ส่งออกไทย เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแรง

Experts pool

Columnist

Tag

ส่งออกไทย เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแรง

Date Time: 5 ต.ค. 2567 08:00 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • ปัจจัยใดทำให้การส่งออกของไทยขยายตัว 2.6% ในปี 2567 และ 2.8% ในปี 2568 (คาดการณ์โดย SCB EIC) หลังจากการหดตัว 0.8% ในปี 2566 แต่การเติบโตดังกล่าวได้ชะลอตัวลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ย 5.3% ในทศวรรษก่อนเกิดโควิด

Latest


นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 การส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนาน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60-65% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) การส่งออกมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้จากต่างประเทศ การจ้างงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยได้สูญเสียบทบาทและความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นที่เคยเป็นมา

แม้ว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะยังคงเติบโตและกลับมาขยายตัว 2.6% ในปี 2567 และ 2.8% ในปี 2568 (คาดการณ์โดย SCB EIC) หลังจากการหดตัว 0.8% ในปี 2566 แต่การเติบโตดังกล่าวได้ชะลอตัวลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ย 5.3% ในทศวรรษก่อนเกิดโควิด สะท้อนการเสื่อมถอยของเครื่องยนต์ส่งออกในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (รูปที่ 1 ซ้าย)

นอกจากนี้ มูลค่าส่งออกของไทยยังมีทิศทางฟื้นตัวตามโลกน้อยลง เห็นได้จากการส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมาฟื้นตัวสอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกน้อยลง (รูปที่ 1 ขวา) หากพิจารณารายหมวดของสินค้าส่งออกไทย พบว่า 11 จาก 13 หมวดสำคัญ (คิดเป็น 76% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด) เติบโตต่ำกว่าอุปสงค์สินค้าส่งออกของโลก (รูปที่ 2 ซ้าย)

เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งตลาดส่งออกสินค้าไทยที่เติบโตดีกว่าแนวโน้มตลาดโลก พบว่า

  1. กลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าของไทย รวมถึงส่วนประกอบต่างๆ (ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งที่มีสัดส่วนมากถึง 17% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด) มีส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลง ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามกลับเพิ่มขึ้นมากจากที่ไม่ค่อยมีบทบาทในตลาดโลก (รูปที่ 2 ขวาบน)
  2. กลุ่มผลไม้และถั่ว (เป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญหมวดย่อยเดียวที่โตดีกว่าอุปสงค์โลก) มีส่วนแบ่งในตลาดโลกสูงขึ้นจากอดีต แต่คิดเป็นมูลค่าเพียง 2% ของการส่งออกไทย (รูปที่ 2 ขวาล่าง) แสดงให้เห็นว่าแม้สินค้าไทยบางกลุ่มยังเติบโตได้ดีและมีส่วนแบ่งในตลาดโลกมากขึ้น แต่กลับมีมูลค่าการส่งออกไม่สูงนักในภาพรวม

สัญญาณเหล่านี้ต่างชี้ให้เห็นว่าการส่งออกของไทยเริ่มชะลอตัวลง และยากที่จะกลับไปมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เช่นในอดีต สร้างความกังวลในวงกว้าง และนำไปสู่คำถามสำคัญว่า เครื่องยนต์การส่งออกของไทยกำลังหมดแรงหรือไม่? อะไรคือสาเหตุหลัก?

SCB EIC มองว่า เครื่องยนต์ส่งออกของไทยกำลังอ่อนแรงลงมากจากปัจจัยภายในและภายนอก ซึ่งมีส่วนทำให้การส่งออกไทยไม่สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้เหมือนในอดีต และไม่สามารถปรับตัวตามกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทัน

ปัจจัยภายในประเทศ:

1.สินค้าส่งออกไทยไม่ค่อยสอดคล้องกับความต้องการของโลก: ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดการผลิตสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนไป เช่น สมาร์ตโฟน แผงวงจรไฟฟ้า หรือสินค้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด ขณะที่สินค้าหมวดเครื่องจักรและเครื่องใช้เครื่องกลที่ไทยผลิต กลับเป็นสินค้าที่โลกต้องการซื้อน้อยลงเช่น Hard Disk Drives (HDD) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย แต่เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปสู่ Solid State Drives (SSD) ความต้องการ HDD ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว

