมาพร้อมจุดแข็งสำคัญคือการ “รองรับภาษาไทยได้ในระดับเชี่ยวชาญ”
ที่สำคัญเทคโนโลยี AI PresScribe จะช่วยลดเวลาการทำงานเอกสารของแพทย์ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของชั่วโมงการทำงานของแพทย์ เพราะเราต้องการ “คืนเวลาให้หมอ ได้ทำหน้าที่หมอ” โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ลดภาระงานด้านเอกสารที่ไม่จำเป็น นำไปสู่การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์สำหรับประชาชนในวงกว้าง
เชื่อว่ายังคงถกเถียงกันอยู่ทุกวงการที่นำ AI ไปใช้ ทางการแพทย์เองก็เช่นกัน มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ ด้วยการพยายามพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม สังเกตได้ว่าหลาย ๆ องค์กรเริ่มออกแนวปฏิบัติการใช้ AI อย่างถูกต้อง ปลอดภัย เชื่อถือได้ เท่าเทียมและมีจริยธรรม
เมื่อปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลกได้แนะนำแนวปฏิบัติใหม่ สำหรับการใช้ AI ให้เป็นไปอย่างมีจริยธรรม และไม่ลิดรอนสิทธิมนุษยชน หรือสถาบันการแพทย์แห่งชาติแห่งสหรัฐอเมริกา พยายามสร้างกรอบการทำงานเพื่อให้แน่ใจว่า AI ที่ใช้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การแพทย์และวิทยาศาสตร์ ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย เชื่อถือได้ เสมอภาค รวมถึงมีจริยธรรมในการให้บริการ
การใช้ AI วิเคราะห์เพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถให้คำตอบที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยได้ ยกตัวอย่างเช่น AI อาจจะมองว่าการรักษาด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยหายได้ในระยะเวลารวดเร็ว แต่เป็นการรักษาที่ใช้ค่าใช้จ่ายสูง ผู้ป่วยเองที่ไม่ได้มีทุนทรัพย์มาก อาจจะเลือกปฏิเสธการรักษาไปเลย อย่าลืมว่า AI จะไม่พิจารณาถึงข้อจำกัดที่ละเอียดอ่อน ท้ายที่สุดยังคงต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์เข้ามาช่วยคิดและตัดสินใจ เพื่อให้คำแนะนำผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างเหมาะสมที่สุด
แหล่งอ้างอิง