เช่นเดียวกับสินค้าหมวดยานพาหนะ ส่วนประกอบ และอุปกรณ์เสริม ที่ไทยเคยส่งออกดีมาก จากการส่งออกยานยนต์และเครื่องยนต์สันดาป แต่ปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของผู้ซื้อ ซึ่งรวมมูลค่าการส่งออก 2 หมวดใหญ่นี้คิดเป็น 27% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมดในปี 2566

2.โครงสร้างการผลิตเพื่อส่งออกไทยเปลี่ยนแปลงช้า: ภาคการผลิตของไทยยังผูกโยงกับห่วงโซ่อุปทานเก่าอยู่มาก ส่งผลให้โครงสร้างการส่งออกเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้า ขณะที่โครงสร้างการผลิตของประเทศคู่แข่งหลายรายที่เคยผลิตสินค้าล้าสมัยกว่าไทยในอดีต กลับสามารถปรับตามกระแสความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็วจากการหาห่วงโซ่อุปทานใหม่ สะท้อนจากส่วนแบ่งยอดขายสินค้าไทยในตลาดโลกที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงจาก 10 ปีก่อนมากนัก เช่น รถยนต์ EV แผงวงจรไฟฟ้า/เซมิคอนดักเตอร์ สมาร์ตโฟน แผงโซลาร์เซลล์ (เป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนสูงขึ้นในตลาดโลก)

ทั้งนี้ถึงแม้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยจะมีสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกทั้งหมดสูงขึ้น แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 17% ในปี 2556-2560 เป็น 23% ในปี 2561-2565 ซึ่งแตกต่างจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่มีสัดส่วนการส่งออกกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาก จาก 16% เป็น 32%, 38% เป็น 44% และ 40% เป็น 48% ตามลำดับ

โดยสาเหตุเป็นเพราะว่าประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ผลิตสินค้ากลุ่มนี้ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง มีขั้นตอนการผลิตซับซ้อนกว่า และสร้างมูลค่าเพิ่มสูงกว่าได้ ในขณะที่ไทยส่วนใหญ่แล้วยังคงผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลาง และมีความซับซ้อนน้อยกว่า สะท้อนขีดความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำกว่า แสดงให้เห็นว่าไทยอาจไม่ได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้นในปัจจุบันได้มากเท่าประเทศเพื่อนบ้าน

3.ความสามารถในการกระจายตลาดใหม่ไม่ค่อยสูง: การส่งออกของไทยกว่า 75% ยังคงกระจุกตัวในบางตลาดหลัก เช่น จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน เช่นในอดีต ซึ่งหากเกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นในกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็อาจสร้างความเสี่ยงสูงต่อไทยตามมา เช่น เศรษฐกิจจีนชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา จะกระทบการส่งออกไทยไปตลาดจีนตามไปด้วย สะท้อนความจำเป็นในการขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มยอดส่งออกของไทยได้

จากการวิเคราะห์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าปัญหาหลักของการส่งออกไทยมาจาก ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตในประเทศที่ไม่ค่อยตอบโจทย์สินค้าใหม่ ๆ คำถามสำคัญคือ อะไรเป็นสาเหตุทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการผลิตของไทยมาถึงจุดนี้?

SCB EIC มองว่าสาเหตุหลักมาจากทักษะแรงงานไทยและการลงทุนจากต่างชาติที่ลดลง:

1.แรงงานสูงวัยและทักษะต่ำ: ประเทศไทยกำลังเผชิญสังคมผู้สูงอายุ 22.7% จากประชากรทั้งหมดในปี 2566 (อายุ 60 ปีขึ้นไป) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงปัญหาแรงงานขาดทักษะที่จำเป็น โดยเฉพาะทักษะเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งมีความสำคัญต่อการผลิตสินค้าและการแข่งขันในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหานี้ทำให้การผลิตสินค้าเทคโนโลยีของไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับเทคโนโลยีขั้นกลาง และการพัฒนาสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงจึงเกิดขึ้นค่อนข้างช้า เนื่องจากเพิ่มศักยภาพแรงงานไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

2.สัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดลง: FDI เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยได้รับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และทันสมัย เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและการส่งออก รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยลดลงมาก จากที่เคยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักในอาเซียน ไทยกลับตกอันดับมาเรื่อย ๆ อยู่อันดับ 7 ในปี 2566 แย่กว่าในปี 2543 2553 และ 2562 ที่อันดับ 3, 3, และ 6 ตามลำดับ เสียอีก (ข้อมูลจาก World Bank)

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก (1) ทักษะแรงงานไทยไม่สูงและสัดส่วนแรงงานสูงวัยยังมีมากที่สุดในอาเซียน (2) ไทยขาดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศสำคัญ ๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม ได้เปรียบจากการมีข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรปและการเข้าร่วม CPTPP ทำให้เข้าถึงตลาดสำคัญในโลกได้ง่ายขึ้น (3) การเมืองไทยมีความไม่แน่นอนสูง (4) นโยบายเศรษฐกิจระยะยาวขาดความชัดเจนและความต่อเนื่อง นักลงทุนไทยและต่างประเทศขาดความมั่นใจที่จะลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เนื่องจากเป็นการลงทุนสูงและใช้เวลากว่าจะเห็นผล และ (5) กฎระเบียบภาครัฐซับซ้อน ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเลือกลงทุนในประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายและสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุนดีกว่า

ปัจจัยภายนอก:

การส่งออกของไทยยังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกหลายประการ ได้แก่

  1. China over-capacity ที่อาจซ้ำเติมปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีน
  2. ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อาจสร้างความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทุกประเทศเพิ่มเติม
  3. ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามยืดเยื้อ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น หรือมาตรการกีดกันการค้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการค้าโลก
  4. การผันผวนของค่าเงินบาท จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสำคัญทั่วโลก
  5. ค่าระวางเรือและค่าขนส่งที่อาจจะกลับมาสูงขึ้น จากสงครามที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งและตู้คอนเทนเนอร์

ปัจจัยภายในและนอกประเทศเหล่านี้กดดันให้เครื่องยนต์ส่งออกของไทยอ่อนแอลง และเป็นสัญญาณที่น่ากังวล เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนในประเทศก็กำลังอ่อนแรงเช่นกัน โดยการบริโภคถูกจำกัดจากภาระหนี้ครัวเรือนสูง และการลงทุนได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ในประเทศที่เปราะบาง

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังไม่ไร้ความหวังเสียทีเดียว หากรัฐบาลสามารถจัดการ 3 ปัจจัยหลักได้ ได้แก่ แรงงาน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และยุทธศาสตร์นโยบายอุปทานที่ชัดเจน

ประเทศไทยจะสามารถปรับโครงสร้างการผลิตให้แข็งแกร่งขึ้นและช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้บนข้อได้เปรียบที่ไทยมีอยู่แล้ว เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ดี ทั้งนี้ปัจจัยกดดันจากภายนอกเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่าหากโครงสร้างการผลิตของไทยแข็งแกร่ง จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้ได้ และอาจทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากบางปัจจัย เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจนำมาซึ่งการย้ายฐานการผลิตและการลงทุนใหม่ ๆ

การส่งออกไทยในปัจจุบันเปรียบเหมือนรถที่กำลังวิ่งอย่างเชื่องช้า ที่ต้องเลือกว่าจะเริ่มซ่อมแซมและปรับปรุงโครงสร้างเครื่องยนต์ให้ทันสมัยจุดไหนบ้าง เพื่อให้รถคันนี้กลับมาวิ่งเร็วได้อีกครั้ง แต่หากไม่เริ่มทำอะไรวันนี้ เครื่องยนต์เก่านี้อาจพังในไม่ช้า ทำให้รถเราค่อยๆ หยุดวิ่ง และปล่อยให้รถคันอื่นแซงหน้าไปคันแล้วคันเล่า

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ที่จะทำให้ "การเงินดีชีวิตดี" ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ภาวัต แสวงสัตย์

ภาวัต แสวงสัตย์
นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)